แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เปิดแฟ้มสตช.คดีอาญา“เหลือง-แดง” พธม.152–นปช.615
การเดินหน้าลดความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง สมานฉันฑ์ ให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ ของฝ่ายต่างๆ กำลังดำเนินไปไม่หยุดหย่อน
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็กำลังหาวิธีการอยู่หลังผ่านไป 4 เดือนยังไร้วิธีการที่เป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลที่ยังคงไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าการคิดแค่ว่าถ้าจะปรองดองต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและออกกฎหมายนิรโทษกรรม
ขณะที่กรรมการชุดต่างๆที่ดูจะมีหน้าที่ในส่วนนี้อย่างคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้น หาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติหรือ คอป.ชุด คณิต ณ นคร ก็พบว่าข้อเสนอที่จะนำไปสู่การปรองดองยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่าง ส่วน”คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ”หรือคอ.นธ. ที่มี "ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน"อดีตประธานรัฐสภาเป็นประธาน ดูจากชื่อและหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง หลายคนก็คิดว่าจะเสนออะไรที่เป็นรูปธรรมไปให้รัฐบาลปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่มีอะไรให้ต้องพูดถึงนอกจากเสนอแนวคิดเรื่อง”แก้รัฐธรรมนูญ”โดยไม่เอา”สภาร่างรัฐธรรมนูญ”
อย่างไรก็ตามล่าสุดรัฐบาลโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 10 มกราคม 2555 เห็นชอบกับข้อเสนอของ"คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ"หรือ (ปคอป.)ที่มียงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทยเป็นประธาน ที่ชงเรื่องให้ครม.เอาด้วยกับแนวทางที่คอป.เสนอมาตรการส่งเสริมการเยียวยา และฟื้นฟูเหยื่อ ผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
ด้วยการเตรียมช่วยเหลือเยียวยา ความเสียหายทางตัวเงินกับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมการเมืองตั้งแต่ก่อน 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พ.ค. 2553
เช่นเงินชดเชยกรณีการเสียชีวิต 4.5 ล้านบาท 2.เงินช่วยเหลือสำหรับค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท/ราย รวมวงเงินที่จะใช้เพื่อการนี้ประมาณ 2 พันล้านบาท
การปรองดองด้วยการช่วยเหลือทางการเงินก็เกิดขึ้นแล้ว อีกหนึ่งแนวทางที่หลายฝ่ายเรียกร้องโดยเฉพาะ”นักการเมือง-พรรคการเมือง-แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวการเมือง”ก็คือการต้องการให้”ลบล้างคดีความทางการเมือง”ทุกอย่างภายใต้เงื่อนเวลาเช่นเดียวกับการจ่ายเงินชดเชยข้างต้นคือให้ล้มล้างคดีความการเมืองทุกอย่างตั้งแต่หลัง 19 กันยายน 2549 ถึง 19 พ.ค. 2553
ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่และจะก่อให้เกิดผลต่อเนื่องทางการเมืองตามมา หากมีการดำเนินการเรื่องนี้ โดยไม่มีการ"จำกัดความ-แบ่งแยกประเภทคดีความการเมือง"ให้ชัดเจนก่อนจะนำไปสู่การปรองดองหรือการนิรโทษกรรม
เช่นหากมีการยกโทษความผิดคดีทุจริตคอรัปชั่น-คดีก่อการร้าย-การตัดสิทธิการเมืองจากผลพวงคดียุบพรรคการเมือง พ่วงไปด้วยไปกับการนิรโทษกรรมหรือเรียกให้ซอฟท์ว่าการปรองดอง ในคดีการชุมนุมทางการเมือง ก็ย่อมทำให้เกิดแรงต่อต้านสูงจากคนในสังคมแน่นอน จึงต้องจับตาดูว่า หนทางการนิรโทษกรรมภายใต้การปรองดองเรื่อง”คดีความ”จะออกมาเช่นใด
โดยในส่วนของ"คดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง"โดยเฉพาะ"เสื้อเหลือง-เสื้อแดง"ซึ่งมีการรวบรวมอย่างเป็นทางการโดย "สำนักงานตำรวจแห่งชาติ"(สตช.)เมื่อสิ้นปี 2554 ที่ผ่านมา
“ทีมข่าวสารนโยบายสาธารณะ” ได้รับบันทึกสถิติคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองจากผู้ทำบันทึกดังกล่าวในสตช. ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นระบบมีการประมวลผลล่าสุดสามารถอ้างอิงได้ มานำเสนอไว้ในที่นี้ เพื่อจะได้รู้ว่า คดีความอาญาของฝ่ายเสื้อแดง-เสื้อเหลืองใน
“แฟ้มคดีของสตช.”
