แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“มหกรรมเลือกตั้งท้องถิ่น” พรรคใหญ่จ้องกินรวบ – ผู้นำรุ่นใหม่เกิดยาก
ปี 2555 ถือเป็นปีแห่งมหกรรมการเลือกตั้งของคนไทยอีกครั้ง เพราะเป็นจังหวะพอดีที่ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นหลายพันแห่งครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ทำให้คนไทยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ต้องไปใช้สิทธิ์ เข้าคูหาหย่อนบัตรคึกคักทุกเดือนเพื่อเลือกตัวแทนไปปกป้องผลประโยชน์ และดูทุกข์สุกของประชาชนในท้องถิ่น และถ้าไม่ไปใช้สิทธิ์ก็จะเสียสิทธิ์ในการยื่นคัดค้านบางประการตามที่กฎหมายกำหนด
ข้อมูลของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า จำนวนองค์กรปกครองส่วนที่จะครบวาระในปี 2555 มีทั้งสิ้น 3,118 แห่ง ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 839 แห่ง แยกเป็น เทศบาลนคร 18 แห่ง เทศบาลเมือง 95 แห่ง เทศบาลตำบล 726 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 2,202 แห่ง และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 1 แห่ง คือ เมืองพัทยา
ในกระแสการเลือกตั้งท้องถิ่น ก็สอดแทรกด้วยการเลือกตั้งซ่อม สส. ในบางพื้นที่ ส่วนหนึ่งถูกกกต.แจก ใบเหลืองย้อนหลังฐานทำผิดกฎหมายในการเลือกตั้ง สส. ปีที่แล้ว บางรายถูกชี้มูลความผิดกรณีฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เช่น ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่ถูกศาลฎีกานักการเมืองตัดสินเว้นวรรคการเมือง 5 ปี ในคดีซุกหนี้ 100 ล้าน บางรายลาออกจาก สส. ไปลงนายกฯอบจ. เช่น กรณี สส.พรรคเพื่อไทย ไขก๊อกไปลงเลือกตั้งนายกฯอบจ.ปทุมธานี จนแพ้เลือกตั้งเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจอยู่ที่ การเลือกตั้งนายกฯอบจ. ในแต่ละจังหวัด ที่แข่งขันกันเข้มข้น โดยเฉพาะในพรรคเดียวกันอย่างพรรคเพื่อไทยที่ฟาดฟันกันเอง ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพรรค เกิดการต่อสู้ ลงชิงเก้าอี้นายกฯอบจ.กันหนัก ในภาคอีสาน ภาคเหนือ ที่เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย สส.ต้องบินไปขอการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อให้ชี้ขาดว่า กลุ่มใดจะได้เป็นตัวแทนเสียงจริงของพรรค รวมถึงกลุ่มเสื้อแดงที่กดดันพรรคเพื่อไทยให้ส่งตัวแทนของคนเสื้อแดงลง โดยแกนนำนปช. ถึงกับประกาศว่า จะสนับสนุนคนเสื้อแดงให้ลงเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อปักหมุดคนเสื้อแดงตามจังหวัดต่างๆ
เช่น การเลือกตั้งนายกฯอบจ. นครราชสีมา เมื่อเดือนมี.ค. เป็นศึกระหว่างกลุ่มเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยกันเอง ฝ่ายหนึ่งมี สส.เพื่อไทย 5 คน มีแรงหนุนจากนพดล ปัทมะ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ที่ไปจับมือร่วมกับ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรครวมชาติพัฒนา สนับสนุน ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ชิงเก้าอี้นายกฯอบจ. ส่วนอีกฝ่าย มีสุพร อัตถาวงศ์ แกนนำนปช. และ วิรัช รัตนเศรษฐ์ แกนนำเพื่อไทยโคราช สนับสนุน น.พ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตนายก อบจ. ก่อนฝ่ายนี้จะแพ้ไปฉิวเฉียด ทิ้งความแตกแยกในทีมโคราชของพรรคเพื่อไทยเอาไว้
ยังมีที่ จ.นครพนม ที่จะเลือกกันในวันที่ 27 พ.ค. ก็แข่งกันเดือดระหว่างคนของเพื่อไทย แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งมี ไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม เขต 3 ให้การสนับสนุน “สมชอบ นิติพจน์” อดีตนายก อบจ.นครพนม แชมป์เก่าสู้กับ นส.ณัฎฐ์พัชร์ ยงใจยุทธ หลานสาว “บิ๊กจิ๋ว”พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธซึ่งก็ได้ สส.นครพนมของพรรคเพื่อไทยหลายคน เป็นแขนขาสนับสนุน นับเป็นศึกวัดบารมี กลุ่มก๊วนในพรรคเดียวกัน
