แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
วังวน เวียนวน บรรยากาศ "ปรองดอง" ฉบับสถาบันพระปกเกล้า
ความขัดแย้งที่สะสมจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่หลายฝ่ายต้องการคืออยากเห็นข้อยุติเพื่อให้เกิดความปรองดอง และนำความสงบสุขกลับคืนสู่บ้านเมืองอีกครั้ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีความขัดแย้งได้มีข้อเสนอปรองดองจากหลายฝ่ายออกมาเพื่อเป็นแนวทางการศึกษา
และเมื่อไม่นานมานี้ สถาบันพระปกเกล้า เปิดข้อเสนอที่ได้จากการวิจัยให้แก่สาธารณชนให้รับทราบอย่างเป็นทางการ ก่อนจะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติต่อไป
นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นำทีมผู้วิจัยแถลงถึงโครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยระบุ ทั้งหมดมีฐานคิดและหลักวิชา ที่สะท้อนให้เห็นว่าในสังคมมีปัญหาและความขัดแย้งสูง ดังนั้น ข้อเสนอของทีมผู้วิจัย จึงไม่อาจเป็นยาสูตรสำเร็จในการปรองดอง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ประเทศไทยก็ยังไม่มีบรรยากาศของการปรองดองแม้เราจะปรารถนากันก็ตาม
“ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของอุดมการณ์ แต่เกี่ยวกับการทำงานทางการเมือง ฉะนั้นการให้ "อภัย" จึงเป็นเรื่องสำคัญ"
"และนี่คือที่มาของข้อเสนอ การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจากความขัดแย้งทางการเมือง 2 แบบ คือการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดจากผู้ชุมนุมทางการเมืองและคดีอาญาจากแรงจูงใจทางการเมือง หรือไม่นิรโทษกรรมในคดีอาญาที่เกิดจากแรงจูงใจทั้งหมด ทั้งนี้ ให้ยกเว้นคดีความผิดอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าอยู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและให้ดำเนิน การตามปกติ” ในส่วนนี้ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า บอกว่า ทางคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต้องนิยามต่อไปอีกว่า อะไรคือแรงจูงใจทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี 2549-2553 ที่นำมาสู่การสูญเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100 คน นั้น ความรู้สึกของประชาชนหลังจากเหตุการณ์ มีผลต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เห็นว่า เรื่องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม รวมถึงการลดเงื่อนไขการกล่าวอ้างว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดำเนินการกับผู้ถูกกล่าวหา โดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. นั้น มี 3 ทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ คือ
1.ดำเนินคดีกับผู้กล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. ให้สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เพื่อดำเนินการใหม่ โดยไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
2.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่า คดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ
และ 3.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาอีกครั้ง
ซึ่งจาก 3 ทางเลือกดังกล่าวนี้ ไม่ว่ากรณีใด นายวุฒิสาร ให้ทัศนะว่า จะต้องไม่เรียกร้องให้ คตส. เป็นผู้ผิด อีกทั้งไม่สามารถจะดำเนินคดีกับ คตส.ได้ เนื่องจากเป็นการทำงานที่ชอบและปฏิบัติตามหน้าที่ในขณะนั้น
นอกจากนี้ ทางผู้วิจัย ยังมองไปถึงการกำหนดกติกาการเมืองที่อาจรวมถึงการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ยังมีความสำคัญในระยะสั้น ซึ่งเรื่องที่เห็นว่า ต้องเร่งปรับปรุง คือ ในส่วนของการยุบพรรคการเมือง เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นปัญหาและกลายเป็นข้ออ้างของกติกาทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อระบอบประชาธิปไตย
การหาแนวทางสร้างความปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า กว่าจะมาถึงข้อเสนอทั้งหมดนี้ ได้ผ่านกระบวนการการทบทวนแนวคิดและทฤษฎี พร้อมกับสรุปบทเรียนจากเวทีประชาเสวนาช่วงเดือนธันวาคม 2553 – มิถุนายน 2554 อีกทั้งมีการศึกษาถึงประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ 10 ประเทศ อันได้แก่ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย โมร็อกโก เยอรมนี รวันดา สหราชอาณาจักร (กรณีไอร์แลนด์เหนือ) อินโดนีเซีย (กรณีอาเจะห์) และแอฟริกาใต้
ก่อนจะลงลึกสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 47 คน ประกอบด้วยนักการเมืองอาวุโส ผู้มีบทบาทในเหตุการณ์ความขัดแย้งด้วย โดยใช้คำถามปลายเปิด สำหรับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 120 วัน
นางสาวณัชชาภัทร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เล่าถึงการไปสัมภาษณ์ให้ฟังว่า บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ขัดแย้ง
เมื่อถามว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น ขัดแย้งกับใคร....