ที่มีแกนนำทั้งสองฝ่ายเช่น สนธิ ลิ้มทองกุล-พลตรีจำลอง ศรีเมือง หรือสายนปช.อย่างจตุพร พรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แม้แต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีรวมอยู่ด้วย จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้นกี่คดีและมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว โดยแยกออกเป็นความคืบหน้าหลักๆ ดังนี้
บันทึกคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง
1.บัญชีความผิดที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกดำเนินคดี
(นับจากที่พันธมิตรฯประกาศสงครามครั้งสุดท้ายขับไล่รัฐบาลพลังประชาชนทั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ถึงเหตุการณ์บุกยึดสนามบิน คือตั้งแต่ 25 พฤษภาคม 2551 ถึง 2 ธันวาคม 2551 )
มีทั้งสิ้น 152 คดี
แยกเป็น คดีความผิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ จำนวน 3 คดี
คดีความมั่นคง ฝาฝืนพรก.ฉุกเฉินฯ มั่วสุม 23 คดี
คดีอาญาทั่วไป ประทุษร้ายต่อชีวิต ทรัพย์สิน 47 คดี
คดีความผิดฐาน หมิ่นประมาท จำนวน 79 คดี
ทั้งหมดสอบสวนเสร็จสิ้นหมดแล้ว
2.บัญชีความผิดที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช.ถูกดำเนินคดี
(นับรวมตั้งแต่กลุ่มนปช.ปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ต่อเนื่องถึงเหตุการณ์กลุ่มคนรักเชียงใหม่ก่อความวุ่นวายตั้งแต่ 26 มีนาคม 2552 ถึง 22 ธันวาคม 2552 )
รวม 124 คดี
แบ่งเป็น – คดีความผิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จำนวน 0 คดี
- คดีความมั่นคง ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุม รวม 55 คดี
- คดีอาญาทั่วไป ประทุษร้ายต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวม 69 คดี
ทั้งหมดสอบสวนเสร็จสิ้นหมดแล้ว
3.บัญชีคดีความผิดที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ถูกดำเนินคดีนับรวมตั้งแต่กลุ่มนปช.ได้ชุมนุมใหญ่ทางการเมืองที่สะพานผ่านฟ้าและเริ่มมีเหตุระเบิด จนปิดแยกราชประสงค์และเผาสถานที่ราชการ นับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2553 จนถึง 21 พฤษภาคม 2553
รวม 591 คดี
แยกเป็น
- คดีที่มอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สอบสวนต่อรวม 259 คดี
-คดีความผิด หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวม 2 คดี
-คดีความมั่นคง ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มั่วสุม จำนวน 158 คดี
-คดีอาญาทั่วไป ประทุษร้ายต่อชีวิต ทรัพย์สิน 126 คดี
-คดีความผิด เกี่ยวกับเหตุระเบิด 46 คดี
รวมคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจส่วนนี้ 332 คดี
สอบสวนเสร็จแล้ว 327 คดี คงเหลือ 5 คดี ซึ่งคดีคงเหลือ 5 คดี เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด 4 คดี ได้แก่ 1.คดีอาญาที่สน.โครกคราม 2.คดีอาญาที่สน.สุทธิสาร 3.คดีอาญาที่สน.บางโพงพาง 4.คดีอาญาที่สภ.เมืองเชียงราย ซึ่งเป็นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ 5.คดีรู้ตัวผู้กระทำความผิด 1 คดี ตามคดีอาญาที่ 981/53 ของสน.พญาไท ข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการสอบสวนพยานฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา
คดีเสื้อเหลืองในชั้นอัยการ-ศาล
สำหรับข้อมูลการดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในชั้นอัยการและศาล
พบว่าคดีที่กลุ่มพันธมิตรฯถูกร้องทุกข์กล่าวโทษมีทั้งสิ้น 152 คดี โดยสอบสวนเสร็จสิ้นหมดแล้ว แยกเป็นของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 43 คดี รู้ตัวผู้กระทำผิด 27 คดี ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 16 คดี , กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มี 54 คดี ,ภาค 2 มี 19 คดี ,ภาค 3 มี 30 คดี , ภาค 4 มี 1 คดี, ภาค 5 มี 2 คดี , ภาค 9 มี 1 คดี ส่วนกลางคือตร.มี 2 คดี ซึ่งจะพบว่าคดีในส่วนของพันธมิตรฯ ไม่มีคดีในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 และ 7 แต่อย่างใด
คดีสำคัญๆ ที่ “ทีมข่าวสารนโยบายสาธารณะ”ขอยกมาเช่น
