แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เงาร่างรธน.ฉบับใหม่ “รื้อองค์กรอิสระ ช่วยคนไกล”
ที่สุดรัฐบาลก็เปิดเกมร้อนสู่การร่างกติกาใหม่ของประเทศ สำเร็จจากเสียงข้างมากที่มีอยู่ หลังเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ เปิดทางสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วยมติรับหลักการ 399 ต่อ 199 งดออกเสียง 14 เสียง
เกมยาวที่จะเกิดขึ้นจากนี้ร่วมปี คือ แรงต้านจากกลุ่มไม่เอาทักษิณที่เห็นว่า รัฐบาลใช้ประชาธิปไตยบังหน้าอ้างการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นประชาธิปไตย ลดวิกฤตความขัดแย้ง แต่วาระซ่อนเร้นที่แท้คือ เขียนกติกาปลอล็อคให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษคดีอาญาเดินทางกลับไทยโดยไม่ต้องมีความผิด
การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 291 ล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนาที่ร่วมรัฐบาลอยู่ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการรวบรัดตัดตอน แก้ไขให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งที่ยังมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 291 ของกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งสามฉบับถึงแม้ว่าสองฉบับ เมื่อตรวจสอบรายชื่อแล้วจะไม่ครบก็ตาม แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่รอร่างของเสื้อแดงอย่างที่ได้อ้างว่าเคารพในเสียงประชาชน
แม้แต่แกนนำเสื้อแดงอย่าง ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ที่ประกาศศักดาในวันที่นำร่างรัฐธรรมนูญพร้อมรายชื่อคนเสื้อแดง 6 หมื่นกว่าชื่อ ยื่นต่อประธานสภาว่า “นี่คือประวัติศาสตร์ที่ร่างของภาคประชาชนได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา” แต่สุดท้าย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขของเสื้อแดง ก็ถูกตัดทิ้งเพราะแกนนำนปช. ไม่รอให้ตรวจสอบเสร็จก่อนนำเข้าไปบรรจุในสภา เพียงเพื่อต้องการเร่งรัดแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่รัฐบาลต้องการ
การอภิปรายตลอด 2 วันระหว่างการพิจารณาแก้มาตรา291 เห็นเนื้อหาที่สมาชิกรัฐสภา ทั้งฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย+ชาติไทยพัฒนา สว. รวมถึงฝ่ายค้าน มีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และเนื้อหาใหม่ที่อาจจะบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจแยกย่อยประเด็นได้ ดังนี้
1. การแก้ไขในหมวด “พระมหากษัตริย์” ตั้งแต่มาตารา 8 จนถึงมาตรา 25
สว.สรรหา และ ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตุไว้หนักหน่วงเนื่องจากไม่ไว้ใจสถานการณ์การเมืองขณะนี้ จากกระแสให้แก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเรื่องการหมิ่นสถาบันเบื้องสูงที่นำเสนอโดยกลุ่มนิติราษฎร์และแนวร่วมเสื้อแดง ฝ่ายค้านตั้งคำถามว่า บรรยากาศปัจจุบันมีการละเมิดสถาบันสูง เว็ปไซด์ที่โจมตีในขณะนี้ รัฐบาลได้ตรวจสอบหรือไม่ว่า เป็นของมวลชนกลุ่มไหน และแม้ว่า ร่างของรัฐบาลจะเขียนล็อคไว้ว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีเนื้อหาล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์จะกระทำไม่ให้และต้องตกไป” แต่ก็เป็นคนละประเด็นเพราะ ไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีการเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์
โดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านได้ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้เขียนให้ชัดในชั้นกรรมาธิการว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่เข้าไปแก้ไขในหมวดนี้ ทำให้ตัวแทนรัฐบาล สุนัย จุลพงศธร สส.พรรคเพื่อไทยที่อภิปรายสรุปรับปากว่าจะดำเนินการให้เพื่อลดความหวาดระแวงและ ทำหน้าที่ให้เป็นพสกนิกรที่ดีในการเทิดทูนสถาบัน
