แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
"ทุจริตเชิงนโยบาย" เชื้อที่ไม่มีวันตาย หรือกำลังกลายพันธุ์ ?
ระยะเวลาที่ผ่านมา กระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ดูจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นพิเศษ โดยล่าสุด คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หน่วยงานสำคัญในการป้องกันและปราบปราม เร่งเครื่องเดินหน้าทำงานเชิงรุก ออกมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย เน้นจับตาการใช้กฎหมายและนโยบายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อพวกพ้องและส่วนตัว
ป.ป.ช.ให้คำนิยาม "ทุจริตเชิงนโยบาย" ว่า เป็นการทุจริตที่เกิดจากผู้กำหนดนโยบายสาธารณะ นั่นก็คือ คณะรัฐมนตรี
อย่างที่บอก การทุจริตเชิงนโยบายเป็นการกระทำที่เหมือนจะถูกกฎหมาย แต่ผิดหลักประโยชน์สาธารณะ เช่น ตัดถนนเข้าไป แต่ก็เพื่อให้โครงการของตนได้รับประโยชน์ทั้งหมด แล้วยึดที่ดินของหลวงโดยการเวนคืน ซึ่งมีจุดใหญ่คือประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก ขณะที่ประชาชนตาดำๆ เห็นว่า มีความเจริญ แต่มองไม่เห็นมีโครงการของนักการเมืองปะปนอยู่ตามรายทางไปหมด
นอกจากนี้ ผลจากการเอาโครงการลงไปในพื้นที่เลือกตั้งนั้น ยังทำให้คนเหล่านั้นได้รับการเลือกตั้งแบบถาวร เป็นมรดกตกทอดคนในตระกูลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด !
ที่มาของการทุจริตเชิงนโยบาย ในมุมมอง ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. บอกว่า มาจากความร่วมมือของ 3 ขาสำคัญ อันได้แก่ 1.นักการเมือง 2. นักธุรกิจหรือธุรกิจการเมือง และ 3.ข้าราชการ
"คนไทย มองว่าอยากให้นักการเมืองเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งนานๆ เพราะจะได้พึ่งพาอาศัยกัน จนเป็นที่มาของระบบอุปถัมภ์ในที่สุด และยิ่งทำให้การทุจริตเชิงนโยบายเข้ามาได้อย่างฉลุย เนื่องจากมีเชื้ออยู่แล้ว ดังที่ว่า “เชื้อชั่วไม่มีวันตาย”"
ลักษณะของสังคมเช่นนี้ จำเป็นต้องเข้าไปแก้ที่ระบบอุปถัมภ์ ต้องแก้แบบถอนรากถอนโคน ! เพราะเป็นต้นตอของการทุจริตขนาดมหึมา และอาจจะทำให้ประเทศไปไม่รอด
ศ.(พิเศษ) วิชา เสนอวิธีดำเนินการแก้ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย ที่จะแก้ในระดับปกติธรรมดา จิ๊บจ๊อย แบบปลูกฝัง การทำหน้าที่ให้โปร่งใส...ไม่ได้อีกแล้ว
ส่วนต้นเหตุที่ไทยตกมาตรฐานวัดการคอร์รัปชั่น วัดกี่ปีกี่ปี ก็มีค่าดัชนีอยู่ที่ 3.4-3.5 มาโดยตลอด หรือจะไต่อันดับขึ้นไปแต่ก็ยังไม่ถึงครึ่งสักทีนั้น กรรมการ ป.ป.ช. มองว่า ก็เพราะเรายังคิดเรื่องคอร์รัปชั่นไปไม่ไกลเกินว่าการให้สินบน ในขณะที่ต่างชาติ หมายรวมถึง การเข้ารับตำแหน่งแล้วไม่ปฏิบัติตาม ทั้งที่เป็นคนที่ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจแต่กลับกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการโดยการรับหรือยอมรับประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
หรือเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นหลักและทำลายประโยชน์ส่วนรวม เขาก็ถือว่า คือ การคอร์รัปชั่น แล้ว
ออก 3 มาตรการเข้ม หัก 3 ขา
เมื่อการทุจริตรูปแบบนี้ กำลังขยายวงกว้าง หน้าที่หลักของ ป.ป.ช. ที่นอกจากที่จะปราบปรามแล้ว การป้องกันก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน และด้วยความที่มีความซับซ้อน ป.ป.ช. ใช้เวลาถึง 2 ปีเศษ จึงจะได้ข้อยุติออกมา เป็นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย 3 มาตรการ ได้แก่
1.กลุ่มมาตรการป้องกันและควบคุมกลุ่มทุนธุรกิจ ข้าราชการไม่ให้ร่วมมือกับนักการเมืองทุจริตการเลือกตั้ง โดยใช้มาตรการการลงโทษทางการเมืองและทางแพ่ง แก่บุคคลที่เป็นตัวการ