1.คดีที่พ.ต.ต.ณัฐนิติ หลุ๊ดหล๊ะ และนายธนชาติ แสงประดับ ร่วมกันแจ้งความดำเนินคดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุเกิดที่สะพานมัฆวานรังสรรค์เมื่อ 20-21 กรกฏาคม 2551
พฤติการณ์แห่งคดีคือตามวันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหาคือนายสนธิได้กล่าวปราศรัยในลักษณะหมิ่นประมาทดูหมิ่นสถาบัน (พูดซ้ำคำพูดของนางดารณี เชิงศิลปกุล)
ผลการสอบสวน –คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นของบช.น.พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องและได้ส่งสำนวนพร้อมผู้ต้องหาไปให้อัยการเมื่อ 22 มกราคม 2552 ความคืบหน้าคือคดีเสร็จสิ้นแล้ว อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง และนัดส่งตัวผู้ต้องหาไปเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2553
2.คดีที่นายธนชาติ แสดงประดับ ธรรมโชติ เข้าแจ้งความต่อสน.นางเลิ้งให้ดำเนินคดีนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ แกนนำพันธมิตรฯและอดีตส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กรณีความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นสถาบันฯ เหตุเกิดเมื่อ 28-29 พ.ค. 2551 ที่เวทีพันธมิตร สะพานชมัยมรุเชษฐ์ โดยผู้กล่าวหาได้แจ้งความว่านายสมเกียรติได้เปิดอินเตอร์เน็ตเว็บไซด์ www.managerradio.com โดยได้ปราศรัยกล่าวหาเกี่ยวกับ โรงเรียนราชวินิตมัธยมเป็นโรงเรียนในสมเด็จฮุนเซน ซึ่งความจริงโรงเรียนดังกล่าวด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นที่ดินพระราชทานให้ตั้งโรงเรียนดังกล่าว และหมายถึงสถานที่อบรมกุลบุตรกุลธิดาในระดับมัธยม การพูดเปรียบเทียบดังกล่าวจึงเห็นว่าเป็นการดูหมิ่น
ผลแห่งคดี-คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นของตร.พิจารณาแล้วมีความเห็นควรสั่งฟ้องและได้ส่งสำนวนฟ้องผู้ต้องหาไปให้อัยการเมื่อ 8 มกราคม 2552 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ
3.คดีบุกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งความต่อสน.ดุสิต โดยมีผู้ต้องหาคือพลตรีจำลอง ศรีเมืองกับพวก ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาลเนื่องจากวันเกิดเหตุคือ 26 มกราคม 2551 ผู้ต้องหากับพวกได้บุกรุกเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลทำให้ทรัพย์สินของทำเนียบรัฐบาลเสียหาย โดยคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ
4.คดีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แจ้งความดำเนินคดีนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสว.กรุงเทพมหานครและอดีตส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กรณีนายไกรศักดิ์ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อ 17 มิถุนายน 2551 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเพราะผู้ต้องหาได้ปราศรัยใส่ความหมิ่นประมาทว่าไม่มีรัฐบาลยุคไหนที่มีการฆ่ามากเท่ากับรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมีคนตายกว่า 2,500 ศพ
อย่างไรก็ตามคดีนี้ บช.น.สั่งไม่ฟ้องและส่งสำนวนไปให้อัยการแต่อัยการสั่งให้ตำรวจสอบสวนเพิ่มเติมทำให้คดีอยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมของตำรวจ
5.คดีที่นายนพวุฒิ วรขิตวุฒิกุล ได้แจ้งความต่อสน.นางเลิ้งเอาผิดพลตรีจำลอง ศรีเมือง ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เหตุเกิดเมื่อ 2 มิถุนายน 2551 ที่เวทีปราศรัยสะพานมัฆวานฯ พฤติการณ์แห่งคดีคือ วันเวลาเกิดเหตุ ผู้ต้องหากล่าวปราศรัยพูดถึงกรณีพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวศ อดีตผบ.ตร.ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ว่าพล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ไม่ได้กระทำผิด ผู้กล่าวหาเห็นว่าพลตรีจำลองได้พูดภายหลังวันที่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯปลดพ.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ฯ ถือว่าเป็นการไม่เคารพ พระราชวินิจฉัย
