แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ตรวจสอบสภาฯฉาว “กดบัตรแทนคือทุจริตต้องลงโทษ”
แต่ถือว่าช่วงนี้ อยู่ในช่วงที่สภาผู้แทนราษฏรมีภาพลักษณ์ที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง กับหลายเหตุการณ์ที่ล้วนไม่เป็นผลดีต่อสภาฯไทย
ทั้งกรณี ภาพโป๊โผล่กลางประชุมรัฐสภาอันทรงเกียรติ ขณะสมาชิกรัฐสภากำลังประชุมกันเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย ซึ่งล่าสุดการสอบสวนของสภาฯ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าภาพโป๊ดังกล่าวหลุดเข้าไปได้อย่างไร
แล้วก็ยังมีภาพส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ “ณัฎฐ์ บรรทัดฐาน” ดูภาพโป๊ในโทรศัพท์มือถือกลางห้องประชุมรัฐสภาฯ ในวันเดียวกันกับที่มีภาพโป๊หลุดเข้ากลางห้องประชุมรัฐสภา ที่แม้เจ้าตัวจะออกมาแถลงข่าวยอมรับและอ้างว่าไม่ได้มีเจตนาดูภาพโป๊แต่มีเพื่อนส่งภาพมาถามว่าใช่ภาพเดียวกับที่โผล่ในห้องประชุมหรือไม่ แต่ก็พบว่าคนส่วนใหญ่มองว่าคำชี้แจงของณัฐฐ์ ฟังไม่ขึ้น และเป็นพฤติการณ์อันไม่สมควรอย่างยิ่ง
จากนั้นก็ตามด้วยเหตุการณ์เรื่อง ”กดบัตรแทนกัน” ที่มีการเปิดเผยภาพนิ่งและคลิปภาพเคลื่อนไหว ส.ส.จากบางพรรคการเมืองมีพฤติการณ์ที่ผู้เปิดเผยภาพทั้งนางสาวรสนา โตสิตระกูล สว.กรุงเทพมหานคร-สมชาย แสวงการ สว.สรรหา-บุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรครักประเทศไทยรวมถึง ประชา ประสพดี ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย นำมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน
โดยต่างบอกว่าเป็นภาพที่ส.ส.มีการกดบัตรแทนกันในการลงมติและกดบัตรนับองค์ประชุมกันในห้องประชุมสภาฯ ที่ตอนนี้ได้กลายเป็นคดีความกันตามมามากมายเพราะผู้ถูกกล่าวหาว่ากดบัตรแทนกัน ก็ได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้แถลงข่าวฐานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และเรื่องดูเหมือนยังไม่จบเพราะบางฝ่ายเช่นนายชูวิทย์อ้างว่ามีคลิปและภาพที่ส.ส.อีกหลายคนมีการกดบัตรแทนกันในการพิจารณาร่างแก้ไขรธน.แต่จะเปิดเผยหลังมีการเห็นชอบร่างรธน.วาระ 3 เพื่อหาช่องทางส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างรธน.ดังกล่าวเป็นโมฆะต่อไป
กรณีเรื่องภาพโป๊ว่าหนักแล้ว แต่มาเจอเรื่องส.ส.ผู้ทรงเกียรติ กดบัตรแทนกันอีก ยิ่งหนักกว่า เพราะไม่ใช่แค่เรื่องไม่เหมาะสม แต่เป็นเรื่องทำผิดจริยธรรมส.ส. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส.ส.ซึ่งต้องเป็นฝ่ายออกกฎหมายแต่กลับมาทำผิดกฎหมายเสียเอง แม้ข้อเท็จจริงยังคงต้องมีการตรวจสอบต่อไป ว่ามีการกดบัตรแทนกันจริงหรือไม่ แต่กลับพบว่าทางสภาฯ โดยเฉพาะ ตัวสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กลับไม่ค่อยให้ความสำคัญเท่าใดนัก ในการจะตรวจสอบเรื่องนี้เพราะไม่ได้พูดถึงเลยว่าจะสอบสวนตรวจสอบเรื่องจริยธรรมส.ส.อย่างไรแต่กลับบอกว่าไม่มีผลกระทบต่อเสียงการลงมติ!
“ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา”อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดทำเว็บไซด์ ”www.tpd.in.th” ที่เป็นเว็บไซด์เครือข่ายศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย Thailand Political Database (TPD) ซึ่งเป็นการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อทำกิจกรรมเรื่องข้อมูลการเมืองไทยมาแล้วหลายอย่าง แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ของสภาฯเวลานี้และการแก้ไขให้ดีขึ้นผ่าน”ศูนย์ข่าวอิศรา”ว่าในส่วนของการกดบัตรแทนกันของส.ส.ถือเป็นเรื่องร้ายแรงมากทางการเมือง เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายเลยทีเดียว
เมื่อถามว่า หวังว่ากลไกตรวจสอบอย่างคณะกรรมการจริยธรรมสภาฯ หรือกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฏร ได้หรือไม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องกดบัตรแทนกัน อาจารย์จรัส กล่าวว่า อย่าไปหวังเลย ที่จะให้นักการเมืองมาสอบสวนตรวจสอบกันเองเพราะมันก็เป็นเรื่องการเมือง หากตกลงกันได้ ก็ลูบหน้าปะจมูก หวังพึ่งพาไม่ได้ สิ่งสำคัญคือการตรวจสอบของภาคประชาชนกันเอง สังคมตรวจสอบนักการเมือง ตีแผ่พฤติกรรมนักการเมืองที่ไม่ดี นั่นแหละดีที่สุด หากมัวแต่รอให้นักการเมืองตรวจสอบเรื่องก็ช้า ไม่รู้ว่าจะใช้การเมืองกันหรือเปล่า จะเชื่อถือได้หรือไม่
“เรื่องการกดบัตรแทนกันของส.ส.เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันบ่อยครั้ง มีมาตลอดหลายสมัย แต่ก็ไม่เคยมีระบบการตรวจสอบและป้องกันอย่างจริงจัง ทำให้มีการกระทำกันตลอดมา ทั้งที่สิทธิการลงคะแนนเสียงและสิทธิการแสดงตนในห้องประชุมเป็นเรื่องที่ส.ส.หรือสมาชิกรัฐสภาต้องทำเอง จะมอบให้ผู้อื่นกระทำแทนไม่ได้
การเอาบัตรเสียบไว้แล้วฝากให้เพื่อนส.ส.ช่วยกดโดยตัวเองไปอยู่ที่อื่น ออกไปข้างนอกไม่ทำหน้าที่ในห้องประชุม ถือว่าเป็นการทำผิดร้ายแรง เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของส.ส. และคนที่กดแทนให้เพื่อน ก็ผิดด้วยเช่นกัน เท่ากับสมคบกันกระทำความผิดในการทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ แบบนี้มันก็คือ สภานอมินี สมบูรณ์แบบ คือส.ส.ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องลงมติ ไม่ต้องมาประชุมแล้วให้คนอื่นทำหน้าที่คอยกดบัตรให้ เป็นนอมินีให้
หากยังปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ต่อไปจะมีปัญหาแน่นอน เกิดต่อไปมีการร้องว่ากฎหมายใดที่ผ่านนิติบัญญัติมาแล้ว กำลังจะประกาศใช้ หรือเป็นกฎหมายที่มีบางฝ่ายไม่อยากให้เกิด ก็ไปร้องว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาโดยมิชอบเพราะเชื่อว่ามีการกดบัตรแทนกัน แทนที่กฎหมายสำคัญๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติจะได้ประกาศใช้ ก็อาจสะดุดลงมีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนเรื่องนักการเมืองดูภาพโป๊หรือคนเอาภาพโป๊ขึ้นกลางห้องประชุมรัฐสภา ก็เป็นเรื่องไม่สมควร ทำให้สภาเสียหาย แล้วการสอบสวนไปถึงไหน“
“ศ.ดร.จรัส”กล่าวอีกว่า ในฐานะเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย มองว่าการที่ส.ส.กดบัตรแทนกัน ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่นักเรียนนักศึกษาถึงเวลาสอบแล้วไม่ได้เข้าสอบ แต่มอบบัตรสอบหรือบัตรประจำตัวให้แล้วการตรวจสอบทำไม่ดีพอคือเอาคนที่เก่งกว่าเข้าไปสอบแทน คะแนนที่ออกมาก็คือคะแนนของคนอื่น ไม่ใช่คะแนนของเจ้าของบัตร