บางกลุ่ม ก็บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณนั้นขัดแย้งกับรัฐไทย ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด รวมถึงสถาบันทางการเมือง ประชาชนคนไทย และหลักนิติรัฐของประเทศไทย
ในขณะเดียวกันบางกลุ่ม บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ขัดแย้งกับกลุ่มการเมืองตรงข้ามตนเอง โดยรวมถึงกลุ่มนอกระบอบประชาธิปไตยหรืออำมาตย์ หรือเผด็จการทางทหาร
“แม้มุมมองความขัดแย้งจะมีจุดที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย แต่เราก็พบจุดร่วมกันคือ มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นตัวแสดงหลัก” นักวิชาการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สรุป
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่เห็นพ้องกันอีกเรื่องคือ ปัญหาของความขัดแย้งนั้นเกิดจากความไม่เป็นธรรม และยังมีการตีความของคำว่า “ไม่เป็นธรรม” ที่แตกต่างกันด้วย
บางกลุ่ม...เห็นว่าเริ่มมาจากการแทรกแซงผลการเลือกตั้ง จนนำมาสู่การตั้งองค์กรพิเศษที่ขัดกับหลักนิติธรรม มีการพูดถึง คตส. และการใช้สถาบันตุลาการทำลายความเป็นธรรมในสังคม
ขณะที่ในอีกมุมมองหนึ่ง.... ก็เห็นว่า สาเหตุเริ่มมาตั้งแต่การเกิดเผด็จการรัฐสภาและเกิดตั้งแต่การเลือกตั้งใน พ.ศ.2548 ที่มีควบรวมพรรคการเมือง รวมทั้งการที่พรรคไทยรักไทยมีอิทธิพลเหนือสถาบันนิติบัญญัติ และการลอยตัวเหนือการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น
สำหรับประเด็นที่ละเอียดอ่อนและเป็นที่พูดถึงกันมากในสังคม เรื่อง...นิรโทษกรรม
ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิก็มีความแตกต่างกันไป ซึ่งสะท้อนถึงจุดยืนได้ว่า อยู่ฝ่ายใด เพราะมีบางกลุ่มปฏิเสธการนิรโทษกรรม โดยมองว่า คนเหล่านั้นไม่ผิดและไม่มีส่วนในการเกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งนั้นต้องการให้มีการนิรโทษกรรมในลักษณะที่แตกต่างกันไป
ด้วยความเห็นที่หลากหลายข้างต้น ทางผู้วิจัยยอมรับว่า มีหลายเรื่องที่ไม่สามารถสรุปได้ และที่น่าเศร้าใจ คือ ถึงวันนี้การสร้างบรรยากาศของการปรองดอง ก็ยังไม่เกิด
"แม้ว่าทุกฝ่ายมองว่าควรจะปรองดอง แต่จุดยืนของแต่ละฝ่ายยังชัดเจนมาก ฉะนั้นจึงนำมาสู่มุมมองการสร้างความปรองดองที่แตกต่างกันด้วย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างยึดตัวเองอยู่กับจุดยืนทางการเมืองอย่างเหนียวแน่น
ทีมวิจัยจึงขอเรียกร้องให้มีการเสียสละและทำตามที่พูดอย่างแท้จริง และงดการปฏิบัติที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เพราะถ้าไม่หยุดจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการสร้างความปรองดอง”
แล้วการจะออกจากวังวนนี้ไปได้ ต้องทำอย่างไร ดร.สติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า เราต้องทราบถึงที่มาของความขัดแย้งเสียก่อน
"วังวนของปัญหา ปัญหาใจกลาง คือ มุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอำนาจและทรัพยากรในสังคม
โดยฝ่ายหนึ่งให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้ง ซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศอยู่ที่ “เสียงข้างมาก” ของประชาชน
