แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
การขยับตัวต่อ“การก่อการร้าย” นิยามของรัฐที่ควรปรับเปลี่ยน
หลังเกิดเหตุระเบิด 3 จุด ที่ซอยสุขุมวิท 71 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คำถามที่ทุกคนตั้งขึ้นมาหลังจากนั้น คือ กลุ่มปฏิบัติการเหล่านี้คือกลุ่มก่อการร้ายหรือไม่? มีเป้าหมายต่อการปฏิบัติการอย่างไร? แล้วไทยจะถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างสองชาติหรือไม่ ?
เพราะที่ผ่านมาเราคุ้นเคยแต่การเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีกลุ่มก่อความไม่สงบ ที่ใช้วิธีการก่อการร้ายเป็นยุทธวิธี และ ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐไทยมาตลอดหลายปี ส่วนการก่อการร้ายสากลเต็มรูปแบบนั้น น่าจะนับครั้งได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
นักวิชาการด้านความมั่นคง และ ด้านการทหาร เช่น พ.อ.ดร. ธีรนันท์ นันทขว้าง เจ้าของเว็บไซต์ ท.ทหาร เป็นผู้ที่ออกมาตอบข้อสงสัยในหลายสื่อ เพื่อปูพื้นฐานให้สังคมได้เข้าใจสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมักไม่ค่อยเจอกับเหตุการณ์เหล่านี้เท่าใดนัก จะมีเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการก่อการร้ายสากลน้อยมาก เช่น กรณีกองกำลังก็อดอาร์มี่บุกเข้ายึดโรงพยาบาลราชบุรี การจี้เครื่องบินของสายการบินหนึ่งเข้ามาในประเทศไทย เป็นต้น
“แต่เหตุการณ์ที่สุขุมวิทนี้มันไม่ใช่การก่อการร้ายตามนิยามเก่าที่มันมีอยู่ แต่อันนี้มันเป็นการปฏิบัติลับ โดยการใช้จารชนของสองประเทศในการเข้าปฏิบัติการ อาจเรียกได้ว่าเป็น covert operation เหมือนหนังสายลับที่เราไปดูในหนังฮอลีวู้ด ที่การเข้าปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ของตัวเองที่มีอยู่ทั่วโลก มันไม่ได้แสดงท่าทีเรื่องก่อการร้าย เพราะคู่ขัดแย้งที่เขาทะเลาะเขาใช้สงครามจารชน เป็นเอเย่นต์เข้ากระทำการ อาจจะเป็นองค์กร ฯ แต่ไม่ใช่กลุ่มงานก่อการร้าย แต่เป็นหน่วยงานลับของประเทศนั้นๆ เข้าไปทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศตัวเอง ประเทศไทยเราเรียกว่า สายลับ ประเทศอื่นๆ ที่เขาเกี่ยวข้องก็ไม่ได้ตระหนก เพราะเป้าหมายคือวีไอพี คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอล ที่จะเข้ามาในประเทศไทย” พ.อ.ธีรนันท์ ให้นิยามการปฏิบัติการของชาวอิหร่านที่ถูกทางการไทยตั้งข้อหา และ ออกหมายจับ
เขายังมองว่า การนิยามว่าเป็นก่อการร้ายหรือไม่ ต้องดูว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติเราจะได้รับอะไร ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงของไทยมีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของคนไทย กับ ผลประโยชน์ของชาติ เราไม่มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของชาติตะวันตก ซึ่งหน่วยงานความมั่นคงก็จะทำงานของเขาไป แต่การจะประกาศออกมา อาจจะยิ่งส่งผลเลวร้ายในการที่ทำให้เราเป็นเป้าปฏิบัติการในอนาคตก็ได้ เพราะฉะนั้นการแสดงท่าทีคือยังไม่จำเป็นต้องรีบแสดงว่ามันเป็นอะไร ในฐานะการมองในระดับนโยบาย อย่างประเทศอินเดีย หลังเกิดเหตุเขาประกาศชัดเจนว่า ถึงจะเป็นอย่างไรก็ซื้อน้ำมันจากประเทศอิหร่านต่อไป เป้าหมายเขาไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์