“พฤติกรรมดังกล่าวก็คือการทุจริตการสอบ ส.ส.ก็คือการทุจริตในหน้าที่ สำหรับผมถือว่ามันร้ายแรง อย่างถ้าเป็นระบบการศึกษาก็ต้องปรับให้นักศึกษาทั้งสองคนหมดสิทธิสอบ แล้วนักการเมืองล่ะ จะปรับให้หมดสิทธิการเป็นส.ส.ได้หรือไม่ แล้วพอเกิดเรื่อง ก็เห็นนักการเมืองมาแก้ตัวต่างๆ คนระดับประธานสภาฯบอกว่าไม่ใช่เรื่องร้ายแรง การตรวจสอบก็ไม่รู้จะทำหรือไม่อย่างไร ให้ใครรับผิดชอบ จะสอบแบบไหน ผมว่าถ้าพบว่าการลงมติทำโดยไม่ชอบ มีการใช้นอมินีทำการแทนกัน ก็ต้องเปิดให้มีการลงมติใหม่ ยังดีกว่าจะให้ออกเป็นมติที่ไม่ชอบมีปัญหาแบบนี้”
อ.จรัส กล่าวว่า ที่เห็นว่ามีปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบันระเบียบการประชุมหรือระเบียบ ข้อบังคับการประชุมสภาฯ พบว่าไม่มีเรื่องบทลงโทษส.ส.ใช้สิทธิหรือกดบัตรแทนกัน ตรงนี้สภาฯควรต้องมีการแก้ไขระเบียบเพื่อให้มีการตรวจสอบและลงโทษส.ส.ที่กระทำผิดดังกล่าว คือเพื่อป้องกันและยังทำให้สังคมเห็นว่าสภาฯไม่ได้อยู่เฉยๆกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
เมื่อถามย้ำว่ามั่นใจหรือเชื่อในการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือการควบคุมจริยธรรมกันเองของส.ส.หรือไม่ ? “นายจรัส”ตอบว่าคงเชื่อไม่ได้ อย่าไปคาดหวัง พวกนักการเมืองก็รู้จักกัน ยิ่งหากเป็นพรรคเดียวกันก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง อย่างตัวกรรมการจริยธรรมหรือกรรมาธิการของสภาฯ ก็เป็นพวกนักการเมืองทั้งนั้น เขาก็ต้องช่วยเหลือกัน ลูกหน้าปะจมูกกันไป
สิ่งที่ควรต้องทำคือสร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งของภาคประชาชน อย่างเว็บไซด์ที่เราทำอยู่ ก็มีการทำสถิติหรือข้อมูลอีกบางด้านของนักการเมือง พรรคการเมือง ที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ในสื่อกระแสหลัก เช่นทุนพรรคการเมือง การทำงานของส.ส.หรือการทำสมุดพกส.ส.เพื่อให้ความรู้กับประชาชนว่าตัวแทนที่เลือกกันเข้าไปได้ทำหน้าที่อย่างไรบ้าง
“จากข้อมูลที่ www.tpd.in.th เราได้มาพบว่าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีส.ส.หลายคนมไม่ยอมเข้าประชุมสภาฯ คือไม่มาเซ็นชื่อเข้าประชุมสภาเลยคือหายไปทั้งเดือนเลย และมีบางคนคือมีชื่อเซ็นเข้าประชุมสภาฯ แต่พบว่าในชั้นการลงมติ กลับไม่ปรากฏชื่อส.ส.หลายคนในตอนลงมติเลย คือหายไปจากการลงมติในกฎหมายหรือวาระสำคัญๆ ไปทั้งเดือนมีนาคม คำถามคือว่าพวกนี้เขาหายหัวหายตัวไปไหนทั้งเดือน ได้เข้าไปทำงานที่สภาฯกันบ้างหรือเปล่า แล้วตอนพิจารณาเรื่องสำคัญ ทำไมไม่เข้าประชุมสภา มีการลาหรือการแจ้งเหตุการไม่ไปประชุมสภากันหรือไม่ พวกนี้ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทยก็จะเปิดเผยชื่อไว้เลยในเว็บไซด์www.tpd.in.th ว่าเป็น 10 ส.ส.ยอดแย่ เพราะจากการเช็คชื่อดูมีส.ส.แบบนี้จำนวนมากที่หายไปเลยหรือไม่อยู่ร่วมตอนลงมติ แบบนี้ก็คือการตรวจสอบของภาคประชาชนต่อนักการเมือง”
คำกล่าวที่ว่า ประชาชนเป็นอย่างไร ส.ส.ที่เลือกก็เป็นแบบนั้น เพราะส.ส.คือตัวแทนประชาชน หากประชาชนในพื้นที่เป็นแบบไหน ต้องการส.ส.แบบไหนก็เลือกส.ส.แบบนั้น หากอยากให้สภาฯ มีการทำงานที่ดีขึ้น ต้องเริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการเมืองไทยต่อประชาชนก่อน ทัศนะดังกล่าว เห็นอย่างไรในฐานะอาจารย์รัฐศาสตร์ ?