2. ให้มีการ “เลือกตั้งนายกรัฐมนตรีทางตรง” ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา
จุดพลุเรื่องนี้ในการนำเสนอหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามร่างของพรรคชาติไทยพัฒนา ให้เหตุผลว่า ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ส.ส.ร.ขณะนั้นไม่กล้าพิจารณาประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่วันนี้ในระดับท้องถิ่นตั้งแต่ระดับนายกอบจ.ก็เป็นการเลือกตั้งผู้นำโดยตรงแล้ว ดังนั้น ก็ควรกลับมาพิจารณาได้ ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยก็ตอบรับ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย เห็นว่า เป็นข้อเสนอที่ดีและไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวหรือ เลือกประธานาธิบดี เพราะการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เลือกในหลวง ถึงอย่างไรพระองค์ยังทรงเป็นประมุขต่อไป การเลือกแบบนี้เหมือนกับการเลือกนายก อบต.ทั้งหลาย
3. ยกเลิกความผิด “ยุบพรรค” และตัดทิ้ง บทลงโทษให้กรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)ถูกตัดสิทธิ์เลือกตั้งหรือเว้นวรรคการเมือง 5 ปี กรณีกก.บห. ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
ประเด็นนี้ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนามีความคับแค้นอย่างมากเพราะได้รับผลกระทบที่ถูกยุบพรรคโดยตรง จนเขียนไว้ในหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่สองพรรคนำเสนอว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญ2550
พรรคชาติไทยพัฒนาโดยชุมพลระบุว่า รัฐธรรมนูญนี้ทำให้พรรคการเมืองเป็นอัมพาต ถูกยุบเป็นว่าเล่น ถ้าไม่ได้แก้ อนาคตพรรคการเมืองสูญพันธุ์แน่ สภาพพรรคการเมืองเป็นพรรคนอมินีทั้งนั้น กรรมการบริหารก็นอมินี ทุกคนหลบฉากหมด ขณะที่ นักการเมืองก็ตกเป็นของคนสวน คนใช้ อย่างที่เกิดขึ้นในเมืองไทยปัจจุบัน บทบัญญัตินี้บอกว่า ถ้าผิดไม่เฉพาะลงโทษผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น ยังถือว่าคนทั้งหมดในบ้านหรือพรรคผิดด้วย และยังถือว่าบ้านทำผิดด้วย ก็ต้องรื้อให้หมด
เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่เขียนไว้ในหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ2550 ไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความไม่มั่นคง ต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน
ประเด็น ยุบพรรค ความผิดเหมาเข่งจึงน่าจะถูกยกเลิกทิ้งแน่นอน
4. ล้างบาง “องค์กรอิสระ” ยุบ “ศาลฎีกานักการเมือง” ทิ้ง
เหตุผลของร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเขียนตรงกันว่า ปัญหาอีกเรื่องในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ กระบวนการ ได้มาซึ่งองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และการ ได้มาซึ่งบุคคลองค์กรอิสระต่างๆ ขาดการเชื่อมโยงกับอำนาจของประชาชนและขัดต่อหลักความเป็นประชาธิปไตยและเปิดช่องให้มีการตัดสิน “สองมาตรฐาน”
การอภิปรายของสส.สองพรรคนี้รวมถึง สว.เลือกตั้งสายรัฐบาลส่วนใหญ่ต่างถล่มไปที่องค์กรอิสระอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ไม่แต่พุ่งที่ไปตัวองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญหรือ ปปช. ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยได้รับผลกระทบตรงเท่านั้น ยังแตะไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลปกครองที่ถูกมองว่า พิจารณาซ้ำซ้อนกับ ศาลรัฐธรรมนูญ
