แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
เปิดศักราชใหม่ นโยบายไหนควร 'โล๊ะทิ้ง- ทบทวน- ทำให้ชัดเจน'
ในช่วงปี 2554 ที่ผ่านมา การเลือกตั้งได้นำมาสู่การเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ สู่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ และส่งผลทำให้หลากนโยบาย หลายด้านต่างผุดขึ้นมาใหม่ และมีที่ตกหล่นหายไป ตามวาระและการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล
นโยบายใด 'เด่น ดับ' พอไปต่อไหว หรือต้องทบทวนเร่งด่วน เพื่อนำมาสานต่อในปีมังกรทองกันบ้าง มาฟัง ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ไล่ไปทีละนโยบายกันชัด ๆ ....
เลิก! จัดสรรน้ำ ล้มแนวคิดแก้น้ำท่วมแบบ ‘สังคมสงเคราะห์’
สืบเนื่องจากวิกฤตน้ำท่วม ที่ทำให้ ‘นโยบายจัดการน้ำ’ ถูกรื้อมาเป็นเรื่องใหญ่เสียที ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) โดยการแต่งตั้งของรัฐบาล ได้ประกาศแผนและวงเงินในการบริหารจัดการน้ำออกมาแล้ว
...แต่เรื่องที่ยังไม่เห็นความชัดเจน คือ การกำหนดเขตพื้นที่ที่จะใช้รับน้ำ หรือทำแก้มลิง รวมทั้งระบบการชดเชยที่ละเอียดชัดเจนสำหรับชาวบ้านที่อยู่ในเขตรับน้ำและที่ถูกน้ำท่วมเป็นประจำ
ดร.นิพนธ์ เริ่มต้นมองว่า เมื่อหลักการของรัฐบาลมีแนวโน้มที่จะผันน้ำไปสู่พื้นที่ภาคเกษตร ชนบท ที่ราบลุ่ม เพื่อหวังให้ความเสียหายในภาคอุตสาหกรรมหรือโดยรวมของประเทศลดลง ก็ไม่ควรจะใจร้ายกับภาคเกษตรและคนจนมากนัก โดยรัฐต้องมีระบบชดเชยให้กับภาคเกษตรกร และคนจน ได้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่แค่คำว่า ‘เป็นธรรม’ แต่ต้องชัดเจนด้วยว่า เป็นอย่างไร
"หากพิจารณา ตัวเลขความสูญเสียที่เวิล์ดแบงค์คำนวณไว้ พบว่า ภาคเกษตรได้รับความเสียหาย 4 หมื่นล้านบาท ภาคอุตสาหกรรม 1 ล้านล้านบาท ภาคท่องเที่ยว 9 หมื่นล้านบาท ภาคการเงินการธนาคาร 1 แสนล้านบาท และค่าขนส่ง 3 หมื่นล้านบาท การที่รัฐบาลจะผันน้ำไปให้ภาคเกษตรเสียหายเพิ่มขึ้น แล้วสามารถประหยัดเงินได้หลายแสนล้าน ก็ควรนำเงินจำนวนนั้นไปชดเชยภาคเกษตรให้มีความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ภาคเกษตร ชุมชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนโยบายดังกล่าวนี้ ยังไม่เห็นความชัดเจนเท่าใดนัก"
ประเด็นสำคัญที่มาพร้อมๆ กับวิกฤตน้ำท่วม ประธานทีดีอาร์ไอ บอกว่า คือ ‘ความขัดแย้ง’ รัฐบาลจะต้องวางแนวทางการจัดการที่ชัดเจน มีแต่ประกาศว่าจะใช้วงเงินเท่าใด แต่รายละเอียดก็ยังมองไม่เห็น อีกทั้ง เรื่องคณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา ควรต้องมีเพิ่มขึ้น จากเดิมมีแต่ ปิง วัง ยม น่าน ที่หลักๆ ให้ความสำคัญแค่การจัดสรรน้ำ ไม่มีชุดที่แก้ปัญหาน้ำท่วม
"จึงเห็นได้ชัดว่า แนวคิดแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา เป็นแนวคิด ‘สังคมสงเคราะห์’ เมื่อเกิดน้ำท่วมก็นำของไปแจก จ่ายเงินชดเชย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปลี่ยนแนวคิดนี้ แล้วหันมาป้องกัน จัดการน้ำ ไม่ใช่สนใจแค่การจัดสรรน้ำ จัดสรรผลประโยชน์ที่มีการลงทุน และมีคอร์รัปชั่นแอบอยู่ข้างหลัง"
‘ความขัดแย้งที่ดินรัฐ-ชาวบ้าน’
ก่อนหน้านี้ ในช่วงรัฐบาลชุดนายกอภิสิทธิ์ ได้เสนอกฎหมายการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ สำหรับนโยบายจัดการความขัดแย้งที่ดินป่าทับที่ดินชาวบ้านเข้าสู่รัฐสภา แต่เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็ได้ปล่อยให้ตกไป ซึ่งเรื่องนี้ ดร.นิพนธ์ เห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรต้องกลับมาทบทวนกฎหมายนี้ให้เข้ามาโดยเร่งด่วน เพราะมีชาวบ้านที่เดือดร้อนจากปัญหาที่ดินของเขตป่าสงวนทับซ้อนที่ชาวบ้านอยู่จำนวนมาก
‘ประชานิยม’ แค่ 2 ไตรมาสพอ แล้วโล๊ะทิ้งให้หมด!
