แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เสียงเรียก“ยิ่งลักษณ์”กลับสภาฯ อย่าทำตัวเหมือน“ประธานาธิบดี”
บทบาทนายกรัฐมนตรี “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต่อท่าทีการปรองดอง และ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ยังเป็นข้อกังขาของทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการกำหนดวาระการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านร่างพ.ร.บ.ปรองดอง แต่ก็กำหนดจังหวะก้าวอยู่ตลอดเวลา
จังหวะก้าวเหล่านั้น รอเพียงการแสดงท่าทีที่ชัดเจนจากนายกรัฐมนตรีต่อปัญหาเหล่านี้
เพราะนับตั้งแต่มีการนำร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จนเกิดเหตุชุลมุนระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวในวันที่ 30 พฤษภาคมในสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้กำหนดท่าทีต่อรัฐสภา
เหตุการณ์วันนั้นนายกรัฐมนตรีงดให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทย !
ไม่เพียงแต่คำพูดของนายกฯยิ่งลักษณ์ ที่มักกล่าวอ้างเพื่อลอยตัวเหนือปัญหาความขัดแย้ง เช่น ยกเหตุว่า อยู่ฝ่ายบริหาร ไม่เกี่ยวกับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเรื่องสภาที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปรองดอง และรธน. รัฐบาลไม่เกี่ยวทั้งที่ความจริงแล้ว นายกฯยิ่งลักษณ์ถึงแม้จะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเพี่อไทยอย่างเป็นทางการ แต่เธอก็เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยโดยตรง เพราะเป็นผู้ที่ แกนนำพรรค ได้เลือกมาเป็นผู้นำในการหาเสียงและชูเป็นนายกฯ อีกทั้ง สส.พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ยังไม่นับความเป็นน้องสาวที่รัก ของพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์หลายครั้งเขาส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเป็นนายกฯ ส่วนพรรคเพื่อไทย เป็นนโยบายมาจากที่เขาคิด จากสโลแกน “ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ”
นายกฯยิ่งลักษณ์จึงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบกับพรรคเพื่อไทยได้ โดยเฉพาะนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยขับเคลื่อน ไม่ว่า การผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดอง และ การจัดทำรธน.ฉบับใหม่
ยิ่งเมื่อย้อนไปดูคำพูด ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนล่าสุด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบูมเบิร์กของสหรัฐฯ ว่า “ดิฉันสนับสนุนพรรคเพื่อไทยในการผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดองอย่างเต็มที่ และไม่ได้ทำเพื่อตนเองหรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ในการลบล้างความผิด แต่เป็นการทำเพื่อประชาชนทุกคน”
แต่หลังจากนั้น 1 วัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กลับกล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" วันที่ 2 มิถุนายน ว่า
“ยังไม่เห็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 4 ฉบับที่นำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา แต่ทุกเนื้อหาต้องการทำให้เกิดความสงบสุข ซึ่งต้องไปพูดรายละเอียดในสภาเพื่อหาข้อสรุป หากไม่เริ่มต้นตอนนี้ก็จะไม่มีจุดเริ่มต้นในการพูดคุย โดยยืนยันว่า เรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวกับการเอาเงินคืนให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างแน่นอน เพราะมีการลงมติจากคณะกรรมการทั้ง 35 คณะไปแล้วว่า ร่างพระราชบัญญัติปรองดองฉบับนี้ ไม่เกี่ยวกับการเงิน”
คำพูดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ดังกล่าวขัดแย้งในตัว เพราะเมื่ออ้างว่า ยังไม่ได้ศึกษาร่างพ.ร.บ.ปรองดองที่กำลังร้อนในสภาขณะนั้น แต่กลับยืนยันว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ไม่มีเนื้อหาเรื่องการคืนให้พ.ต.ท.ทักษิณ….
“รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งคำถามถึงบทบาทของนายกรัฐมนตรีว่า ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังสับสนว่า จะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีหรือเป็นน้องสาวที่ดีของ พ.ต.ท.ทักษิณกันแน่ โดยเฉพาะท่าทีการปฏิเสธความรับผิดชอบ ด้วยการแสดงออกว่า ไม่รู้ไม่เห็นกับการผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทย
“นายกฯ ไม่ควรทำตัวหลุดออกจากสภานิติบัญญัติ เพราะนายกฯ มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรงเหมือนกับระบอบประธานาธิบดี นายกฯ ควรแสดงการมีส่วนร่วมกับรัฐสภาในการพิจารณาปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง แต่ตอนนี้นายกฯ กำลังทำตัวกึ่งๆ ประธานาธิบดีสหรัฐและประธานาธิบดีที่มีหน้าที่เดินสายเปิดงานเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีหน้าที่บริหารประเทศตามระบบรัฐสภาอย่างแท้จริง”
นักรัฐศาสตร์ผู้นี้ ยังกล่าวอีกว่า การที่นายกฯ ปฏิเสธว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกฯ แต่ผลักภาระการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาร่างกฎหมายที่สร้างปัญหาต่อสังคมให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายเดียว ถือเป็นการสร้างความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อนายกรัฐมนตรี
“เมื่อเกิดเรื่องราวในรัฐสภานายกฯ ควรแสดงภาวะผู้นำ ไม่ใช่บ่ายเบี่ยงการตอบปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองและโยนเรื่องให้รัฐสภาตัดสินปัญหากันเอง แล้วแสดงท่าทีที่ต้องการบริหารแผ่นดินอย่างเดียว การบอกว่า ต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับสภา ถือเป็นการพยายามทำเหมือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ต้องการแบ่งแยกอำนาจบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้านายกฯ ยังคงบทบาทอย่างนี้ต่อไปอีกไม่นานก็จะเกิดปัญหาใหญ่โตและอาจเกิดการเผชิญหน้าขึ้นอีก เพราะปัญหาในรัฐสภาไม่ถูกแก้ไข” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว
เขายังกล่าวว่า ก่อนจะสายเกินไป น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรกำหนดท่าที่ที่ชัดเจนออกมา หากยังคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติควรพูดจากับ ส.ส.ภายในพรรค แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่ใช่หัวหน้าพรรค แต่ด้วยความเป็นนายกรัฐมนตรีก็ย่อมทำให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเกิดความเกรงใจและไม่ควรใช้เสียงข้างมากในการผลักดันร่างกฎหมายปรองดองให้ผ่านไปโดยที่ยังเกิดความขัดแย้ง
“ตอนนี้คุณยิ่งลักษณ์ถูกวางตัวไม่ให้เป็นหัวหน้าพรรค อาจมองว่า ปลอดภัยอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นในบ้านเมือง คุณยิ่งลักษณ์ควรแสดงภาวะผู้นำและไม่ควรปล่อยให้รัฐสภาถูกลอยแพ เพราะตอนนี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรกลายเป็นเป้าแต่เพียงผู้เดียว อีกทั้งคุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะที่ถูกเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสภา อย่าทำตัวซื่อตาใสแล้วบอกว่า ไม่รู้เรื่อง” นักรัฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่า บทบาทของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ผ่านมายังสร้างความสับสนให้แก่สังคมอีก โดยในช่วงที่มีการผลักดันให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาตรา 291 นายกรัฐมนตรีก็บอกว่า ไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อพี่ชาย ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประกาศผ่านวิดีโอลิงก์ว่า มีความพยายามเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อรอวันกลับบ้าน แต่นายกฯ กลับบอกว่า ไม่รู้เรื่อง ทั้งๆ ที่นายกฯ พยายามทำทุกอย่างเพื่อปลดล็อกให้กับพี่ชาย
“หากคุณยิ่งลักษณ์ไม่อยากเห็นประเทศชาติเกิดปัญหาซ้ำอีก ควรแสดงภาวะผู้นำที่อยู่เหนือพี่ชายด้วยการประกาศชลอสิ่งที่เป็นชนวนความขัดแย้ง ทั้งการออกกฎหมายปรองดองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว เพื่อให้ปัญหาคลายตัวและใช้อำนาจที่มีอยู่ในฐานะด้วยการประกาศห้าม ส.ส.ในพรรคไม่ให้เคลื่อนไหวผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หากมีการเร่งชนวนเหล่านี้ก็จะประกาศยุบสภา หากคุณยิ่งลักษณ์ใช้อำนาจเช่นนี้ ส.ส.ก็จะเกิดความเกรงใจและลดการเคลื่อนไหว นายกฯ จะต้องเป็นนายกฯ ของประชาชน ไม่ใช่น้องสาวของคุณทักษิณที่รักพี่ชายมากกว่าประชาชน หากนายกฯ ไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาสังคมก็จะเกิดความขัดแย้งซ้ำอีกและเพิ่มปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น” รศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว
ขณะที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อย่าง “นิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ” ส.ส.พัทลุง บอกเช่นเดียวกันว่า เข้าใจว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชนต้องแสดงบทบาทของการเป็นนายกรัฐมนตรีและคนเขียนสคริปต้องปรับสคริปตามบทบาทหน้าที่ของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกฯ ทำงานการเมืองและทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภา
“คนเป็นนายกฯ ไม่สามารถปฏิเสธการทำหน้าที่ในรัฐสภาได้ ต้องเข้ามาคลุกคลีเพื่อให้รู้ปัญหาของสภา ซึ่งทุกคนเข้าใจนายกฯว่า กำลังพยายามทำงานและแก้ไขปัญหา ทั้งปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาด้านอื่นๆ ที่คนไม่ได้เตรียมตัวเป็นนายกฯ อาจจะรับศึกหนักกว่าคนที่เคยเป็น ส.ส. ดังนั้นเรื่องนี้ฝ่ายเสนาธิการต้องเตรียมข้อมูลและเตรียมให้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาต่อนายกรัฐมนตรีแล้วให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ไขปัญหาที่ขัดแย้งในรัฐสภา เพราะหากนายกฯ ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนก็จะทำให้ปัญหาเกิดการบานปลาย แต่ตอนนี้นายกฯ ถูกกำหนดให้เล่นเป็นเพียงตัวเชิด ไม่มีบทบาทอย่างแท้จริงในสภา” ส.ส.พัทลุง กล่าว
เขากล่าวอีกว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสภา ด้วยการเลี่ยงไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาในระยะยาวจะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะรัฐบาลบริหารประเทศมาหนึ่งปี แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่เคยแก้ไขปัญหาในสภาจึงทำให้เกิดการสะสมของปัญหาจนเกิดการประทุขึ้น
“ปัญหานี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้คุณยิ่งลักษณ์ต้องแสดงศักยภาพ แสดงบารมีของคนที่เป็นนายกฯ ออกมา ด้วยการบอกว่า หากผลักดันร่างพ.ร.บ.ปรองดองต่อไปแล้วเกิดความขัดแย้งรอบใหม่ ในฐานะที่เป็นนายกฯ จะรับผิดชอบอย่างไร รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญถ้าทำให้เกิดการบาดหมางของคนในชาติคนที่เป็นนายกฯ จะทำอะไร แต่ตอนนี้นายกฯ ไม่มีท่าทีต่อเรื่องทั้งสอง ผมเห็นว่า ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป ก็จะเกิดการสะสมของปัญหาและจะทำให้สังคมไทยมองไม่เห็นปลายทางของความขัดแย้ง แต่ตอนนี้รู้เรื่องของปัญหาดี แต่ลอยตัว” ส.ส.พัทลุง กล่าว
นิพิฎฐ์ ยังกล่าวอีกว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์หาเสียงอาจต้องการคนกลางๆ ที่ไม่ได้ชื่นชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ จึงประกาศว่า จะไม่มีการผลักดันกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมหรือปลดล็อกความผิดของพี่ชาย เพื่อให้ได้เสียงจากคนกลางๆ
ขณะที่ รศ.ดร.ตระกูล มีชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้ถูกวางตัวให้เล่นบทบาทการแก้ไขปัญหาในสภาจึงเป็นไปได้ยากที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะมีความเชี่ยวชาญทางการเมืองยังไม่ถึงขั้น หากพูดอะไรอาจเกิดการผูกมัดทางการเมืองและอาจคุมเกมการเมืองไม่ได้
“การไม่ตอบปัญหาทางการเมืองจึงเป็นแนวทางที่นายกฯ ทำในตอนนี้ ระยะสั้นอาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ โดยเฉพาะเดือนสิงหาคมที่พรรคฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาล อาจพุ่งเป้าการอภิปรายไปที่นายกรัฐมนตรีเรื่องการไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ถือเป็นจุดอ่อนของนายกฯ ดังนั้นตอนนี้นายกฯ จึงพยายามเดินสายประชุมครม.ในพื้นที่เพื่อสร้างความเห็นใจจากประชาชนว่า ลงพื้นที่และรับฟังปัญหาจากประชาชน โดยไม่ต้องดูผลงานว่า ทำสำเร็จหรือไม่ การทำเช่นนี้เพราะหากมีการอภิปรายในสภาขึ้นนายกฯ อาจแก้เกมในสภาไม่ทัน เนื่องจากคนที่คอยปกป้องในสภาอย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ถูกเพิกถอนการเป็น ส.ส.แล้ว ก็จะไม่มีคนคอยสกัดให้ จึงเป็นไปได้สูงที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลจะอยู่ในขั้นง่อนแง่น” นักรัฐศาสตร์ คนนี้กล่าว
ทั้งนี้เขายังกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลต้องการแก้ภาพลักษณ์ควรทำด้วยการปรับครม.เศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น
“หากได้ผู้ชำนาญการจากนักการเมืองในบ้านเลขที่ 111 ที่สามารถกลับสู่วงการเมืองและคนให้การยอมรับก็จะช่วยแก้ภาพลักษณ์และสร้างความมั่นใจให้นายกฯ ได้มาก เพราะตอนนี้ผมมองว่า คุณยิ่งลักษณ์ไม่มีความมั่นใจในการบริหารประเทศ ยิ่งเกิดความขัดแย้งในสภาในเรื่องเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.ปรองดองแล้วก็ยิ่งทำให้คุณยิ่งลักษณ์ไปไม่เป็น แก้ไขปัญหาไม่ถูก จึงทำให้การเมืองถูกแช่เย็นและสังคมก็จะหาคำตอบจากนายกฯ ไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้จะร้อนระอุขึ้นในเดือนสิงหาคม ฝ่ายค้านอาจหยิบยกเรื่องการขอใช้อู่ตะเภาและเรื่องที่เป็นจุดเปราะบางของนายกฯ มาอภิปราย เพื่อให้มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน” เขากล่าว