ผลการสอบสวนดำเนินคดี สรุปมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด และเมื่อส่งสำนวนให้อัยการอาญาใต้ 3 อัยการก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน ทำให้คดีเป็นที่ยุติ
พลิกแฟ้มคดีนปช.ศึกสงครามครั้งสุดท้าย“ไพร่-อำมาตย์”
ขณะที่ข้อมูลสถิติผลการดำเนินคดีความผิดอาญาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่ชุมนุมใหญ่ที่สะพานผ่านฟ้าและสี่แยกราชประสงค์ โดยเริ่มเคลื่อนไหวกันตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 จนถึงการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 พ.ค. 2553
พบว่าจากข้อมูลของสตช.พบว่า มีคดีเกิดขึ้นในกองบัญชาการต่างๆ รวมทั้งสิ้น 478 คดี แยกเป็นเช่น กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 10 คดี ,กองบัญชาการตำรวจนครบาล 300 คดี
ผลการสอบสวนคดีทั้งหมดพบว่า สอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้ว 284 คดี –ส่งมอบให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ จำนวน 192 คดี คงเหลือคดีค้าง 2 คดี แยกเป็นคดีค้างที่บช.น.1 คดีคือคดีที่สน.พญาไท อยู่ระหว่างการนัดสอบปากคำพยานฝ่ายผู้ต้องหา และคดีอาญาที่สภ.เมืองเชียงราย เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด อยู่ระหว่างการสอบสวน
คดีสำคัญๆ เช่น 1.คดีเอาผิดนายพรวัฒน์ ทองธนบูรณ์หรือเคทอง ลูกน้องพลตรีขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธแดง ในข้อหาทำผิดพ.ร.บ.อาวุธปืน เนื่องจากวันที่ 6 มีนาคม 2553 ที่บ้านพักเลขที่ 13 ย่านลาดกระบัง เจ้าหน้าที่ตำรวจจากสส.น.3 ได้ทำการตรวจค้นบ้านนายพรวัฒน์ พบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนอยู่ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีอยู่ระหว่างการส่งฟ้องต่อศาล
2.คดีนปช.ยกพวกบุกบ้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เหตุเกิดในพื้นที่สน.ทองหล่อ ผู้ต้องหาคือนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง โดยวันเกิดเหตุคือ 17 มีนาคม 2553 ผู้ต้องหากับกลุ่มนปช.ได้เคลื่อนตัวไปที่บ้านนายอภิสิทธิ์โดยนำเลือดบรรจุขวดพลาสติกจำนวนหลายขวดไปเทราดบริเวณหน้าบ้านพักแล้วใช้ถุงพลาสติกบรรจุเลือดปาเข้าไปในบ้านจนแตกเปรอะเปื้อน คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการเพื่อสั่งฟ้อง
3.คดีเอาผิดนายยศวริศ ชูกล่อมหรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำนปช.ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย ทางกองพันทหารราบที่ 11 โดยพ.ต.ปิยะณศณ์ ภัทรศาศวัตวงษ์ และกรมทหารราบที่ 29 โดยพ.ต.สุพล ดำก้อน ผู้กล่าวหาได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้นำกำลังพลพร้อมยุทโธปกรณ์ไปรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสี่แยกคอกวัว ต่อมานายยวริศ ผู้ต้องหาได้นำประชาชนปิดล้อมยานพาหนะที่จอดไว้และได้สั่งให้ประชาชนทำการยึดยุทโธปกรณ์และยังได้ทุบทำลายรถทรัพย์สินของราชการ
ตัวอย่างที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างคดีไม่กี่คดีเท่านั้นจากจำนวนคดีที่ทั้งฝ่ายพันธมิตรฯและฝ่ายนปช.มีคดีอาญาค้างอยู่ทั้งในชั้นตำรวจ-อัยการ-ศาล จำนวนหลายร้อยคดี ซึ่งบางคดีในแฟ้มสถิติดังกล่าว ศาลยุติธรรมก็มีการตัดสินคดีไปแล้ว บางคดีก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร
กระนั้นหากมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมออกมา คดีความทั้งหมดในแฟ้มนี้ที่เป็น "คดีการเมือง"จะกลายเป็น"ศูนย์"ในทางกฎหมาย
คือเสมือนหนึ่งว่าไม่เคยมีความผิดใดๆเกิดขึ้นมาก่อน โดยตัวกฎหมายนิรโทษกรรมจะล้างความผิดทั้งหมด แม้ต่อให้ศาลมีการตัดสินไปแล้ว ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกศาลตัดสิน ก็จะถือว่าไม่เคยมีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นมาก่อนเลย ไม่เคยมีประวัติการถูกดำเนินคดีใดๆทั้งสิ้น
ซึ่งหากมีการออกกม.มาจริง ไม่ใช่แค่แกนนำทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง จะได้ประโยชน์ ประชาชนคนธรรมดาที่เลือกสีในช่วงการชุมนุมทางการเมืองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่นเดียวกับ “นักการเมือง”ทั้งหลายที่จะได้อานิสงฆ์จากการนี้