แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เปิดสนามสอบผู้บังคับกองพัน ทหารปรับตัวเองก่อนถูกเปลี่ยน
แม้ตอนนี้ กองทัพพยายามที่จะดึงตัวเองออกจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ทว่าการเมืองเองก็ยังหวาดระแวงว่าทหารจะปฏิวัติรัฐประหาร ในช่วงสุดท้ายก่อนการการนิรโทษกรรม
เพราะเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคุมสภาพ “ผู้บังคับกองพัน” ที่เป็นกำลังหลักในการปฏิวัติรัฐประหารไว้ได้ทั้งหมด เพราะทั้ง ผบ.พล 1 รอ. ผบ.พล.ร. 2 รอ . และ ผบ.พล.ร 9 ยังอยู่ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งในแง่ตำแหน่งหน้าที่ และ ความยอมรับนับถือในตัวผู้บัญชาการทหารบกที่เป็นทหารอย่างเต็มตัว
เรื่อง “แตกแถว” หรือ ถูก “เจาะไข่แดง” อย่างเช่นที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 เคยทำในช่วงการปฏิวัติ กับ ผบ.พล.1 รอ. เพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ได้นั้น คงไม่เกิดขึ้น ยิ่งที่ผ่านมานโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการกระจายโอกาสให้ทหารหลายสายได้ขยับขึ้นมามีอำนาจ และสร้างระบบการประเมินผลให้ยุติธรรมขึ้น เพื่อป้องกันการ “เจาะไข่แดง”
“ปี 55 เน้นเรื่องการพัฒนาบุคคลตั้งแต่ผู้บังคับกองพันลงมา เพราะหน่วยระดับกองพันจะเป็นหน่วยที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับกองทัพว่า จะเข้มแข็งหรือไม่ หากระดับผู้พัน กองร้อย ผู้หมวด เข้มแข็ง พลทหารจะเข้มแข็งด้วย และจะเป็นกำลังหลักในการทำงานไม่ว่าจะเป็นการรบหรือพัฒนา คนพวกนี้ต้องแข็งแรง ต่อไปนี้จะมีการประเมินผล การสอบผู้บังคับกองพัน เพื่อดูว่าจะเติบโตในอนาคตได้หรือไม่ ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์รอบรู้ งานในหน้าที่ นอกหน้าที่ ความสามารถพิเศษต่างๆ หรือสิ่งอื่นๆ ที่เป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของตนเอง และเป็นที่พึ่งให้ประชาชนโดยรวม ทำตัวให้มีคุณค่า ถ้าเป็นทหารแล้วไม่ทำตัวให้มีคุณค่าก็อย่าเป็น” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ให้นโยบายระหว่างการประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก ก่อนปีใหม่
การจัดสอบผู้บังคับกองพัน ถือเป็นแนวคิดที่ริเริ่มกันมานาน แต่ปีนี้มีการนำมาปฏิบัติอย่างจริงจังในช่วง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก โดยจัดให้มีการสอบปีละ 2 ครั้ง ครั้งแรกมีการจัดสอบไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การจัดสอบจะแบ่งเป็นระดับ4 กองทัพภาค โดยมีคณะกรรมการจัดสอบในพื้นที่ ข้อสอบจะเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสอบวิชาด้านการทหารจำนวน 60 ข้อ ส่วนที่สอง ภาษาอังกฤษ 20 ข้อ ส่วนที่สาม เป็นข้อเขียนจำนวน 8 ข้อ โดยส่วนที่สามจะเป็นการวัดทัศนคติ และความรู้รอบตัว เช่น การให้แสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บทบาทของทหารในประเด็นทางการเมือง แนวคิดการพัฒนาสวัสดิการกำลังพล
