แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ลุ้นคดีรธน.13 ก.ค. ผู้ถูกร้องตั้งรับผล"ลบสุด"แล้ว
มั่นใจว่าจะเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยกันทั้งคู่ สำหรับผู้ร้องและผู้ถูกร้อง กับคำวินิจฉัยที่จะออกมาของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัยกลางในวันศุกร์ที่ 13 กรกฏาคมนี้เวลา 14.00 น.
ทั้งนี้การลงมติและการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตอนนี้เหลือองค์คณะฯรวมกันทั้งสิ้น 8 คนหลัง “จรัญ ภักดีธนากุล”ได้ขอถอนตัวจากองค์คณะฯไปแล้วเมื่อ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา
แม้ตุลาการฯจะมีด้วยกัน 8 เสียง ขณะที่การลงมติต้องใช้เสียงข้างมาก จึงออกมาเป็นเลขคู่ไม่ได้ ทำให้เกิดข้อเป็นห่วงเหมือนกันว่า หากการลงมติของตุลาการออกมาเป็น 4 ต่อ 4 จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นหรือไม่
ก็เหมือนกับที่ ”จรัญ ภักดีธนากุล”ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อ 5 ก.ค. 2555 หลังประกาศถอนตัวจากองค์คณะฯว่า การถอนตัวดังกล่าวส่งผลให้องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือเพียง 8 คน ยอมรับว่าอาจมีปัญหาในการลงมติ ด้วยจำนวนที่เป็นเลขคู่ เพราะหากตุลาการมีมติเท่ากัน 4 ต่อ 4 เสียงก็จะติดปัญหาหรือเข้าเดดล็อคได้ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดเรื่องนี้ในการลงมติของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีความพยายามในการแก้ปัญหาเอาไว้แล้วผ่านร่างกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายลูก แต่ก็ยังค้างอยู่ที่รัฐสภายังไม่แล้วเสร็จ
“หากมีมติเท่ากันจริงก็อยู่ที่การตัดสินใจตุลาการทั้ง 8 คน ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งวิธีการแก้ปัญหาน่าจะทำได้ เช่นอาจจะใช้วิธีการพูดคุยกันภายในก่อนการลงมติ แต่ไม่ใช่เป็นการมาตกลงกัน หรือตั้งธงล่วงหน้าร่วมกัน เพราะตุลาการแต่ละคนก็มีดุลยพินิจของตัวเอง ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าแต่ละคนจะลงมติไปในทางไหน ทุกอย่างอยู่ที่วันประชุม” นายจรัญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าว เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นกับการลงมติขององค์คณะฯ ในคำร้องนี้เช่นกัน เพราะหากสุดท้ายออกมาเช่นนั้นจริง ตุลาการทั้ง 8 คนก็จะต้องปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกต่อไป
เพราะก่อนหน้านั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เคยเปิดเผยว่าตุลาการศาลรธน.ชุดนี้ เคยวินิจฉัยคำร้องคดีหนึ่งแล้วปรากฏว่าองค์คณะฯเหลือเป็นเลขคู่ แล้วผลการลงมติก็ปรากฏว่าออกมาด้วยคะแนนเสียงเท่ากัน ทำให้องค์คณะฯต้องมาหารือกันอีกรอบ จนได้ข้อสรุปออกมาเป็นผลการลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก คำร้องนี้คดีแก้ไขรธน.ครั้งนี้ก็น่าจะไม่มีปัญหาเช่นเดียวกัน
สำหรับการลงมติและเขียนคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะอยู่ภายในกรอบ ที่ศาลวางไว้ 4 ประเด็นดังนี้
1.อำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง
2.ปัญหาเรื่องมาตรา 291 ว่าจะสามารถยกเลิกหรือแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่
