แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
“3 อรหันต์” ผู้ตรวจการฯ ดักทาง ส.ส.ร. "ต้องฟังเสียงค้าน"
จากสถานการณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ(รธน.) ที่กำลังร้อน ขณะนี้รัฐสภาได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยยึดร่างรัฐบาลเป็นหลักในการพิจารณา ซึ่งกำหนดสูตร สสร.ให้มี 99 คนประกอบด้วย จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนรวม 77 คน และมาจากการสรรหาอีก 22 คน รวม 99 คน
ด้วยสูตรการจัดตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมา 99 คนนี้ สังคมตั้งข้อสังเกตและเคลือบแคลงไม่น้อยกับ 77 คน ที่มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ1คน ซึ่งการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากแต่ละจังหวัดจะหนีไม่พ้นการเมืองเข้าครอบงำ ขณะเดียวกันผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 244 ที่กำหนดให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตาม รัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติม จึงได้ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คน เพื่อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศราพูดคุยกับ ตัวแทน 3 ใน 10 อรหันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านรัฐศาสตร์ ประกอบด้วย ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า , ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตส.ส.ร.ปี 50 และ ศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ อดีตรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ถึงมุมมองต่อ สสร.สูตรที่รัฐบาลเสนอมาว่าจะมีรูปโฉมอย่างไร
เริ่มจาก ศ.ดร.สมบัติ ที่เห็นว่า การเลือกตั้งของประเทศไทยขึ้นอยู่กับพื้นที่ทางการเมืองของแต่ละพรรคค่อนข้างชัดเจน ซึ่งคำพูดสวยหรู ที่บอกว่าการเลือกตั้ง สสร.จะปลอดจากทางการเมืองนั้นคงเป็นไปไม่ได้พร้อมเปรียบเทียบ ส.ส.ร.ปี 2540 ให้ฟังว่า เป็นส.ส.ร.ที่กำหนดให้มีตัวแทนแต่ละจังหวัดเหมือนกัน แต่ความต่างอยู่ที่ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองที่มาจาก การแบ่งพื้นที่สีทีชัดเจน ลักษณะแบบนี้สังคมจะรับได้มากกว่า เพราะคนที่เข้ามามีความหลากหลายสูง
แต่ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้ขั้วการเมืองสูง บอกได้ล่วงหน้าเลยว่า ส.ส.ร.ที่ถูกเลือกตั้งมาจากภาคใต้ก็จะเป็นคนที่อยู่ภายใต้เครือข่ายของพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.ร.ภาคอีสาน ภาคเหนือ ก็จะอยู่ภายในพรรคเพื่อไทย หรือ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. และ ส.ส.ร.ภาคกลาง อาจจะมีหลากหลายพรรค แต่สุดท้ายแล้ว ส.ส.ร.ส่วนใหญ่จะเป็นพวกของพรรคเพื่อไทย หรือ นปช.และ เมื่อถึงเวลาผู้ทรงคุณวุฒิ 22 คน ที่รัฐสภาผู้เลือก เสียงรัฐสภาส่วนใหญ่ก็เป็นของพรรคเพื่อไทยอีกเช่นกัน เพราะฉะนั้น 22 คน ที่จะได้มาก็เป็นคนที่พรรคเพื่อไทยเห็นชอบด้วยจึงจะเสนอ และสนับสนุน“
ดังนั้น ส.ส.ร.99 คน มากกว่าครึ่งหนึ่ง จะเป็น ส.ส.ร.ที่มีความเห็นทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยเพราะฉะนั้นจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความขัดแย้งก็จะลงมติตามพรรคเพื่อไทย เพราะฉะนั้นฉายาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นฉบับ นปช. เพราะเรื่องแบบนี้เรามองเห็นตั้งแต่เริ่มต้น”