แม้รัฐบาลจะเข้ามาบริหารงานพร้อมๆ กับเผชิญวิกฤตน้ำท่วม แต่ทันทีที่ปัญหาคลี่คลาย นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลได้โปรยคำหวานไว้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะมองข้ามไม่ได้
นโยบายประชานิยมที่สำคัญในรอบปีที่ผ่านมา คือ จำนำข้าว และค่าแรงขั้นต่ำ ที่ขณะนี้รับจำนำข้าวไปแล้วถึง 4 ล้านตัน และประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการค่าแรงขั้นต่ำภายในปีนี้ ดังนั้น หากไม่สานต่อทั้ง 2 เรื่องนี้จะก่อผลกระทบได้มาก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายประชานิยมก็มีข้อจำกัดที่ควรคำนึงถึงด้วยเช่นกัน ทั้งอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้ หากมองในภาพใหญ่ไตรมาสที่ 4 กับไตรมาสที่ 1 ปีนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจคงไม่ดีนัก เช่น ปี 2554 อยู่แค่ 1.5 – 1.8% ซึ่งค่อนข้างต่ำ และในไตรมาสที่ 1 ก็คาดได้ว่าจะค่อนข้างต่ำเช่นกัน
ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจยังเป็นเรื่องสำคัญ
"ณ วันนี้ โรงงานอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรบางส่วนยังเริ่มการผลิตไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ควรเป็นการกระตุ้นแค่ในระยะสั้น เพียงแค่ 2 ไตรมาสเท่านั้น" ประธานทีดีอาร์ไอ เสนอ ทั้งนี้ รวมถึงนโยบายประชานิยมทั้งหลายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ เพื่อกระตุ้นการบริโภค ก็ควรทำแค่ในระยะสั้น เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวก็ไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อ เพราะไม่เป็นผลดีในระยะยาว ไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลิต มีแต่กู้ยืมเงิน
ขณะที่การกระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือจากนโยบายประชานิยม ที่เกี่ยวกับงบการบำรุงซ่อมรักษาระบบการระบายน้ำ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งขุดคู คลอง สร้างถนนหนทางทั้งหลายเหล่านี้ ล้วนเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
‘จำนำข้าว’ ทำปีเดียวพอ…
ในส่วนของนโยบายประชานิยมทั้งหลายที่รัฐบาลเคยหาเสียงเอาไว้ เช่น นโยบายจำนำข้าวนั้น ประธานทีดีอาร์ไอ มองว่า ยังมีความจำเป็นต้องทำต่อ เพราะได้เริ่มต้นไว้แล้ว
แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรทบทวนนโยบายจำนำข้าวในปีต่อไปด้วยว่า เมื่อทำในปี 2555 แล้ว เข้าปี 2556 ควรจะเลิกทำ เพราะสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การขายข้าวเอง และการซื้อข้าวเอง
"จะเห็นได้ว่า เริ่มมีสัญญาณความไม่ชอบมาพากลในการขายข้าวครั้งล่าสุด มีการร้องเรียนว่ามีผู้ที่เข้าไปร่วมเสนอการปรับปรุงข้าวของรัฐบาลเพียง 2 ราย ฉะนั้น รัฐบาลควรทบทวนนโยบายจำนำข้าวว่า ทำปีเดียวก็น่าจะเพียงพอ"
เน้นย้ำ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ต้องเดินหน้าพร้อมคุณภาพ
ในส่วนของนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ การเพิ่มเงินเดือน ดร.นิพนธ์ ระบุว่า ต้องพูดกันในระยะยาว เพราะแม้ว่าลูกจ้าง คนงานควรจะได้รับเงินสูงขึ้น แต่ก็จะต้องควบคู่ไปกับนโยบายที่เพิ่มการผลิต การลงทุน คุณภาพ ประสิทธิภาพแรงงานและผลผลิต ไม่เช่นนั้น "นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะเป็นตัวที่ทำให้นักลงทุนหนีไปหมด"
สุดท้าย การลงทุนในประเทศไทยจะลดน้อยลง
‘รถคันแรก’ ควรเลิกเป็นอย่างแรก!
