แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
รื้อหลักสูตรวปอ. หมดยุคก๊วน”อีลีท” สร้างโอกาส
เขาย้ำเรื่องดังกล่าวในช่วงระหว่างไปตรวจเยี่ยมกองบัญชาการกองทัพไทย ในฐานะหน่วยบังคับบัญชาของ วปอ. และให้ไปคิดแนวทางการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสม และ ปฏิบัติได้จริง “ผมอยากให้ทำเอกสารวิจัย หรือทำยุทธศาสตร์ของประเทศที่รัฐบาลนำไปใช้ได้ เช่นตอนนี้ปัญหาของประเทศคือ ปัญหาเรื่องน้ำอุทกภัย ปัญหาเศรษฐกิจ เมื่อคนระดับหัวกระทิ คนชั้นนำ ระดับแนวหน้ามาเรียนร่วมกันอยู่ร่วม 1 ปี ก็ต้องมาคิด และทำแผน เพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เป็นแค่เอกสาร เป็นกระดาษเก็บเข้าไว้ในตู้หนังสือ”
เมื่อย้อนกลับไปดูปณิธานของ วปอ. ระบุได้ว่า “จะต้องเป็นสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าในภูมิภาคเอเชีย และ มีความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ด้านยุทธศาสตร์ และ ความมั่นคงในทุกมิติ” มุ่งเน้นปรัชญาที่ว่า “พึงใช้ความรู้ความเข้าใจในวิทยาการชั้นสูงด้านยุทธศาสตร์ กอปรกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และ การประสานงานอย่างแน่นแฟ้นของผู้บริหารระดับสูงของประเทศ เป็นพื้นฐานในการรักษาความมั่นคงและสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ประเทศชาติ”
เดิม วปอ.จะมีทหารเข้ารับการศึกษาเป็นหลัก แต่ระยะหลังเริ่มเปิดโอกาสให้หัวหน้าส่วนราชการ และเอกชน เข้าร่วมรับการศึกษาด้วย จนริเริ่มให้เปิด “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน” (NATIONAL DEFENCE COURSE FOR THE JOINT STATE PRIVATE SECTOR) เรียกโดยย่อว่า หลักสูตร ปรอ.
จนกระทั่ง พลเอก ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้นได้มีดำริให้ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเปิดหลักสูตรการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้นักการเมืองได้มีส่วนร่วมเข้ารับการศึกษาในลักษณะเดียวกัน เพราะมีความเห็นว่าภาคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายความมั่นคงแห่งชาติและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรจึงได้เปิดการศึกษา “หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐเอกชนและการเมือง” หรือ วปม. ขึ้นมาอีก1หลักสูตร แต่เปิดมาได้ 4-5 รุ่นก็ปิดหลักสูตรไป แต่กลับมาเปิดหลักสูตรใหม่อีกครั้ง ในปีนี้ เมื่อช่วงที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นรมว.กลาโหม
ความพยายามที่จะให้ วปอ. เป็น THINK TANK เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศกับผู้นำประเทศ เช่นเดียวกับ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ทำอยู่นั้น เป็นหลักการที่ดี เพียงแต่ความเป็นจริงของหลักสูตร วปอ. ไม่ได้ตอบสนองอย่างแท้จริง
มีคนเคยวิจารณ์ว่า วปอ.นั้น เป็นหลักสูตรที่สร้างความแตกแยกในสังคม ในแง่ที่ว่าเป็นการรวมตัวของ elite หรือชนชั้นนำ ช่วงหนึ่งคอนเนคชั่นของคนกลุ่มหนึ่งที่เรียน วปอ. กลายเป็นเครือข่ายทางทางการเมืองที่กระจายไปในทุกแห่งในกระทรวง ทบวง กรม ในหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ความสัมพันธ์จึงเป็นลักษณะทางขวาง แนวระนาบ เป็นขนมชั้น ที่ไม่ใช่แนวดิ่ง
ที่สำคัญคือ หลักสูตรดังกล่าวจะใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งหมด โดยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่อหัวประมาณ 3-4 แสนบาท (ระยะเวลา 1 ปี) รวมค่าใช้จ่ายการดูงานในประเทศ และนอกประเทศ ซึ่งใน 3 หลักสูตรมีผู้เข้ารับการศึกษาจำนวน 260 คน การคัดเลือกจะมีสภาวปอ. มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ผู้ที่ได้สิทธิ์มักจะถูกล็อคเฉพาะคนที่มีใกล้ชิด หรือ รู้จักกับกรรมการสภาฯ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสิทธิของการได้ที่นั่งในหลักสูตรนั้นๆ โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ จะมีโควตาเฉพาะเพราะเป็นส่วนที่สนับสนุนงบประมาณให้ วปอ.มาตลอด
“จริงๆ มันเหมาะในช่วงสงครามเย็น ช่วงตอนที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านทรงริเริ่มก่อตั้งหลักสูตรนี้ แต่ตอนนี้อยากให้มีการยุบ หรือ ยกเลิกหลักสูตร วปอ.ไปเลย มันทำให้คนระดับ elite ผนึกแน่นในระดับระนาบมากขึ้น การเข้ามาศึกษาไม่ได้สอดคล้องกับเป้าหมายทีเป็นประโยชน์โดยส่วนรวมของสังคม แต่เป็นการตอบสนองคนกลุ่มเดียว พวกเดียวกัน " ผู้ที่อยู่ในแวดวง วอป.ท่านหนึ่งระบุ