ข้อกังขาที่ว่า กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง จะส่งผลกระทบอย่างไรนั้น ศ.ดร.สมบัติ ระบุว่า สิ่งที่เราเห็นการเคลื่อนไหวในสังคมไทยจะไปประมาทหรือดูแคลนเขาไม่ได้ กลุ่มคนเหล่านี้เขามีทักษะในการเคลื่อนไหวสูง ถ้าปล่อยให้รัฐบาลแก้ไขประเด็นต่างๆที่มีพื้นฐานความขัดแย้งอยู่แล้ว กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยก็จะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน และประเด็นอะไรที่มีเสียงคัดค้านมาก ฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องถอยไปเอง แต่ถ้าภาพการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่นี้ วาระต่างๆแสดงให้เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อประเทศชาติก็ไม่มีปัญหา
ศ.ดร.สมบัติ อธิบายต่อว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าหากกฎหมายสูงสุดทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็จะได้รับการยอมรับสูง แต่ถ้าบางเรื่องไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และพยายามจะใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ อาจจะไม่สำเร็จ ใช่ว่ามีเสียงข้างมากแล้วจะทำอะไรได้สำเร็จได้ตามอำเภอใจ คนเสียงข้างน้อย แต่มีพลังมากในสังคม อาจทำให้คนที่มีเสียงข้างมากว่าหืดขึ้นคอได้เหมือนกัน
สำหรับทางออกที่จะให้การเมืองเข้ามาครอบงำได้น้อยที่สุดนั้น ด้วยตามสภาพขณะนี้ยังมองไม่เห็น เพราะเมื่อเขาใช้เสียงข้างมากตัดสิน ในแง่ของกระบวนการก็จะชนะ แต่จะเรียบร้อยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับ ศ.ดร.จรัส มองกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า เป็นการเมือง ไม่มีกระบวนการไหนที่จะปลอดจากการเมือง เพราะประเด็นการเมืองเป็นธรรมชาติ แต่ปัญหาคือ ตอนนี้เราจะด่วนพูดว่าดูดี น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ถือว่ายากอยู่ เพราะกระบวนการเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากแต่ละจังหวัด จะเป็นคนของพรรคการเมือง ไม่มากก็น้อย ดังนั้นจะมีส.ส.ร. ที่มาจากการเสนอชื่อ หรือ การสรรหาของสภาอีกชุดก็คงจะมาตามโควตาของพรรคอีกเช่นกัน แต่จะเข้ามาทำอะไร ต้องดูกันอีกทีเพราะคนที่เข้ามา กับคนที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญก็ได้เขียนไว้แล้วมันคนละเรื่องกัน ทำให้ส.ส.ร.ที่เข้ามีหน้าทีเพียงแค่ยกมือสนับสุนนสิ่งที่คนเขียนตั้งใจจะให้เป็นเท่านั้น
ศ.ดร.จรัส กล่าวอีกว่า ถ้ากระบวนการให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยคิด ช่วยเห็นและรับรู้ น่าจะมีส่วนช่วยให้ข้อครหายกร่างรัฐธรรมนูญดูไม่น่าเกลียดเกินไปก็ได้ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ร่างรัฐธรรมนูญทำให้ออกมาน่าเกลียดมาก สุดท้ายแล้วเชื่อว่าอะไรที่เป็นปัญหาต่อส่วนรวมคงจะมีคนโวยวาย มีกระบวนการบอยคอต ทั้งนี้จะได้ผลหรือไม่ก็แล้วแต่นั่นคืออีกเรื่องหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันถ้าเราไปกลัวก่อนคงไม่ดีเท่าไหร่ จะต้องรอดูกระบวนการไปก่อน
สำหรับผลกระทบในอนาคตหากกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญมีการเมืองเข้ามาแทรกแซงนั้น ศ.ดร.จรัส สำทับความเห็นเช่นเดียวกันว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆคือ ความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาในตัวมันเอง“
ถ้าส.ส.ร.ฉลาดพอ ต้องสร้างกระบวนการให้คนไว้ใจก่อน จะทำอะไรต้องพูดต้องคุย ต้องฟังกันกับสังคม ไม่ รีบร้อนที่จะทำตามใบสั่ง ทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่จะตรงข้ามถ้า ส.ส.ร.ทำตามใบสั่งเป็นหลักทุกอย่าง คนก็จะทะเลาะกันอย่างแรง จะเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่”
ศ.ดร.จรัส กล่าวต่อว่า สิ่งที่จะสามารถทำได้ในขั้นตอนต่อไปคือการอ่านเกมดูว่า ส.ส.ร.จะทำงานอย่างไรให้สามารถทำให้เป็นที่ไว้ใจของประชาชนได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าเขาคงคิดถึงเรื่องนี้เพราะเขาคงไม่มักง่าย น่าจะมีความพยายามทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คลอดออกมาให้ได้ โดยที่ไม่ให้เกิดอาการความวุ่นวายทางการเมือง