ขณะที่อีกฝ่ายให้ความสำคัญกับ “คุณธรรมจริยธรรม” ของผู้บริหารประเทศมากกว่าความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่"
แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่จบอยู่แค่นั้น เมื่อความขัดแย้งได้แตกเป็น 2 ระดับคือ อุดมการณ์และผลประโยชน์ที่มีการเกี่ยวข้องของตัวบุคคลและกลุ่มคน ทำให้ความขัดแย้งปะทุรุนแรงมากขึ้น มีการใช้อำนาจเพื่อปกป้องอุดมการณ์และรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
“บรรยากาศจะยังคงสลับหมุนเวียนกันไปเช่นนี้ เมื่อฝ่ายใดมีอำนาจก็จะใช้อำนาจอยู่อย่างนั้น และยิ่งเลวร้ายลงเมื่อมีตัวเร่งอันได้แก่ สื่อที่มาจากการเลือกเสนอและสื่อที่ถูกสร้างขึ้นมา” นักวิชาการสำนักวิจัยและพัฒนาฯ กล่าวทิ้งท้าย และว่า
....ถ้าไม่มีการตัดวงจรตั้งแต่บัดนี้ เกลียวจะยิ่งหมุนเร็วและเร่งจนบิดและขาดออกจากกันแบบที่ไม่สามารถประสานกันได้อีก ฉะนั้นสิ่งที่ควรต้องให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกในสังคมคือ การสร้างบรรยากาศของการปรองดอง ตามที่หลายฝ่ายอยากให้เกิด
7 ข้อเสนอ สร้างบรรยากาศปรองดอง
สำหรับกระบวนการสร้างบรรยากาศของการปรองดองนั้นทางสถาบันพระปกเกล้าได้เสนอไว้ 7 ข้อ ดังนี้
1.รัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงต้องการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยรัฐบาลต้องมีมาตรการให้ทุกภาคส่วนเห็น ถ้าผู้นำประเทศไม่แสดงเจตจำนงปรองดองโอกาสสำเร็จยาก
2.รัฐบาลต้องให้สังคมตระหนักให้เห็นความเสียหายที่สะสมมากและเห็นภาพอนาคตที่ดีของประเทศ
3.รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเยียวยาบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐบาลต้องเยียวยาอย่างเป็นธรรม รวมถึงไม่เฉพาะเยียวยาตัวเงิน แต่เยียวยาความรู้สึกก็จำเป็นด้วย
4.ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยสังคมผู้อยู่วงนอกต้องยุติการกระทำใดๆให้สังคมรู้สึกว่าไม่มีนิติรัฐ ดังนั้นกลไกกดดันอันผิดกฎหมายไม่ควรทำ
5. ทุกฝ่ายต้องลดความพยายามการกระทำหมิ่นเหม่ประเด็นเปราะบางสังคมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กลไกทั้งหลายต้องชะลออย่าเป็นตัวเร่งให้เกิดความไม่ไว้วางใจ
6.สื่อต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้ง โดยเฉพาะสื่อที่จัดตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และสื่อที่สังคมบอกว่าเลือกข้างไปแล้ว ดังนั้นสื่อต้องคลายความเขม็งเกลียว
7.สังคมต้องเลิกความคิดเอาผิดคนทำรัฐประหาร ทำผิดในอดีตทั้งหลาย เพราะจะเป็นการรื้อฟื้นความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้นการหาข้อยุติผ่านกระบวนการเจรจา หรือผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ ทาง กมธ.วิสามัญควรเริ่มต้นหาข้อยุติร่วมกัน และต้องเริ่มต้นหาข้อสรุปร่วมกัน
ดาวโหลด:โครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ
http://www.kpi.ac.th/kpith/index.php?option=com_content&task=view&id=1282&Itemid=270