คำอภิปรายที่แหลมคมสุดมาจาก วัฒนา เมืองสุข สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คนใกล้ตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นผู้เดินเกมปรองดองอยู่ ที่ว่า ต้องมีการปรับปรุงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากมีหลักการขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ที่กำหนดให้ผู้ถูกพิพากษามีสิทธิได้รับการต่อสู้คดีในศาลที่สูงกว่า แต่ของไทยเป็นระบบตัดสินแบบศาลเดียว แม้ว่าในรัฐธรรมนูญ 2550 จะกำหนดให้สามารถยื่นอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐานใหม่โดยให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณา แต่ก็ยังมีคำถามว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาถือเป็นศาลสูงกว่าในความหมายตามกติการะหว่างประเทศดังกล่าวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านจับทางว่า นี่เป็นหัวใจหลักที่รัฐบาลต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนที่มาองค์กรอิสระและกำหนดกติกาใหม่ที่มาที่เอื้อกับเสียงข้างมากให้พรรคเพื่อไทย หรือเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ และอาจถึงขั้น โละทิ้งองค์กรอิสระหมดก็ว่าได้ เนื่องจาก มีคำให้สัมภาษณ์ของฝ่ายกฎหมายเพื่อไทยว่า ควรยกเลิกองค์กรอิสระ เพราะเป็นอำนาจที่ 4 ที่ใช้อำนาจตรวจสอบเหนือสภาผู้แทนราษฎร และเหนือรัฐบาลซึ่งมาจากตัวแทนประชาชน
โดยองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการทุจริต ปัจจุบัน ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างเสร็จ มีแนวโน้มสูงที่ กรรมการในองค์กรอิสระเหล่านี้จะพ้นจากตำแหน่งและคัดเลือกกันใหม่ด้วยโครงสร้าง ที่มา ที่จะถูกกำหนดโดยสสร.ชุดใหม่
5. สว.ให้มาจากการเลือกตั้ง
ถึงแม้ประเด็นนี้พรรคเพื่อไทยจะไม่หยิบมาอภิปรายกันมาก เพราะยังต้องพึ่งเสียงสว.ในการผ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ในวาระสุดท้าย แต่ก็มีซุ่มเสียงให้แก้ไขที่มาของ สว.จากปัจจุบันที่เป็นลูกผสมระหว่าง สว.เลือกตั้ง กับ สว.สรรหาฝ่ายละครึ่ง เป็นให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมดโดยอ้างว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน และเมื่อวุฒิสภาใช้อำนาจตรวจสอบรัฐบาลด้วยดังนั้นก็ต้องมีที่มาจากประชาชน
6. แก้ไขที่มาตุลาการ ผู้พิพากษาให้ยึดโยงประชาชน
ประเด็นนี้ไม่มีบทสรุปหรือการนำเสนอว่า จะมีวิธีการ กลไกอย่างไร หรือจะแก้จุดไหน จะที่มาของ ผู้พิพากษา หรือ องค์คณะตุลาการ เพียงแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาหลายคน พูดหลักการกว้างๆว่า ต้องหาระบบถ่วงดุลอำนาจขององค์กรตุลาการ ซึ่งตรงกับหลักคิดของ “ธิดา ถาวรเศรษฐ์” เมื่อตอนเสนอร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาว่า จะต้องแก้ไขให้ตุลาการเชื่อมโยงกับประชาชน
อย่างไรก็ตาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แย้งว่า เรื่องนี้ละเอียดอ่อนเพราะไม่มีที่ไหนในโลกให้ศาลมาจากการเลือกตั้งเพื่อมาตัดสินสิ่งถูกสิ่งผิด เสียงข้างมากมีไว้เพื่อเลือกรัฐบาลมาปกครองประเทศ ไม่ใช่มาตัดสินคดีความถูกต้อง
7.นิรโทษกรรม ล้างผิดให้พ.ต.ท.ทักษิณ และพวก
เป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านและสว.สรรหาอภิปรายอย่างกว้างขวางว่า นี่คือเบื้องหลังหรือวาระซ่อนเร้นในการล้มล้างรัฐธรรมนูญนี้และเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อช่วยเหลือคนต่างประเทศ โดยจับคำพูดของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ปราศรัยที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี มาเป็นหลักฐานที่ว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะออกกฎหมายปรองดองเพื่อให้พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับบ้าน พร้อมกับคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช.และสส.พรรคเพื่อไทยที่ว่า เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็จะได้เดินทางกลับไทย ถึงแม้ทั้ง ร.ต.อ.เฉลิม และ นพ.เหวงจะปฏิเสธ แต่ฝ่ายค้านบอกว่า ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญวันนี้ ก็ไม่มีใครเดือดร้อน นอกจากพรรคเพื่อไทยและคนทางไกลเท่านั้นที่เดือดร้อน
เหล่านี้เป็นพิมพ์เขียวหลักที่อาจปรากฎในเนื้อหา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเป็นผู้กำหนดเกมอยู่ ...