สำหรับมุมมองของ ศ.ดร.ธีรภัทร์ คิดว่าการเมืองมีโอกาสที่จะเข้ามามีอิทธิพล ในส.ส.ร. ได้อยู่แล้วด้วยเหตุที่ว่า ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฐานเสียงของนักการเมือง แต่จะมีอิทธิพลมากน้อยขนาดไหนคงตอบไม่ได้
ศ.ดร.ธีรภัทร ยังมีข้อเสนอแนะต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะแก้ไข มาตรา 291 อย่างไรเพื่อไม่ให้ การเมืองเข้ามามีอิทธิพลสูง ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเนื้อหาสาระที่สุดแล้วเราต้องให้เจ้าของอำนาจอธิปไตยหรือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เป็นผู้ให้คำตอบว่าอยากจะได้อะไรกระบวนการของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในความคิดเห็นส่วนตัว ขอเสนอให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้ให้ความชอบธรรม 3 กระบวนการ คือ 1.การจัดทำรัฐธรรมนูญ ควรจะทำประชามติเพื่อถามประชาชนก่อนว่าจะไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 หรือไม่ เพราะถ้าประชาชนตอบว่าไม่เอาคือต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าประชาชนตอบว่าเอาฉบับนี้อยู่ กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็จะเริ่มทำไม่ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ศ.ดร.ธีรภัทร ให้เหตุผลที่ต้องถามประชาชนก่อนเพราะ ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลพวงมาจากทำรัฐประหาร แต่ก็มีการทำประชามติผ่านความเห็นชอบจากประชาชนจำนวน 14 ล้านคนแล้ว
กระบวนการที่2. ถ้าประชาชนลงมติว่าให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ก็จะนำไปสู่การเลือก ส.ส.ร.ขึ้นมา ซึ่งจะมี ส.ส.ร.ที่มีตัวแทนจากจังหวัด จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการก็ดี เขาเหล่านี้จะไปเขียนรัฐธรรมนูญด้วยความอำเภอใจไม่ได้ แต่ต้องเขียนในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 291 ว่า ในระหว่างที่เขาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กระบวนการยกร่างต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาจาประชาชน โดยต้องกำหนดรูปแบบกระบวนการและกฎเกณฑ์ ให้รอบครอบ รัดกุม เพื่อไม่ให้เป็นการเขียนเช็คเปล่า ขณะเดียวกันมีหลายฝ่ายสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ทุกคำตอบต้องมาจากประชาชนเท่านั้น จากนั้นนำมาให้คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญในระดับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ เพื่อให้เขียนขึ้นมาตามความต้องการของประชาชนและ
กระบวนการที่ 3. เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้นำทั้งหมดไปทำประชามติอีกรอบหนึ่ง ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ ศ.ดร.ธีรภัทร ระบุว่า ถ้าเราทำประชาพิจารณ์คิดว่าเรื่องบางเรื่องในบางจุดที่ไม่ควรจะก้าวเกินเข้าไปกว่าที่ควรจะเป็น เช่น หมวดพระมหากษัตริย์ สิ่งสำคัญที่สุดและต้องทำคือ สื่อมวลชน ต้องให้สื่อเข้าไปอัดเทป บันทึกภาพ เพื่อให้ประชาชนเห็นกระบวนการดำเนินการทุกขั้นตอน ว่าเขาทำกันตรงไหน อย่างไร โปร่งใส หรือมีลับลมคมในอย่างไร ขณะเดียวกันเมื่อรับฟังประชาพิจารณ์แล้วก็นำมาดีเบตด้วยเหตุด้วยผลในสภาร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง เพราะถ้าเกิดความพลาดพลั้ง ประเด็นต่างๆอาจจะขัดกันเองได้ ไม่ใช่ไม่รับฟังเลยแล้วนึกอยากจะเขียนก็เขียน
อย่างไรก็ตามหากกระบวนการ 3ขั้นตอนนี้สามารถเกิดขึ้นได้จะมีความชอบธรรม คือใช้เสียงของประชาชนเป็นตัวตัดสิน แต่อาจจะต้องใช้เวลามากกว่าเดิม แต่ผลที่ได้รับจะคงทนถาวรกว่าที่จะสุกเอาเผากิน และหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะใช้อย่างคงทน ยั่งยืน เพราะฉะนั้นต้องยอมเสียเวลาและละเอียดอ่อน