ที่ดุเดือดอีกสนาม คือ เก้าอี้นายกฯอบจ. จ.เชียงราย ในวันที่ 27 พ.ค. เมื่อคนของเพื่อไทยและเสื้อแดงมาลงแข่งตัดคะแนนกันเอง ถึง 3 กลุ่ม กลุ่มแรกสนับสนุนนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยา ยงยุทธ ติยะไพรัช กลุ่มที่สองสนับสนุน สฤษฎ์ อึ้งอภินันท์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน กลุ่มที่สาม มี น.ส.พนิดา มะโนธรรม แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชื่อกลุ่ม “เชียงรายตะวันแดงกระตุ้นเศรษฐกิจ” ลงสมัครอีกคนหนึ่งด้วย โดยมี คู่แข่งคนสำคัญคือ รัตนา จงสุทธนามณี อดีตนายก อบจ.เชียงราย สมัยล่าสุดลงแข่งอีกครั้ง
เรื่อยไปถึงศึกตระกูลดังใน จ. ร้อยเอ็ด "จุรีมาศ-พลซื่อ-ยนต์ตระกูล เลือกตั้ง วันที่ 27 พ.ค. เช่นกัน ที่ต้องแย่งกันประกาศว่า เป็นตัวแทนของพรรคเพื่อไทยตัวจริง ระหว่าง มังกร ยนตร์ตระกูล อดีตนายกฯอบจ. คนล่าสุด คนเพื่อไทยเก่า กับ คนใหม่เพื่อไทย รัชนี พลซื่อ สอดแทรกด้วย ทินกร จุรีมาศ จากพรรคชาติไทยพัฒนา
นายกฯอบจ. มีวาระ 4 ปี มีหน้าที่พัฒนาจังหวัด เศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข สาธารณูปโภค ด้านต่างๆ มีอำนาจและเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มากจากการคุมเม็ดเงินภาษีทางตรงที่ อบจ. จัดเก็บในจังหวัด บางจังหวัดมีรายได้หลายร้อยหลายพันล้านบาท เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ บางส่วนมาจากภาษีบางชนิดที่รัฐบาลเป็นผู้จัดเก็บเองแล้วจัดสรรให้ อบจ. เหล่านี้ เป็นปัจจัยเอื้อให้ ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดต่างอยากเข้ามาคุมงบประมาณ และสร้างฐานเสียงในจังหวัด เชื่อมต่อกับพรรคการเมือง
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ “ทีมข่าวปฏิรูป ศูนย์ข่าวอิศรา” ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ครั้งนี้เป็นรอบของมันที่ครบวาระ 4 ปี และก็ต้องเลือกตั้งกันใหม่ แต่มีข้อสังเกตุ 3 เรื่องสำคัญ
ประการแรก ท้องถิ่นหลายแห่งมีการช่วงชิงเพื่อเอาชนะคะคานกัน นายกฯอบจ. นายก.อบต.หลายแห่งลาออกก่อนครบวาระ กรณีนี้เป็นปัญหาแท็คติคของการชิงความได้เปรียบกันในทางการเมือง สังเกตได้ จะมีการเลือกตั้งนายกฯอบจ. วันหนึ่ง ถัดมาอีกเดือนก็จะเลือกสมาชิกสภาจังหวัด ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในวาระพร้อมกัน แต่กฎหมายไม่ได้บังคับเรื่องการลาออกก่อนกำหนด การลาออกก่อนกำหนดก็เพื่อไม่ให้มีการเลือกนายกฯ กับ สมาชิกสภาท้องถิ่น พร้อมกัน ฉะนั้น นายกฯที่เลือกตั้งก่อน ถ้าใครชนะจะมีผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาในช่วงถัดไป ซึ่งในทางหลักวิชาการ มันควรจะเลือกพร้อมกันเพราะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในภาพรวม แต่ถ้าเลือกไม่พร้อมกัน มันก็สิ้นเปลือง
ประการที่สอง มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดว่า พรรคการเมืองระดับชาติ ต้องการขยายอิทธิพล องคาพยพของตนในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ผ่านมา พรรคขนาดใหญ่ของไทย ไม่ค่อยพยายามขยายตัวแทนเข้าไปครอบงำการเมืองท้องถิ่น เพราะมันเกี่ยวข้องกับปัญหาความขัดแย้งของผู้สมัคร กลุ่มต่างๆ ในพรรค ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองมีความยากในการจัดการ แต่พรรคการเมืองของไทยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะตั้งแต่พรรคไทยรักไทยที่แปรเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชนและ พรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากในสภา เพราะเขาคงคิดว่า การครอบงำการเมืองท้องถิ่น อาจจะทำให้บริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จ และพรรคก็สามารถคุมนโยบาย งบประมาณ เครือข่าย สาขาพรรคได้เป็นเอกภาพมากขึ้น