ข้อสอบส่วนและส่วนที่สอง กรมยุทธศึกษาทหารบก จะเป็นผู้ไปตรวจ และประกาศคะแนน ส่วนที่สาม จำนวน 8 ข้อจะส่งให้ผู้บัญชาการกองพล และแม่ทัพภาคเป็นคนดู
“ผมคิดว่าข้อสอบเหล่านี้ต้องการให้ผู้บังคับกองพันทุกคนทำการบ้าน ให้ขวนขวายหาความรู้ หูไว ตาไว ผลตรงนี้อาจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการนำไปพิจารณาเลื่อน ลด ปลด ย้าย แต่แนวทางของท่านผู้บัญชาการฯ คือใช้การวัดผลเหล่านี้เป็นกุศโลบายให้คนหาความรู้ใส่ตัว ข้อสอบบางข้อเป็นการวัดว่า เราได้ฟังข่าวสารบ้านเมืองหรือไม่ ท่านให้สัมภาษณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้อย่างไร เพื่อที่จะได้รู้ว่าความคิด และ นโยบายเป็นอย่างไร เมื่อนำไปปฏิบัติก็จะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” ผู้บังคับกองพันในเขตกรุงเทพมหานคร ระบุ
เขายังมองว่า การวัดผลเช่นนี้ คงไม่ได้นำผลสอบดังกล่าวไปใช้ตัดสินแต่งตั้งโยกย้าย หรือโปรโมทขึ้นสู่ตำแหน่งทั้งหมด แต่การพิจารณาจะขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา ที่จะเห็นการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาในสายงานตัวเอง เช่นการโยกย้ายระดับผู้บังคับกองพัน ก็จะมีการพิจารณาเป็นลำดับขั้น จากผู้บังคับการกรม ขึ้นไปผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพภาค ก่อนทั้งหมดจะนำเข้าสู่คณะกรรมการระดับกองทัพ ซึ่งก็เคยถูกมองว่าเป็นพิธีกรรม เพราะในทางปฏิบัติจริงการเลือกใครเข้ามาดำรงตำแหน่งส่วนหนึ่งก็ต้องยึดว่าผู้ใต้บังคับบัญชาคนนั้น เป็นที่ไว้วางใจได้หรือไม่ และการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมาก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในกองทัพ เนื่องจากการแบ่งพรรค แบ่งพวก การเลือกคนเข้าสู่ตำแหน่งผู้บังคับหน่วยไม่เป็นธรรม
กระนั้น เขายังเห็นว่า ในช่วงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก พยายามที่จะทำเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายให้เกิดความเป็นธรรมให้มากที่สุด โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ทหารในหน่วยได้เจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับชั้น ไม่กระโดดข้าม ใครอยู่ที่หน่วยไหนก็ต้องโตที่นั่น ไม่ใช่พอรับราชการได้ช่วงหนึ่งแล้ว จะขึ้นตำแหน่งสำคัญ ก็เอาคนของตัวเอง คนของท่านมาเสียบหัว แต่แนวทางอันนี้ถือได้ว่าถ้าทำได้ก็จะดีมาก ลดปัญหาทหารแตงโม วิ่งไปหาการเมือง
“แต่ละยุค แต่ละสมัย อาจจะแตกต่างกัน ตอนนี้ทหารถูกสังคมจำกัดบทบาทในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองหรือ การออกมาตีกันการรัฐประหาร ในส่วนของผู้นำทางทหารเอง มองเห็นว่าการปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่เครื่องมือในการรักษาอำนาจหรือรักษาเก้าอี้อีกต่อไป การทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน และการดำรงความเป็น ผบ.ทบ.ที่ผบ.หน่วยในกองทัพยอมรับนับถือ กระจายความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ดูแลสวัสดิการทหารชั้นผู้น้อย อย่างนี้ท่านก็คุมลูกน้องได้อยู่หมัด ในภาพรวมกองทัพ และ ตัวผบ.ทบ.เองก็จะไม่ถูกการเมืองเข้ามาแทรกแซง หรือ ปลดได้ง่ายๆ เพราะสังคมก็คงอยู่ข้างกองทัพ” ผู้บังคับกองพันผู้นี้ ระบุ