3.มีปัญหาในเรื่องมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ว่าเป็นการล้มล้างหรือได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศหรือไม่
4.ผลของการกระทำดังกล่าวจะมีเหตุให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรคสี่หรือไม่
กรอบทั้ง 4 ข้อที่ศาลวางไว้ มีการวิเคราะห์กันว่า ในส่วนของข้อแรกคือ อำนาจฟ้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาจนมีการเปิดห้องพิจารณาคดีไต่สวนสิบกว่าชั่วโมงไปแล้ว แต่ศาลคงจะมีการอธิบายเหตุผลข้อกฎหมายต่างๆ อย่างเป็นทางการถึงการรับคำร้องคดีนี้เอาไว้พิจารณาหลังจากมีการแสดงความเห็นมากมายไม่จบสิ้นว่าการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องนี้ตรงมายังศาลรัฐธรรมนูญเลยโดยไม่ผ่านอัยการสูงสุด ศาลรับคำร้องไว้ไม่ได้
คำวินิจฉัยที่จะออกมาจึงน่าจะเป็นการอธิบายผ่านคำวินิจฉัยถึงอำนาจของผู้ร้องและการรับคำร้องของศาลรธน. อย่างเป็นทางการ อันจะเป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคตหากมีการใครมายื่นศาลรธน.ให้วินิจฉัยตามช่องทางมาตรา 68
จากนั้น ตุลาการจะพิจารณาในกรอบที่ 2 คือเรื่องการแก้ไขมาตรา 291 จะสามารถยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
ซึ่งประเด็นที่ 2 ถือว่าสำคัญที่สุดเพราะผลของคำวินิจฉัยถูกคาดการไว้ว่าหากออกมา”เป็นลบ ไม่เป็นคุณ”กับผู้ถูกร้อง ก็จะเป็น”สะพานเชื่อม”ไปถึงกรอบการพิจารณาในข้อที่ 3 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวางเอาไว้ คือการแก้ไขรธน.ครั้งนี้มีปัญหาในเรื่องมาตรา 68 วรรคหนึ่งหรือไม่ว่าเป็นการล้มล้างหรือได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศหรือไม่และในข้อที่ 4 ผลของการกระทำดังกล่าวจะมีเหตุให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมืองตามมาตรา 68 วรรคสามและวรรคสี่หรือไม่
บนการคาดการกันไว้ว่า หากสุดท้าย ศาลยกคำร้องในข้อที่ 2 คือ เห็นว่า การแก้ไข 291 สามารถยกเลิกหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้
ถ้าเป็นแบบนี้ ฝั่งผู้ถูกร้องก็หมดห่วง เพราะก็จะทำให้การพิจารณาไม่น่าจะไปถึงข้อที่ 3 และ 4 ได้
ซึ่งก็คือ”การยกคำร้อง”นั่นเอง แล้วกระบวนการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อลงมติรับร่างแก้ไขรธน.วาระ 3 ของรัฐสภาก็จะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมการเลือกสมาชิกสภาร่างรธน.77 คนจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศรวมถึงการสรรหาส.ส.ร.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คน
อย่างไรก็ตาม ฝั่งแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทยก็คาดการในทางลบเอาไว้ล่วงหน้าเช่นกัน หลังเห็นการเบิกความและการตอบคำถามของพยานฝั่งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง
เหตุเพราะการตอบข้อซักค้านของพยานฝั่งผู้ถูกร้องเอง บางคนก็ยังแจงไม่เคลียร์ถึงเหตุผล-ความจำเป็นในการแก้ไข 291 รวมถึงความรับผิดชอบของผู้เสนอร่างแก้ไขรธน.และความรับผิดชอบของรัฐสภาในการแก้ไขรธน. เพราะดูจะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้สภาร่างรธน.