ในสถานะของทหารเอง ในหลักสูตรบริหารทั้ง 3 หลักสูตร ก็แตกต่างกัน ในส่วนของ วปอ. จะเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งหลัก เป็นผู้บังคับหน่วย หรือ มีแนวโน้มว่าจะได้รับการโปรโมทขึ้นตำแหน่งหลัก โดยเฉพาะ แม่ทัพภาค หรือ ผู้บัญชาการกองพบ ซึ่งคนเหล่านี้เพื่อนร่วมรุ่นโดยเฉพาะนักธุรกิจ หรือ ข้าราชการ จะห้อมล้อม จะได้รับ ส่วนหลักสูตรถัดมาทหารที่อยู่ในตำแหน่งประจำ หรือ มีโปรไฟล์ที่ไร้อนาคต ก็จะไม่ได้รับความสนใจ
“มันเป็นหลักสูตรที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก รอเพื่อนกูเป็นใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้ตัวเอง “ เสียงจากคนในแวดวงเดิมระบุ
วปอ. อาจเรียกได้ว่าเป็น “หัวเชื้อ” ในการสร้างหลักสูตรผู้บริหารชั้นสูงในองค์กรอื่นๆ ขึ้นมา โดยปัจจุบันมีทั้งหมด 6 หลักสูตร วปอ. , ปปร.ของสถาบันพระปกเกล้าฯ , วตท. ของตลาดหลักทรัพย์ ,บยส. ของกระทรวงยุติธรรม Tepcot ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นต้น แต่ขณะนี้ที่มาแรงที่สุดคือ วตท.และTepCot ที่ทำร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ฯ หรือร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม
นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรอื่นที่ เทียบเคียง และถูกคนใน วปอ.เองต่อต้านว่าเป็นหลักสูตรที่ก็อปปี้จาก วปอ.นั้นก็คือหลักสูตรสำหรับผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น ของสถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า
พร้อมกันนั้น ธรรมเนียมปฏิบัติ และ โปรแกรมการเรียนการสอนในหลักสูตรอื่นก็จะล้อจากหลักสูตรของ วปอ.เป็นหลัก เช่นการดูงานต่างประเทศ การนัดสังสรรค์สัมมนาเกือบทุกสัปดาห์ เลยไปถึงการจัดหมู่ลูกเสือเพื่อทำกิจกรรมละลายพฤติกรรม ซึ่งคนที่เข้ารับการศึกษาส่วนใหญ่มักจะแย่งเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่คนมีอำนาจ หรือ มีชื่อเสียงเป็นหลัก
“มันเป็นการตอบโจทย์ของกลุ่มผลประโยชน์ ไม่ใช่ตอบโจทย์ของสังคม สังเกตได้จากกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ที่ถอดรหัสตัวนี้ได้ จะเห็นได้ว่าตระกูลนี้จะส่งคนในตระกูล คนใกล้ชิด หรือ คนของเขาเข้าไปศึกษาที่ หลักสูตร สจว.ของสถาบันจิตวิทยาเพื่อความมั่นคงก่อน คนเหล่านั้นก็จะไปเรียนต่อที่ วปอ. เวลามีงานเลี้ยงเปิด – ปิด หลักสูตร คนตระกูลนี้คือ โต้โผ หรือ สปอนเซอร์ในการจัดเลี้ยง หรือ กลุ่มบริษัทท่องเที่ยว ทำธุรกิจขนส่งก็จะได้เข้ามาเรียนเพราะรู้ว่าต้องพานักศึกษาไปดูงานต่างจังหวัด คนในรุ่นจะได้งาน แถมได้คอนเนกชั่นจากนักศึกษาที่เป็นผู้บริหาร เวลาหน่วยงาน หรือ กระทรวง ทบวง กรม ไหนต้องจัดงาน เดินทางไปดูงาน บริษัทก็จะเข้าไปรับงาน จับงานตรงนั้นได้ง่าย “
ส่วนกิจกรรมของ นักศึกษา ที่น่าจะมีสัดส่วนมากกว่า การเล่าเรียนเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ เป็นจุดที่ถูกวิพากย์วิจารณ์มากที่สุด โดยเฉพาะการที่หลายคนไม่ได้สนใจการเรียนการสอน การบรรยาย หลายครั้งที่เห็นนักศึกษาโดดเรียนไปตีกอล์ฟกัน ส่วนการวิจัยฯ เจ้าตัวก็มักให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำให้ และ กลุ่มรวมที่ทำเอกสารยุทธศาสตร์ก็จะมีแกนหลักไม่กี่คน การระดมความเห็นไม่ได้นำไปสู่เนื้อหาที่เป็นประเด็นในการแก้ไขปัญหาส่วนรวม แต่เป็นเพียงความเห็น และ สีสันที่ถูกบรรจุลงไปอย่างกระจัดกระจาย กว้างขวาง
“อาจกล่าวได้ว่าปัญหาที่เจอกันมากคือ เรื่องชู้สาว เหมือนคนแก่ที่มารวมกันเหมือนถูกปล่อยผี มีการคลุกคลีทำกิจกรรม ไปต่างจังหวัด กินเหล้า สังสรรค์กันบ่อย สร้างปัญหาครอบครัวเพราะทุกรุ่น มีปัญหาเกิดขึ้นทุกปี อย่างเช่นหลักสูตร บยส.ของกระทรวงยุติธรรม มีผู้พิพากษา และ อัยการมาเรียนร่วมกับผู้บริหารภาคอื่น มากินเหล้า สังสรรค์เฮฮาเกิดความโน้มเอียงในทัศนคติ เป็นหลักสูตรแรกที่ควรล้มเลิกเป็นอันดับแรก”
ไล่เลียงข้อมูลแล้ว พอจะได้เห็นภาพของ หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้อย่างกว้างขวาง แต่ฉากหน้าของคนที่เรียกว่าชนชั้นนำ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหาทางออกให้กับสังคม พร้อมแก้ไขปัญหาระดับชาติ แต่ดูเหมือนข้างในจะกลวงและฟอนเฟะอยู่มิใช่น้อย