ในขณะที่ พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ วุฒิสมาชิก และอดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด อดีตเจ้ากรมกำลังทหาร กล่าวว่า การวัดผลโดยการสอบเพื่อประเมินความรู้ ความสามารถ คงเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย ที่ผ่านมากองทัพอากาศ และ กองบัญชาการกองทัพไทย เคยนำมาใช้ในการทดสอบทัศนคติของกำลังพลมาแล้ว เป็นข้อสอบอัตนัย และ การสัมภาษณ์ ซึ่งข้อสอบจะออกแบบโดยนักจิตวิทยา ในส่วนของกองทัพอากาศ เรียกว่าข้อสอบเชิง วิภาวะวิสัย ส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย เริ่มใช้บ้างแล้ว ในส่วนของกองทัพบก จะมีการจัดสอบในการวัดความสามารถจะใช้ในการทดสอบผู้ช่วยฑูตทหารเป็นหลัก
“ถ้ากองทัพบก จะนำการวัดผลโดยการสอบมาใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการแต่งตั้งโยกย้ายก็จะดี เพราะในอนาคตต้องยอมรับว่า การเตรียมพร้อมเรื่องกำลังพลโดยเฉพาะผู้บังคับหน่วย ลงไปถึงระดับผู้บังคับกองพัน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการพร้อมรับการปรับตัวเข้าประชาคมอาเซียนต้องอาศัยการเตรียมตัว โดยเฉพาะความรู้เรื่องภาษาอังกฤษ ความรู้นอกกองทัพ ที่ไม่ใช่เฉพาะความรู้ในกองทัพ จะมีความจำเป็นในวิชาชีพของทหาร กล่าวคือ ทหารต้องเปิดการรับรู้ สร้างโลกทัศน์ใหม่ ความกังวลใจใหม่ ที่ไม่ใช่ปัญหาเดิม ๆ อาจเกิดจากการที่เหล่าทัพไม่มีความพร้อม “ พล.อ.วีรวิท กล่าว
เขากล่าวว่า ต่อไปเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความสำคัญอย่างมาก ยุทธศาสตร์โลก ยุทธศาสตร์อาเซียนเป็นเรื่องที่ผู้บังคับหน่วยต้องรู้ การเลือกคนเป็นผบ.หน่วย ตั้งแต่ระดับ ผู้บังคับกองพัน โดยเลือกคนที่มีความรู้ ความสามารถจริง จะตอบโจทย์ และแก้โจทย์เดิมๆ เรื่องความไม่เป็นธรรมในการโยกย้ายได้ด้วย การจัดสมดุลทั้งในแง่การบังคับบัญชาของผู้บังคับบัญชาก็จะเข้าที่เข้าทาง ทหารไม่ต้องไปคิดเรื่องการถูกแทรกแซง เพราะมีคนไปวิ่งนอกกองทัพ ความกังวลของฝ่ายการเมืองต่อการปฏิวัติรัฐประหารก็น้อยลง เพราะกองทัพต้องเตรียมตัวเองในการรับภารกิจใหม่ๆ และ ง่วนอยู่กับงานการทหารแท้ๆ
ดูเหมือนว่าความคาดหวัง จากการคัดสรรคนที่จะมาเป็นผู้บังคับหน่วย โดยใช้ระบบที่วัดผล ประเมินผลในเชิงที่เป็นวิทยาศาสตร์ น่าจะช่วยทำให้ระบบการแต่งตั้งโยกย้ายมีหลักในการพิจารณาได้บางส่วน ไม่ใช่เลือกคนจากความเหมาะสม และ ระบบพวกพ้อง ที่เคยทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกมาในอดีต แต่นั่นอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมภายนอกกองทัพที่เปลี่ยนไป และ บีบให้เกิดเงื่อนไขในการปรับตัวเองไปโดยปริยาย จึงทำให้ผู้นำทางทหารต้องเตรียมพร้อมในทุกด้าน โดยเฉพาะการเลือกตัวผู้บังคับหน่วย ที่ต้องมีวิสัยทัศน์พอที่จะเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลงไป และการเมืองไทยที่จะต้องรับรู้ว่ากองทัพได้เริ่มปรับตัวเองแล้ว