จนมีการเปรียบเปรยจากพยานฝั่งผู้ร้องบางคนเช่น สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตคณะบดีนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ที่ว่าการแก้ไขรธน.ครั้งนี้เสมือนกับการ”เขียนเช็คเปล่า”ให้ส.ส.ร.ไปยกร่างรธน.ฉบับใหม่โดยไม่มีใครรู้ว่า ส.ส.ร.จะเติมหรือเขียนอะไรลงไปในเช็ค แล้วจะตรวจสอบและถามความรับผิดชอบจากใครหากส.ส.ร.ยกร่างรธน.ออกมาไม่ดี
รวมถึงการพยายามเบิกความของพยานฝั่งผู้ร้องบางคนซึ่งก็เป็นผู้ร้องเองด้วยอย่างเช่น พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม หรือวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ว่าการแก้ไขรธน.ครั้งนี้มีการทำเป็นขบวนการทางการเมืองเพื่อมุ่งหวังช่วยเหลือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ได้กลับประเทศไทยผ่านการเร่งออกกฎหมายปรองดองควบคู่กันไป เพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณพ้นผิดและได้รับเงินคืน 4.6 หมื่นล้านบาท พร้อมกับการยกพฤติการณ์ทางการเมืองของแกนนำนปช.ที่เป็นส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทยและแกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายอดิศร เพียงเกษ มาแสดงต่อศาลว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้รวมถึงนักเคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภาเช่น นายใจ อึ้งภากรณ์ –นายชูพงศ์ ถี่ถ้วน ซึ่งผู้ร้องอ้างว่าเป็นเครือข่ายกลุ่มเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย ต่างมีพฤติการณ์ที่แสดงออกหลายครั้งที่ดูแล้วน่าจะเป็นภัยร้ายแรงต่อระบอบการปกครองของประเทศ อันเข้ากับความผิดตามมาตรา 68
ขณะที่ฝั่งผู้ถูกร้องก็พยายาม เน้นย้ำว่า ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน ที่เลือกส.ส.ร.มาทำหน้าที่ยกร่างรธน. เพราะเมื่อประชาชนเลือกส.ส.ร.เข้ามายกร่างรธน.แล้วก็เท่ากับว่าเป็นรธน.ของประชาชน
รวมถึงย้ำข้อกฎหมายในการต่อสู้คดีว่าการแก้ไข 291 เพื่อให้มีส.ส.ร.สามารถทำได้ เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีข้อห้าม ก็เท่ากับย่อมเปิดช่องให้ทำได้ เหมือนกับที่ก่อนหน้านี้เคยมีการทำมาแล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 เพื่อแก้ไขรธน.ปี 2534 ให้มีส.ส.ร.ไปยกร่างรธน.จนได้รธน.ปี 2540
อีกทั้งก็ยังมีขั้นตอนการทำประชามติที่จะเป็นการช่วยกลั่นกรองที่สำคัญอีกครั้งว่าประชาชนเห็นอย่างไรกับรธน.ที่ยกร่างขึ้นมา หากประชาชนไม่เห็นด้วย เห็นว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี รธน.ก็ไม่ผ่านการทำประชามติ
รวมถึงการยืนยันจาก สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ที่เข้าเบิกความว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องว่าจะมีการไปยกร่างหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรธน.ในหมวดสำคัญอย่าง หมวด 2 ที่เป็นบทบัญญัติเรื่อง พระมหากษัตริย์ รวมถึงบทบัญญัติเรื่องพระราชอำนาจ เพราะสุดท้ายเมื่อส.ส.ร.ยกร่างมาเสร็จ ก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งที่จะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ โดยเฉพาะนิติศาสตร์มาช่วยพิจารณากลั่นกรองอีกครั้งอย่างละเอียดก่อนจะส่งให้มีการทำประชามติ
โดยประธานรัฐสภาให้คำยืนยันต่อหน้าศาลรธน.แล้วว่า หากมีการไปแตะต้องเรื่องพระราชอำนาจในส่วนอื่น ๆที่ไม่ได้อยู่ในหมวด 2 เช่นพระราชอำนาจเรื่องการอภัยโทษ-พระราชอำนาจเรื่องการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญหรือพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมาย ก็ถือว่าเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ คงไม่ปล่อยให้ผ่านเลยไปได้
ก็ต้องรอดูกันแล้วว่า ในวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.หลังองค์คณะตุลาการศาลรธน.เมื่อรับฟังข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย จากทั้งสองฝั่งแล้ว จะมีความเห็นในการวินิจฉัยคดีออกมาอย่างไร ส่วนนี้ต้องคอยติดตามผ่าน”คำวินิจฉัยกลาง”ขณะที่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรธน.แต่ละคน คาดว่าคงใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะออกมา
ซึ่งเชื่อว่าศาลรธน.เองก็คงต้องเขียนคำวินิจฉัยออกมาให้เคลียร์มากที่สุด แจงที่มาที่ไปทั้งข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย-การวิเคราะห์พฤติการณ์ของฝั่งผู้ถูกร้องที่เสนอแก้ไขรธน. รวมถึงเหตุผลที่นำมาสู่มติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจนกระจ่างชัดไม่ว่าจะวินิจฉัยออกมาทางไหน เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับมากที่สุด เนื่องจากเป็นคดีสำคัญ ทุกฝ่ายจับตามอง และคำวินิจฉัยคำร้องนี้ จะถือเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญต่อไปในอนาคต
โดยเฉพาะหากผลคำวินิจฉัยไปถึงขั้น ขัดรธน.มาตรา 68 และไปถึงการยุบพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขรธน.จริง จะถือเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมืองอย่างมาก จะเกิดผลสะเทือนทางการเมืองสูง
เพราะหากศาลรธน.ชี้ว่าคณะรัฐมนตรี-พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนารวมถึง นายสมศักดิ์ ประธานรัฐสภา มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองหรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68 จริง ถือเป็นเรื่องสาหัสทางการเมืองเลยทีเดียว จะกลายเป็นชนักติดหลังทางการเมือง ที่รุนแรง
อีกทั้งส.ส.สองพรรคที่เสนอแก้ไขรธน.คือเพื่อไทยและชาติไทยพัฒนา ล้วนเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล หากถึงขั้นต้องยุบพรรคเพื่อไทยจริง ก็จะเป็นการยุบพรรคครั้งที่ 3 ติดต่อกันจากไทยรักไทยมาพรรคพลังประชาชน
เช่นเดียวกับชาติไทยพัฒนาที่ก็เคยโดนตุลาการศาลรธน.ชุดนี้ยุบมาแล้วตอนเป็นพรรคชาติไทย
หากออกมาแบบนี้ แรงต่อต้าน –การไม่เห็นด้วยต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะรุนแรงมาก และอาจบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองรอบใหม่
แม้หลายคนยังไม่เชื่อว่าจะไปถึงขั้นนั้น ทั้งนักการเมือง-นักกฎหมาย หรือแม้แต่ผู้ร้องก็เถอะ ก็เชื่อว่าผู้ร้องบางคนก็ยังมองว่าไม่น่าจะไปถึงขั้นยุบพรรคได้
แต่หากจะเกิดถึงขั้นว่าศาลเห็นว่าทำผิดมาตรา 68 จริง แล้วนำไปสู่การยุบพรรค คำวินิจฉัยของศาลรธน.จะต้องตอบทุกข้อสงสัยและทุกแรงต้านได้เพื่อลดทานกระแสต่อต้านไม่เห็นด้วยให้ลดน้อยลงบ้างแม้อาจไม่มากก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ท่าทีของฝ่ายแกนนำรัฐบาลและแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงทีมสู้คดีของฝั่งผู้ถูกร้อง ก็ยังวิเคราะห์ไว้ว่า ให้ลบสุด ก็คงแค่ว่า ศาลเห็นว่าการแก้ไข 291 เพื่อให้มีการยกร่างรธน.ฉบับใหม่ทำไม่ได้ ต้องแก้ไขรายมาตรา เท่านั้น ส่วนใหญ่ยังมั่นใจว่าไม่ถึงขั้น ขัดมาตรา 68 มีพฤติการณ์ล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง
กระนั้น แกนนำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลายคน เช่นร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกไว้ล่วงหน้าแล้วว่า หากสุดท้าย ศาลรธน.มีคำวินิจฉัยแบบออกมาเป็นลบกับฝั่งผู้ถูกร้องถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยจริง
คำวินิจฉัยยุบพรรคก็จะไม่มีผลกระทบใดๆกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนเสียงส.ส.ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลยังเพียงพอต่อการเป็นรัฐบาลต่อไปและนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
ส่วนหากจะมีการดำเนินการใดๆ กับคณะรัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี ที่ร่วมกันออกมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ก็ยังเป็นเรื่องที่ยังใช้เวลาอีกยาวนานในการถอดถอน รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังเดินไปได้อยู่ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไปก็แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป
การเมืองนับจากนี้จนถึงหลังวันที่ศาลรธน.สิ้นสุดการอ่านคำวินิจฉัยในคดีแก้ไขรธน.จึงคาดเดาได้ยากยิ่งว่าจะออกมาแบบไหน