เขาบอกว่า แนวคิดนี้ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยที่เน้นเสียงข้างมากหรือ เน้นประสิทธิภาพเป็นใหญ่ เช่น รัฐบาลมีนโยบายเรื่องโอท็อป ท้องถิ่นก็ต้องทำโอท็อปด้วย รัฐบาลต้องการทำสวัสดิการคนชรา ท้องถิ่นก็ต้องทำสวัสดิการคนชราเช่นกัน เพื่อให้เป็นนโยบายอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งองคพายพ ซึ่งก็เห็นชัดในการเมืองของต่างประเทศหลายประเทศที่พรรคการเมืองระดับชาติลงไปเล่นการเมืองท้องถิ่นเอง
“แต่ผลด้านลบ คือ องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นองค์กรประชาธิปไตยขนาดเล็ก คือ เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ฉะนั้น ประชาชนก็ต้องมีอิสระ ดุลยพินิจในการตัดสินด้วยตัวเอง เช่น สามารถตัดสินในเชิงของประชาธิปไตยชุมชน ท้องถิ่นเอง ฉะนั้น นโยบายของท้องถิ่นในความเห็นผม ไม่ควรที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐบาลมากนัก แต่ถ้าอยากเห็นรัฐบาลมีนโยบายอย่างไร รัฐบาลก็ควรจะมอบหมายให้ท้องถิ่นทำแทน และรัฐบาลก็ต้องส่งเครื่องมือ งบประมาณไปด้วย ขณะเดียวกัน ท้องถิ่นก็มีปัญหาหลากหลาย เช่น บางท้องถิ่นอาจมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยมาก เพราะมีสลัม แออัดมาก ก็ต้องแก้เรื่องที่อยู่อาศัย บางท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเหตุผลที่เรามีท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ในการปกครองตนเอง ตัดสินใจด้วยตนเอง รับผิดชอบด้วยตัวเอง นี่จึงเป็นข้อเสียที่พรรคแกนนำรัฐบาลตั้งใจจะครอบงำ หรือ มีอิทธิพลครอบงำท้องถิ่นอย่างเต็มที่”
ประการที่สาม แนวโน้มที่เห็นชัด คือ บรรดาผู้นำท้องถิ่น กลุ่มการเมืองท้องถิ่น มีความพยายามจะต่อสู้ กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มผลประโยชน์ รวมถึง กลุ่มอุดมการณ์ย่อย เช่น กลุ่มรักษ์ท้องถิ่น กระทั่ง กลุ่มเสื้อแดง ที่ก็มีลักษณะเป็นผู้นำท้องถิ่นเช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดกรณีของการส่ง สส.ในการเลือกตั้งซ่อม สส.เชียงใหม่ กลุ่มเสื้อแดงก็อยากให้ส่งผู้แทนของกลุ่มเสื้อแดง แต่พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ตัดสินใจส่งตัวแทนของตัวเองลงสมัคร กรณีเลือกตั้งนายกฯอบจ. และ สส.ปทุมธานี ก็เช่นเดียวกัน เป็นความขัดแย้งกันระหว่างพรรคกับ ตัวแทนของกลุ่มท้องถิ่น
รองอธิการบดีธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นรอบนี้ถือเป็นรอบที่สี่ ถ้าคิดจุดเริ่มจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทำให้มีการเลือกตั้งเลือกตั้งอปท. เต็มพื้นที่จริงๆปี 2542 ส่วนรอบสอง ปี 2546 รอบสามปี 2550 รอบสี่ปี 2554 - 2555 แม้จะผ่านมาสี่ครั้ง แต่พัฒนาการโดยรวมก็ยังไม่ได้ดีขึ้น ยังมีปัญหาเรื่องการพัฒนา ความพร้อม ถ้าประเมินแล้วอาจมีแค่ 10% หรือ 700-800 หน่วย ที่อยู่ในระดับที่ดี น่าพอใจ เป็นประชาธิปไตย มีความสามารถในการจัดการ พัฒนาตัวเองได้ อย่างไรก็ตาม ท้องถิ่นจะพัฒนาได้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายเรื่อง ประชาธิปไตยเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นในการที่จะให้ประชาชนไปเลือกตัวแทนมาปกครองตนเอง องค์ประกอบที่สอง คือ งบประมาณ ภาษี ที่ท้องถิ่นเก็บได้ ภาษีที่รัฐแบ่งให้ เงินอุดหนุนต่างๆ ประชาธิปไตยมันต้องการเงินพอสมควร รวมถึง ศักยภาพของคน ผู้นำ ที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มผลประโยชน์ที่มันยังมีลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น คือเรายังไม่ค่อยมีดุลยภาพที่พอเหมาะพอควรในการเปลี่ยนแปลงระดับท้องถิ่นของไทย