“ตอนนี้ อิสราเอลอยู่ในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ อัตราการว่างงานสูง การปฏิบัติการทางทหารเป็นเรื่องที่มีราคาแพง จึงมีข้อจำกัดเรื่องการจ้าง รปภ. ของเขาทั่วโลก สหรัฐฯ ก็อาการหนักจากสงครามอิรัก และ อัฟกานิสถาน จึงมีแนวโน้มที่จะลดขนาดกองทัพ โดยลดทหารหลักลง และ ไปเพิ่มหน่วยรบพิเศษ จะมีหน้าที่ในการทำกลุ่มต่อต้าน หรือ พล็อกซี่ วอร์ สร้างสงครามตัวแทนทั่วโลก อย่างประเทศไทย สหรัฐฯ อาจมาสนับสนุนหน่วยรบพิเศษของเรามากขึ้น “ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ อดีตนายทหาร กองร้อยปฏิบัติการพิเศษ หรือ ฉก.90 จากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ระบุ
นั่นเป็นข้อมูล และ หลักการพื้นฐานด้านการก่อการร้ายที่ประเทศไทย จะมีกรอบจำกัดอยู่ในเฉพาะในสาย หน่วยงานด้านความมั่นคง และ สถาบันการศึกษาด้านการทหาร หรือ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ที่สามารถวิเคราะห์ทางเปิดได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติที่ทำงานอยู่ ไม่สามารถออกหน้าสื่อพูดเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาได้ เพราะงานด้านนี้เกี่ยวข้องกับ “ข่าวลับ” ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเรื่องใหญ่ของหน่วยงานความมั่นคงที่มองว่า หน่วยที่เกี่ยวข้องควรต้องปรับตัวเพื่อสอดรับกับสภาวการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะเอาเข้าจริงมันคือการก่อการร้าย ที่ไม่ได้พุ่งเป้าโดยตรงกับประเทศไทย หากแต่มีผลกระทบในแง่ผลประโยชน์ของชาติเมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้น แม้จะเป็นผลในทางอ้อมก็ตาม
หากนับดูแล้วหน่วยงานที่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด คือ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล หรือ ศตก. สังกัดกองบัญชาการกองทัพไทย และหน่วยข่าวกรองไล่ตั้งแต่ศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตำรวจสันติบาล หน่วยข่าวกรองของเหล่าทัพ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าไปในที่เกิดเหตุเพื่อเก็บหลักฐาน และ จับกุมผู้กระทำผิดเพื่อสอบสวน โดยนำผู้ก่อเหตุเข้าสู่กระบวนการของคดีอาญา จึงส่งผลให้หน่วยข่าวที่จะติดตามเครือข่ายของคนเหล่านี้ ไม่สามารถเข้าไปหาข้อมูลจากบุคคลเหล่านี้ได้ ทั้งที่เป็นต้นทุน ของข้อมูลด้านการข่าวที่มีคุณค่า
จริงอยู่ว่าการที่หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ที่มี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาฯ สมช. เป็นประธาน มีมติชัดเจนว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การก่อการร้าย แต่พุ่งเป้าสังหารบุคคลสำคัญ เพื่อสลัดหลุดไม่ให้ไทยตกหล่มความขัดแย้งของมหาอำนาจ แต่ในอีกทางหนึ่งในการทำงานของหน่วยข่าวมองว่า ทางลับแล้วควรจะเพิ่มเติมการประสานงานของหน่วยข่าวเพื่อเข้าไปร่วมการสอบสวนด้วย เพราะคำว่า “ไม่ใช่ก่อการร้าย” ส่งผลทางกฎหมายให้การทำงานเพื่อติดตามแกะรอยเครือข่ายเหล่านี้ในประเทศไทยถูกตัดตอนไปด้วย
จึงไม่แปลกว่า ในการประชุมหน่วยข่าวของกระทรวงกลาโหม ที่มีรองปลัดกระทรวงกลาโหม หลังเกิดเหตุการณ์ 1 วัน หน่วยข่าวที่เข้าประชุมครบทุกหน่วย มีการวิเคราะห์ในประเด็นนี้ค่อนข้างมาก เนื่องจากงานด้านการข่าว เป็นส่วนของการป้องปราม ถ้าการติดตามเครือข่ายผู้ที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการปฏิบัติการไม่มีความต่อเนื่อง อาจส่งผลให้การปฏิบัติการก่อนการร้ายได้ในอนาคตสำเร็จได้ ผลเสียในแง่ของความน่าเชื่อถือ การลงทุน และ การท่องเที่ยว ก็จะตามมาด้วยเช่นกัน