2.กลุ่มมาตรการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ในการบริหาร ราชการแผ่นดินขัดกับหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี มุ่งปรับปรุงประมวลจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี
และ 3.กลุ่มมาตรการป้องกันผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ให้ใช้อำนาจรัฐและอำนาจทางการ เมืองเข้าไปแทรกแซงและครอบงำการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายราชการประจำ ฝ่ายนิติบัญญัติ และองค์กรตรวจสอบทางการเมือง
ทั้งหมดนี้ ป.ป.ช.ได้จัดทำเป็นมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง จำนวน 7 องค์กร ได้แก่ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ทุจริตเชิงนโยบาย เป็นเชื้อร้ายกลายพันธุ์
"ทุจริตเชิงนโยบาย หรือการกำหนดนโยบายเพื่อคอร์รัปชั่น แม้จะมีมานานแล้ว แต่จับไม่ยากเท่าปัจจุบันนี้ที่ใช้อำนาจสูงสุดของรัฐ ที่ใช้นโยบายรัฐบาล อ้างว่าทำเพื่อบริหารประเทศ ทั้งที่การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะเลย แถมยังก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพรรคพวกพ้อง มีทั้งใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อออกกฎหมาย พระราชบัญญัติ และพระราชกำหนดที่ไม่เป็นไปตามประโยชน์สาธารณะตามที่กล่าวอ้าง" นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. ให้ข้อมูล
พร้อมยอมรับ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายเป็นสิ่งที่จับยากที่สุด ที่มาที่ทำให้องค์กรอิสระและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเบนเป้ามาศึกษาคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมากขึ้น
ขณะที่นายประสาท พงษ์ศิวาลัย กรรมการ ป.ป.ช. อีกท่าน เปรียบการทุจริตรูปแบบนี้ เหมือนหนังที่ต้องดูให้จบม้วน เพราะมีความแยบยล โดยการนำนโยบายที่ตนเองมีอำนาจไปใช้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าข่าย ก็คือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายสาธารณะ และใช้อำนาจในการดำเนินการในการออกกฎหมาย ออกระเบียบ มติ ครม. หรือเข้าไปแทรกแซงก้าวก่ายองค์กรอิสระ และสุดท้ายได้ประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง
ส่วนนพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสังคม ยกการทุจริตเชิงนโยบาย เป็นเชื้อร้ายที่กลายพันธุ์ของการทุจริต จับให้มั่นคั้นให้ตาย เพ่งดูไม่เห็นทั้งหมด ยิ่งหากเชื่อมโยงกันไม่ได้ก็ไม่สามารถจับได้ ฉะนั้นจำเป็นที่เราต้องเข้าใจบริบททีต้องใช้มาตรการ ใช้ยาที่ต่างกัน และจะใช้แบบทั่วไปไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดทุจริตแบบนี้แล้วก็จะมีทุจริตแบบอื่นขึ้นขบวนรถไฟตามมาอีกมากมาย
"การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการทุจริตที่กระทำโดยใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลและรัฐมนตรีเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว การทุจริตเชิงนโยบาย เป็นการใช้อำนาจทางบริหารที่เป็นไปตามกำหนดของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐมนตรีคนหนึ่งมีบทบาท คือ เป็นผู้บริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญและเป็นผู้บริหารจัดการปกครองตามอำนาจ ตาม พ.ร.บ. การทุจริตคือการใช้อำนาจแบบแรก มีฐานในการที่ใช้อำนาจในการทุจริต 3 ฐานพิเศษ คือ 1.การออกมติ ครม. 2.การเสนอและออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ และ3.ข้อตกลงและทิศทางระหว่างประเทศ" นพ.พลเดช อธิบาย
เขายังชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนที่ต้องจับตามากเป็นพิเศษ คือ ขั้นตอนการออกกฎหมาย ในช่วงการพัฒนานโยบาย หลังหาเสียง เพราะจะเป็นการพัฒนาในรายละเอียด เช่น 30บาทรักษาทุกโรค ที่จำเป็นต้องใช้ความรู้จากนักวิชาการ วิชาชีพและออกแบบรายละเอียด จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนของการตัดสินนโยบาย ใน ครม.