ส่วนแนวโน้มที่จะได้เห็น “ผู้นำรุ่นใหม่” ในระดับท้องถิ่น ซึ่งผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้งนั้น นครินทร์ เห็นว่า มีไม่มาก แต่ก็มีข้อสังเกตุว่า ผู้นำท้องถิ่นผูกขาดอำนาจได้ประมาณ 2 วาระ ความจริงกฎหมายเก่าเรื่องท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง นายกฯอบจ. นายกฯอบต. นายกฯเทศมนตรี อยู่ได้แค่สองรอบเท่านั้น แต่มาแก้กฎหมายในสมัยที่พรรคภูมิใจมาดูแลกระทรวงมหาดไทย ทำให้การเลือกตั้งนายกฯอบจ. มันต่อเนื่องไปได้ 3-4 รอบ อีกด้านหนึ่งก็เห็นว่า ท้องถิ่นดีๆ อยู่ได้ประมาณ 2 รอบเท่านั้น เพราะมันมีการแข่งขัน ต่อสู้กันเยอะ ระหว่างกลุ่มต่างๆ มากพอสมควร
สำหรับความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทยกับกลุ่มเสื้อแดงในการส่งตัวผู้สมัครลงนายกฯอบจ.นั้น เห็นว่า พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของหลายส่วนไม่ใช่เสื้อแดงอย่างเดียว มีทั้งเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ แกนนำ นปช. และอีกหลายกลุ่ม การขัดแย้งในเรื่องตัวผู้นำที่จะลงเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นแค่ปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งซึ่งก็สำคัญ แต่เรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คือ ปัจจัยเรื่องอุดมการณ์ การแก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนโยายปรองดอง ดังนั้น จะยังไม่ขัดแย้งแตกแยกเสียทีเดียว
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น ถือเป็นรากเหง้าของระบอบประชาธิปไตย ชาวบ้านรู้สึกว่า สามารถเลือกผู้นำของเขาเองได้ ไม่ใช่ได้คนที่เจ้านายส่งมา แต่ปัญหาด้านหนึ่งที่เป็นข้อเสีย คือ มีการแข่งขันสูง ใช้ความรุนแรง และหลายพื้นที่ ก็มีการสืบทอดอำนาจกันโดยผู้มีอิทธิพลในจังหวัด แต่โดยรวมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีขึ้นมา 10 ปีมันค่อยๆ พัฒนาขึ้น หลายพื้นที่มีการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ช่วยทลายการผูกขาดของกลุ่มผู้มีอิทธิพลได้ สิ่งที่ต้องติดตามในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ คือ จะแข่งกันด้วยอะไร การรณรงค์หาเสียง นโยบาย ข้อเสนอที่จะตอบแทนประชาชนอย่างไร เช่น ปรับปรุงระบบการศึกษาในพื้นที่ แต่งานวิจัยพบว่า การหาเสียงโดยรวม เน้นข้อเสนอในระยะสั้นมากกว่าระยะยาว และส่วนใหญ่ยังเป็นตระกูลนักการเมืองเป็นคุมฐานเสียงในจังหวัด ขณะที่กลุ่มใหม่มักจะขายความคิดคใหม่ในเรื่องการดูแลประชาชน
“โดยรวมทิศทางการเลือกตั้งท้องถิ่น เลือกกันมาแล้ว 2 ครั้ง ในรอบ 10 ปี ช่วยให้คนฉลาดและรู้ทันขึ้น ว่า เขาควรเลือกเพราะอะไร เชื่อว่าในอนาคต เครื่องมือที่จะใช้ในการหาเสียงจะเป็นข้อเสนอในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม เช่น จะทำสวนสาธารณะเพิ่มขึ้นไหม จะทำโรงเรียนสอนเด็กเล็ก และผู้สมัครที่มาจากนักการเมืองระดับชาติที่ลาออก หรือ กลุ่มผู้มีอิทธิพล จะต้องเจอการท้าทายจากผู้สมัครที่มีการศึกษา มีความคิดก้าวหน้า มีอุดมการณ์ การแข่งขันด้านนโยบายจะเข้มข้นมากขึ้น” สิริพรรณ ทิ้งท้าย