“พอเป็นคดีอาญา เจ้าหน้าที่การข่าวเข้าไม่ได้ ทุกอย่างไม่ใช่ความลับ คำให้การของผู้ถูกจับกุมจะอยู่ในสำนวนทั้งหมด ถามว่าตอนนี้คนทำงานเป็นอย่างไร ตอบได้ว่าอึดอัดใจ จริงอยู่ว่าพวกนี้มันไม่ได้เข้ามาทำอะไรเรา แต่มันมายืมสถานที่ นั้นก็คือประเทศไทยฆ่ากัน แต่พอระเบิดตูม นักลงทุน นักท่องเที่ยว ก็หนีหมด ผลประโยชน์ชาติก็เสียอยู่ดี ผมว่าการทำงานในเรื่องเหล่านี้ ที่ดีที่สุดคืองานด้านการข่าว เพียงแต่มันติดที่กฎหมายที่ล็อคทุกอย่างด้วยคำว่า ใช่ หรือ ไม่ใช่ ก่อการร้าย “ แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านการทหารระบุ
นายทหารด้านการข่าวผู้นี้ บอกว่า ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ กฎหมายความมั่นคงให้อำนาจตรงนี้ ในการให้หน่วยข่าวเข้าไปทำงานได้ อย่างประเทศไทย ในกรณีที่จะให้หน่วยข่าวเข้าไปร่วมได้ ก็ต้องให้คณะกรรมการของดีเอสไอ พิจารณาให้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งหากเข้าข่าย คดีนี้ก็จะถูกโอนมา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องของนโยบาย ที่ควรจะคุยกับหน่วยอำนวยการ และ หน่วยปฏิบัติ
“ตอนนี้มีข้อมูลชัดว่า เข้ามาทางภูเก็ต ไปอยู่พัทยาเป็นเดือน และ ไม่รู้มีเครือข่ายอีกเท่าไหร่ คือ รูปแบบการก่อตัวของกลุ่มจะมีลักษณะของการแบ่งเซลล์ พอทำแล้วก็ตัดตอนองค์กร เป็นอิสระซึ่งกันและกัน อย่างกลุ่มของนายอาทริส ชาวเลบานอน ที่เราจับกุมได้ก่อนหน้านี้ ก็ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ระเบิดตรงสุขุมวิท ไม่ขึ้นตรงกับองค์กร แต่เป้าหมายเดียวคือ กระทำต่อเป้าหมายเดียวกันคือพลเมือง วีไอพี และผลประโยชน์ของอิสราเอล“
นายทหารผู้นี้ ยังบอกว่า ถ้าให้วิเคราะห์ตามการกระทำ ถือว่าเหตุที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการก่อการร้าย แต่เปลี่ยนรูปแบบไป เพราะนิยามก่อการร้ายในยุคก่อนคือ การที่กลุ่มเข้ากระทำการแย่งยึดบางสิ่งบางอย่าง เพื่อต่อรองกับรัฐบาล แต่ตอนนี้มันไม่ใช่การไฮ-แจ็ค คาร์บอร์ม ก่อวินาศกรรม เหมือนก่อน แต่ลักษณะจะเป็นกลุ่มอิสระที่ไม่ใช่ต่อต้านรัฐ แต่อาจจะมีรัฐให้การสนับสนุนกระทำต่อฝ่ายตรงข้ามด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย หรือ ศตก. ที่เป็นหน่วยซึ่งฝึกปฏิบัติการ ต้องปรับตัว ให้คลอบคลุม และ เพิ่มกิ่งงานที่เป็นการของเหล่านี้เข้าไปด้วย
ในขณะที่คณะกรรมการนโยบายและอำนวยการแก้ไขปัญหาการก่อการร้าย (นอก.) เป็นระดับนโยบาย ซึ่งมีคณะอนุกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อย ฯ ก็ต้องมีการปรับตัวและสร้างนิยามให้คลอบคลุม ซึ่งตามขั้นตอนการทำงานจะเริ่มจากหน่วยในพื้นที่เมื่อมีการรายงานสถานการณ์ในทางลับว่าเป็นการก่อการร้ายสากล จากนั้นจะมีการรายงานมาที่คณะอนุกรรมการฯ เพื่อแจ้งให้ ศตก.ให้ตรวจสอบว่าเป็นการก่อการร้ายสากลหรือไม่ ถ้าใช่ ก็จะมีการประกาศ พรก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยตั้ง ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในขั้นตอนนี้จะเป็นคำสั่งสำนักนายกฯ ที่จะใช้กลไกได้
เพราะถ้าเอาประโยชน์ของรัฐเป็นที่ตั้ง เรื่องการติดตาม และงานด้านการข่าวเพื่อป้องปราม ถือว่ามีความสำคัญ เพราะจะช่วยในแง่ที่เราไม่ต้องประกาศตัวสนับสนุนฝ่ายไหน แต่ขณะเดียวกันไม่ให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงกับเหตุระเบิด ลอบสังหารบุคคลสำคัญในประเทศของเรา ซึ่งประชาคมข่าวของฝ่ายความมั่นคงไม่มีใครทุบโต๊ะว่า ไทยจะรอดจากปฏิบัติการของผู้ปฏิบัติการนอกประเทศ ตราบใดที่เรายังเป็นทางผ่านและที่พักของผู้ก่อเหตุ โดยมีพลเมืองฝ่ายตรงข้ามยังเดินขวักไขว่ท่องเที่ยวอยู่เต็มประเทศไทย