แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สรุปโมเดล สสร. 99 คน ยกร่าง รธน. 240 วัน ห้ามแก้หมวดกษัตริย์
กระบวนการที่จะนำไปสู่ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มีความคืบหน้าไปอีกขั้นตอนหนึ่ง เมื่อรัฐบาลสามารถผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 มาตราสำคัญที่เป็นกุญแจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบวาระ 2 จากที่ประชุมรัฐสภาสำเร็จเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังมีการอภิปรายแก้ไขตามร่างที่คณะกรรมาธิการวิสามัญนำเสนอเข้าสภาชนิดมาราธอนถึง 15 วัน ก่อนจะนัดลงมติในวาระ 3 ขั้นตอนสุดท้ายในวันที่ 5 มิ.ย.
การลงมติในวาระ 3 ไม่สามารถแก้ไขเนื้อหาใดๆ ที่ผ่านวาระ2 มาแล้ว เพราะเป็นการให้ความเห็นชอบทั้งฉบับโดยมีการขานชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งค่อนข้างแน่ชัดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ครั้งนี้ จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้ไม่ยาก เนื่องจากพรรคเพื่อไทยสามารถคุมเสียงส่วนใหญ่ทั้งสองสภา เมื่อกระบวนทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์จากนั้นจะนับหนึ่ง สู่กำเนิดสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการเพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่คาดว่า จะเสร็จสิ้นในปี 2556
เมื่อย้อนดูการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย สส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน ตามด้วยการพิจารณาในวาระสองที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอร่างแก้ไขเข้าสู่สภาพบว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนไปจากร่างเดิมของครม.เพียงเล็กน้อย
ในชั้นกรรมาธิการ ที่มีการเพิ่มเติมและแก้ไขมี 3 ประเด็นสำคัญ คือ ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น มาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง สสร. โดยอนุโลม จากเดิมร่างของครม. กำหนดให้ เป็นไปตามระเบียบที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด อีกเรื่อง คือ แก้ระยะเวลาการจัดทำรัฐธรรมนูญ จากเดิมอยู่ที่ 180 วัน ขยายเพิ่มเป็น 240 วัน
ขณะเดียวกัน มีการเพิ่มเนื้อหาเพื่อยืนยันว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะไม่กระทบกับสถาบันกษัตริย์แน่นอน โดยกรรมาธิการฯ ได้เพิ่มถ้อยคำให้รัดกุมและปิดช่องทุกจุด จากเดิมที่กำหนดว่า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ” ได้ใส่ข้อความต่อท้ายเพิ่มเติมว่า “หรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้” เพื่อแก้เกมไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาได้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะกระทบกับสถาบัน ในกระแสที่มีการปลุกแก้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้มข้นอยู่
ส่วนการพิจารณาในวาระ 2 ประเด็นหลักที่มีการแก้ไข คือ กฎหมายที่จะใช้ในการเลือกตั้งสสร. จากเดิมที่แก้มาแล้วรอบหนึ่งในชั้นกรรมาธิการว่า ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น มาบังคับใช้ในการเลือกตั้ง สสร. โดยอนุโลม สุดท้ายเปลี่ยนมาเป็น ให้ใช้กฎหมายเลือกตั้ง สส.และ การที่ได้มาซึ่ง สว.มาใช้แทน
สรุปสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 291 ทั้งหมดที่ผ่านวาระสอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตามร่างเดิมที่รัฐบาลเสนอเข้าสภา มีดังนี้
โครงสร้าง สสร.
-สภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 99 คน มีหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประกอบด้วย สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจังหวัดละ 1คน รวม 77 คน สสร. ซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมรัฐสภา 22 คน แยกเป็น
ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 6 คน
ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน
ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ กฎหมาย หรือ การร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศจำนวน 10 คน
สำหรับคุณสมบัติ ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีชื่ออยู่ในทะเบียบบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี ถึงวันรับสมัคร หรือ เคยรับราชการ หรือ ศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่รับสมัครเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
ระยะเวลาคัดเลือก
- ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้ง สสร. ให้เสร็จภายใน 75 วัน นับแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง เป็น สสร. มีผลบังคับใช้ โดยหลังจากรัฐสภา มีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มีการตราพรฎ.กำหนดวันรับสมัคร สสร. ภายใน15 วัน ส่วนกำหนดระยะเวลาสมัครไม่เกิน 20 วัน
-ให้สภาของสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาคเศรษฐกิจสังคม และองค์กรภาคเอกชน แต่ละแห่งคัดเลือกบุคคลที่จะเป็น สสร. ในประเภทต่างๆ ประเภทละไม่เกินสองคน ส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้ง สสร.
องค์กรภาคเศรษฐกิจสังคม และองค์กรภาคเอกชน ให้เป็นไปตามที่ประธานรัฐสภากำหนด
ทั้งนี้ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 15 คน ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็น สสร. ในกลุ่มขององค์กรภาคเศรษฐกิจสังคม และ องค์กรภาคเอกชนให้แล้วเสร็จภายใน 20 วัน และส่งผลการตรวจสอบต่อประธานรัฐสภา
ให้ประธานรัฐสภาจัดทำบัญชีรายชื่อของบุคคลที่คณะกรรมการส่งมาแยกเป็นประเภทแต่ละบัญชี และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วันนับแต่ได้รับผลการตรวจสอบดังกล่าวเพื่อให้รัฐสภาลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น สสร. โดยในการคัดเลือกให้กระทำเป็นการลับ
ให้ผู้ได้รับคัดเลือกที่ได้คะแนนสูงสุดตามลำดับตามจำนวนที่กำหนดไว้ในแต่ละประเภท เป็นผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สสร. ในจำนวนผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน ให้ลงคะแนนใหม่เฉพาะผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน
ถ้าอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดตามหมวดนี้ มิให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือ มีการยุบสภาฯ จนถึงวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรก ภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร
ระยะเวลายกร่าง
ภายใน 30 วันนับแต่เลือกตั้ง สสร. ให้มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก
สภาร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายในเวลากำหนด 240 วัน นับแต่วันประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญนัดแรก
ในการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่า มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้ นอกจากนี้การจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนในทั่วภูมิภาคด้วย
เงื่อนไขรธน.ตก
ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้
ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีลักษณะดังกล่าวข้างต้น ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ให้นำเสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อประธานรัฐสภาเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญมิได้เป็นไปตามลักษณะที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ภายใน 7 วัน เพื่อให้ กกต. จัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชน ว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่
ประชามติ
โดยให้ กกต. ประกาศวันออกเสียงประชามติภายในไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่ที่ได้ร่างรัฐธรรมนูญจากประธานรัฐสภา วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรน เริ่มตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ
ให้ กกต. ประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันออกเสียงประชามติ หากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งโดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติเห็นชอบก็ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
การสิ้นสุดสสร.
สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงในกรณี
1.จำนวน สสร.เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
2.สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาคือ 240 วัน
3.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญ
4.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป เนื่องจาก ร่างรัฐธรรมนูญมีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอประชาธิปไตย อันมีพระมาหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำไม่ได้ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้ )และไม่ผ่านประชามติ
ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตกไปตามเงื่อนไข (ร่างรัฐธรรมนูญมีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอประชาธิปไตย อันมีพระมาหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำไม่ได้ และไม่ผ่านประชามติ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขในบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์ จะกระทำมิได้ ) หรือ การจัดทำรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ เพราะเหตุสภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ครม. หรือ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือ สว.และ สส. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่