"นโยบายนี้ไม่ควรมีอีกเลย" ดร.นิพนธ์ ระบุชัดถึง นโยบายรถคันแรก ที่ขณะนี้รัฐบาลจะปรับโฉมหน้า ให้เป็นการซื้อรถทดแทนรถคันเดิมที่ถูกน้ำท่วมแล้วก็ตาม
"ส่วนนโยบายบ้านหลังแรก ถ้าจะดำเนินการต่อก็ รัฐควรจำกัดวงเงินที่จะซื้อไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้สำหรับคนจน หรือหันมาใช้นโยบายที่ช่วยคนจนจริงๆ อย่างการสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงของ พอช. เพราะจะเป็นการพัฒนาชีวิตชาวบ้านอย่างยั่งยืน ใช้เงินในการสนับสนุนไม่มาก แต่คนที่ได้รับคุ้มค่า"
สร้าง ‘นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพคนจน’ ข้อเดียวครบวงจร
เรื่องพลังงาน ไฟฟ้า น้ำมันราคาถูก เป็นเรื่องเรื้อรังที่ควรปรับใหม่ ให้ครบวงจร ประธานทีดีอาร์ไอเสนอว่า ควรเป็น “นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพคนจน” โดยเข้าไปช่วยเหลือทั้ง ค่ารถเมล์ ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน รวมเบ็ดเสร็จ
ที่สำคัญอย่าใช้วิธีการบิดเบือนราคา !! โดยสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ เช่น อาจมีการให้คูปองเสริมรายได้คนจนตามฐานเงินเดือน แล้วปล่อยให้ราคาแท็กซี่ลอยตัวไปตามสภาพธรรมชาติ ไม่ต้องคุมราคา ก็จะสามารถจำกัดการช่วยเหลือและจำกัดวงเงินภาษีที่จะนำมาใช้ในโครงการเหล่านี้ได้ อีกทั้งงบประมาณก็ไม่บานปลาย ไม่กระจัดกระจาย กลายเป็นไฟลามทุ่งและเกิดวิกฤตการณ์ปัญหาทางการคลัง ตามมา
“นโยบายประชานิยม ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว ต้องปฏิรูประบบประชานิยมใหม่ ให้การช่วยเหลือมาช่วยเฉพาะคนยากจน แล้วช่วยเหลือม้วนเดียวจบ ไม่ไปแทรกแซงทีละเรื่อง”
สำหรับนโยบายเพื่อ "อนาคต" นั้น ดร.นิพนธ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาปัญหาของเรา รัฐบาลสนใจแต่นโยบายกระตุ้นการบริโภคเพียงอย่างเดียว โดยลืมว่า ปัญหาของประเทศนี้ คือ เราเป็น ประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางมานานแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนารายได้ปานกลางส่วนใหญ่นี้ มีส่วนน้อยที่สามารถพัฒนาขึ้นไปสู่ระดับประเทศพัฒนาแล้วได้ มีเพียงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวันและ สิงคโปร์
ประเทศส่วนใหญ่ที่พัฒนาขึ้นไปไม่ได้ เนื่องจาก ติดกับดัก 2 ประการ คือ 1.การไม่มีเทคโนโลยี 2.การไม่มีความรู้ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาที่มีรายได้สูงได้ และเป็นประเทศกำลังพัฒนารายได้ปานกลางไปตลอดชั่วกัปชั่วกัลป์
ฉะนั้น แนวนโยบายเพื่ออนาคตที่ดี ดร.นิพนธ์ วิเคราะห์ทิ้งท้ายไว้ว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคใหญ่โตของประเทศให้ได้ อย่าเน้นแต่นโยบายประชานิยมที่กระตุ้นการบริโภค ต้องเน้นนโยบายเพิ่มผลิตภาพการผลิต ไม่อย่างนั้นนักลงทุนจะหนีไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่มีเทคโนโลยีและความรู้ที่ดีพอ
โดยที่ ‘นโยบายเพิ่มผลิตภาพการผลิต’ ได้แก่
1. การเพิ่มคุณภาพการศึกษาของคน
2. สร้างระบบแรงจูงใจ และระบบที่กดดันให้โรงงานอุตสาหกรรมและผู้ผลิต เพิ่มผลิตภาพและหันมาใช้เทคโนโลยี มาทำการวิจัย รวมทั้งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ไม่ใช้ผลิตของถูก ราคาถูก แล้วกดค่าแรง
ประการสำคัญ ต้องล้มเลิกนโยบายส่งสินค้าออกในราคาถูก โดยให้ค่าเงินบาทถูกๆ แล้วกดค่าแรงของคนไทย ด้วยนโยบายอย่างนี้เป็นสิ่งที่ผิดพลาด