สุดท้ายคือการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ...
ทางออกสังคมการเมืองไทย พ้นภัยทุจริต
ในฐานะผู้ที่เคยต้องคดีความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข "พระรักเกียรติ รักขิตะธัมโม" ถอดบทเรียนของการใช้ชีวิตของนักการเมืองนั้นเต็มไปด้วยความประมาท วงจรอุปถัมภ์ การเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง การปฏิวัติเพื่อเข้าสู่อำนาจ และนำอำนาจใช้ไปสู่ผลประโยชน์
ฉะนั้น การเข้าสู่วงการเมืองไทยจึงเปรียบกับการเข้าสู่การทุจริต ที่ประกอบไปด้วยบุคคล 3 ฝ่าย คือ พ่อค้าที่เป็นฝ่ายเสนอ นักการเมืองเป็นฝ่ายสนอง และข้าราชการเป็นผู้ดำเนินการ
"การทุจริตไม่ได้มีแค่ระดับชาติ แต่ลงลึกไปยังท้องถิ่น ที่มีการกระจายทั้งอำนาจและเงินงบประมาณลงไป ดังจะเห็นได้ชัดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นรุนแรงกว่าระดับชาติ และต้องเสียงบประมาณไปกับการทุจริตปีละหลายแสนล้านบาท"
เช่นนี้แล้ว การจะปราบปรามทุจริต อันเป็นทางออกของของสังคมไทย พระรักเกียรติ รัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ต้องโทษจำคุก เสนอว่า ต้องขจัดทั้งวงจร
ประการแรก ต้องเสริมสร้างองค์กรอิสระให้มีกำลังอำนาจ เป็น 'ยักษ์' ที่มีกระบอง หากอำนาจไม่พอต้องให้อำนาจ หากเงินไม่พอต้องให้เงิน และหากคนไม่พอต้องให้คน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเพียงเสือกระดาษ ดังเช่นที่ ป.ป.ช. ถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลที่มีอำนาจเด็ดขาด มีเสียงข้างมาก ใช้เผด็จการรัฐสภา และทำให้หลายคดีสำคัญๆ หลุด ขาดอายุความและยกฟ้อง”
ประการที่สอง ต้องปฏิรูปประเทศ เพื่อปราบปรามการทุจริต ที่ผ่านมาบ้านเมืองทรุดโทรมมาก จะถอยไม่ได้แล้ว ป.ป.ช.จะต้องมีอำนาจทั้งป้องกัน ปราบปราม ตรวจสอบค้นหาการทุจริต และสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาค เพื่อติดตามการจัดการเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอิสระ อำนาจ คนและมีเงินในการทำงาน ไม่ใช่เลือกตั้ง 500 เขต แต่ให้ใบเหลืองได้แค่ 2 ใบ ทั้งที่มีการโกงมากกว่านั้น จนกลายเป็นการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นการทุจริตเพื่อถอนทุนคืน
ประการที่สาม ภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง และร่วมมือกับ ป.ป.ช. สร้างจิตสำนึกในการป้องกัน ปราบปราม รวมทั้งสร้างระบบ One stop Corruption ให้การรวมอำนาจและผลประโยชน์ทำได้ยากขึ้น