เด็ก 7แสน หลุดระบบการศึกษา ดร.อมรวิชช์ แนะครูโฉมใหม่อุ้มกลุ่มเสี่ยง
ที่ปรึกษา สสค. ระบุจาก ป.1 - มหาวิทยาลัย มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 7 แสนคน เหตุไม่รู้จะเรียนต่อไปเพื่ออะไร แนะครูต้องปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับเด็ก เสริมทักษะ ให้แรงบันดาลใจ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) หรือ TK park สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดงานประชุมวิชาการ “ TK Conference on Reading 2012 ” ณ ห้อง Meeting Room 1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดย ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ “ห้องเรียนอนาคตแห่งศตวรรษที่ 21” ต้องไม่ใช่ห้องเรียนที่มีแต่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ครูต้องโฉมใหม่ ในห้องเรียนโฉมใหม่
"ครูต้องเป็นผู้เรียนรู้ เพราะปัจจุบันมีความรู้ใหม่จำนวนมาก ถ้าครูไม่เป็นผู้ใฝ่รู้ให้นักเรียนก็จะเป็นเรื่องลำบาก นอกจากนี้ ครูต้องเป็นนักตั้งคำถามที่ดีด้วย โดย“ทุกคำถามต้องฉลาดขึ้น 1 คำตอบ” เพื่อให้ตรรกะของนักเรียนต่อเป็นสายโซ่" ดร.อมรวิชช์ กล่าว และว่า ปัจจุบันความรู้มีมากมาย ฉะนั้นผู้เป็นครูต้องรู้จักที่จะค้นคว้ามาให้นักเรียนได้เรียนรู้ ต้องเป็นนักให้แรงบันดาลใจที่ดีและจัดการความรู้ที่ต้องเรียนรู้ที่ดีด้วย
ดร.อมรวิชช์ กล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เด็กออกจากการเรียนด้วยว่า มี 3 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ 1.ความยากจน 2.ปัญหาครอบครัว และ 3.การปรับตัวเข้าการเรียนไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ใหญ่ที่สุด ที่ผ่านมาครูที่สามารถตรึงนักเรียนให้เรียนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 3 คือ ครูที่ปรับการเรียนการสอนให้เข้ากับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กได้ เนื่องจากปัจจุบันเด็กมีการเรียนรู้หลายรูปแบบ
สำหรับตัวเลขเด็กออกจากการเรียนนั้น ที่ปรึกษา สสค. กล่าวว่า เด็กที่เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 พร้อมๆกันมีประมาณ 1 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อถึงระดับมหาวิทยาลัยจะเหลือประมาณ 3 แสนคน นั่นคือหายไป 7 แสนคน โดยตัวเลขที่หายไปก่อนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 2 แสนคน และหายไปก่อนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 อีก 3 แสนคน อีกทั้งเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วไม่เรียนต่ออีก 2 แสนคน เหตุผลหลักคือ เ็ด็กไม่รู้จะเรียนไปทำไม เรียนไปก็เอาดีไม่ได้ ปัญหานี้ครูมีบทบาท ในฐานะเป็นนักจัดการเรียนรู้ที่ดีสามารถทำให้เด็กค้นหาในสิ่งที่เขามี มีทักษะการใช้ชีวิต รวมถึงครูต้องสอนให้เด็กสร้างความรู้ด้วยตนเอง
ที่ปรึกษา สสค. กล่าวว่า หากเราไม่ดูแลเด็กให้ดี ก็จะทำให้เด็กหลุดออกจากการศึกษากว่าครึ่ง ซึ่งเด็กก็จะออกไปอยู่ตามยถากรรมและ มีชีวิตที่สร้างความเสี่ยงต่างๆได้
“การศึกษาของเรารักษาความจน ความไม่รู้ และภาวะตกขอบไว้อย่างมาก คนที่ไม่มีโอกาสก็จะยังไม่มีโอกาสต่อไป ตรงนี้ยอมไม่ได้ และ หากเรายังมีภาวะความเหลื่อมล้ำ ภาวะด้อยโอกาส ห้องเรียนโฉมใหม่และการศึกษาโฉมใหม่ก็คงไม่สามารถไปต่อได้"
ส่วนปัญหาภาระงานด้านวิชาการของครูที่มีมากนั้น ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แก้ไขยาก เพราะการเมืองและความเป็นไปของอำนาจส่วนกลาง ทำให้มีภาระงานมากขึ้น ดังนั้นงานที่ไม่ใช่การสอน ไม่ควรเอามาให้ครู แต่ต้องให้ครูอยู่ในห้องเรียน 80%
ทั้งนี้ ดร.อมรวิชช์ กล่าวถึงความรุนแรงในเด็กจากกรณีเด็กอาชีวะด้วยว่า ปัจจัยหนึ่งอาจเกิดจากสิ่งที่ติดตัวเด็กมา เช่น เด็กที่มีสมาธิสั้น จะมีภาวการณ์ใจร้อนแบบไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งสถิติของกรมสุขภาพจิต เรามีเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นอยู่ร้อยละ 4-5 แต่ในสถานพินิจเรามีเด็กเหล่านี้อยู่ร้อยละ 30 เนื่องจากครู หรือผู้ปกครองไม่เข้าใจ และลงโทษ จนทำให้มีความก้าวร้าวมากขึ้น สุดท้ายต้องใช้ความรุนแรง
“ขณะเดียวกันปัจจัยด้านครอบครัว ที่ไม่ได้ใส่ใจและดูแลดีพอ รวมถึงปัจจัยจากโรงเรียน ที่ทำให้เด็กถอดใจจากการเรียน ฉะนั้นโรงเรียนอาจต้องมีอุบายที่จะตรึงเด็กเหล่านี้ไว้เพื่อให้เรียนจนจบ ที่สำคัญคือ โรงเรียนอย่านิยามความสำเร็จด้วยเกรดอย่างเดียว ต้องมีหลายๆด้านเพื่อให้เด็กค้นพบตัวเอง ซึ่งเป็นวิธีที่จะช่วยลดความรุนแรงได้ นอกจากนี้ต้องดูแลกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนด้วย โดยการแทรกแซงกิจกรรมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์”