“ศ.ดร.จรัส”ตอบว่า ส.ส.แท้ที่จริงแล้ว เขาก็ไม่ได้แตกต่างจากประชาชนทั่วไป เมื่อกระบวนการได้มาซึ่งส.ส.คือพรรคการเมืองไม่ได้มีการกลั่นกรองกันก่อน เลือกเพราะเอาเงินมาให้พรรค เป็นคนของใคร มีอำนาจอิทธิพลมีฐานคะแนนจัดตั้งในพื้นที่ก็ส่งเลย โดยไม่คิดว่าประชาชนในพื้นที่เขาต้องการจริงหรือไม่ แล้วพอเลือกตั้งไป ก็ไม่ได้เข้าไปทำหน้าที่ให้ดี ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไปใช้อำนาจข่มขู่อะไรต่างๆ ในพื้นที่ คือบางคนก่อนเล่นการเมืองเป็นคนนิยมความรุนแรง แต่ตอนเลือกตั้งก็ไม่มีใครรู้ แล้วพอได้เป็นส.ส.ก็มาแสดงพฤติกรรมต่างๆเหล่านี้ออกมาในการประชุมสภาฯ คือแสดงอำนาจบาตรใหญ่ในห้องประชุมสภาฯเพราะติดนิสัยมา ปัญหาแบบนี้ก็มีมาตลอด คือการคัดเลือกคนลงส.ส.ของเราไม่ได้มีระบบที่ดีพอ ก็เลยได้มาซึ่งส.ส.ที่ไม่ได้มีคุณภาพมากนัก
ที่ผ่านมา สมัยเป็นกรรมาธิการยกร่างรธน.ปี 40 ก็มีการพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาคุณภาพนักการเมืองและส.ส.ให้ดีขึ้น สอดรับกับการปฏิรูปการเมือง ตอนนั้นก็เลยผลักดันเรื่องการจัดตั้ง”สถาบันพระปกเกล้า”ขึ้นเพื่อให้เป็นองค์กรวิชาการของฝ่ายนิติบัญญัติในการทำหน้าที่สนับสนุนให้ได้มีส.ส.มีคุณภาพ มีการศึกษาในด้านต่างๆที่ดีขึ้น ก็มีการจัดทำกิจกรรมหลายอย่างเช่นการเปิดอบรมส.ส. การเปิดหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้ความรู้นักการเมือง พวกส.ส.ส่งชื่อมาเรียนในหลักสูตรของสถาบันพระปกเกล้า และเพื่อเป็นการละลายพฤติกรรมหลายอย่างที่เคยเป็นมาก่อนเพื่อจะเข้าไปทำหน้าที่ส.ส.ได้อย่างมีคุณภาพ
“แต่รู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น ผมเคยอยู่พระปกเกล้ามาด้วย เห็นเลยคือพวกส.ส.เหล่านี้ ก็ส่งชื่อมาอบรมมาเรียนกัน แต่ก็คงไม่ได้ตั้งใจอยากมากันด้วยบางส่วน ก็มีการเซ็นชื่อกันนอกห้องแล้วก็โดด หนีเรียนไปเลย เซ็นชื่อเสร็จก็ไม่ได้เข้าไป ไม่เข้าร่วมสัมมนากันเฉยเลย บางคนก็ไม่มาเลย มีชื่อมาอยู่ แต่ไม่เข้าอบรมสัมมนาที่สถาบันพระปกเกล้าทำไว้ให้ ผมถึงบอกว่าพอมาเจอเรื่องส.ส.กดบัตรแทนกัน เลยบอกว่าเรื่องนี้มีคนพูดกันมานานแล้วกับการทำงานของส.ส.”
พฤติกรรมในทางลบที่เกิดขึ้นกับสภาฯไทยแบบนี้ มีให้เห็นมานักต่อนัก หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ผู้คนรับรู้กันทั่วไปแต่ก็ทำอะไรไม่ได้
อาทิ การผลาญเงินภาษีประชาชน เอางบไปเที่ยวต่างประเทศแล้วก็เขียนโครงการว่าไปทัศนศึกษา ดูงาน ซึ่งมีกันทุกกรรมาธิการ มักทำในช่วงปิดสมัยประชุมสภาฯ ไปกันทั้งคณะ ฟรีหมด เพราะสภาฯออกให้ โดยเอาเงินภาษีประชาชนไปให้พวกนักการเมืองเหล่านี้ ยิ่งบางคณะตัวประธานกมธ.หรือพวกกรรมาธิการทั้งหลาย เอาพวกเครือญาติ สามี-ภรรยา –บุตร มาใส่ชื่อไว้เป็นที่ปรึกษากรรมาธิการ –ผู้ชำนาญการหรือผู้เชี่ยวชาญ ก็ตั้งเรื่องเบิกงบ ขนกันไปเที่ยวต่างประเทศกันสบายใจเฉิบทั้งครอบครัวแต่ใช้ชื่อว่า “ไปทัศนศึกษาหาความรู้”
แถมส.ส.บางคนก็ใช้ช่องทางกรรมาธิการไปหากินอีกต่างหาก ในการเรียกรับผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งการแต่งตั้งคนเข้าไปมีชื่ออยู่ในกรรมาธิการ หรือการหาผลประโยชน์จากเรื่องที่มีการสอบสวน
ขณะที่การตรวจสอบการทำงานของส.ส.-นักการเมือง จากภาคประชาสังคมคงต้องมีต่อไป เพื่อไม่ให้สภาฯที่ประชาชนเลือกกันมา กลายเป็นสภาฯที่เสื่อมทรามอย่างที่เป็นอยู่เวลานี้