วงเสวนาชี้เปลี่ยน รบ.ถี่ ทำนโยบาย “อิสลามศึกษา” ขาดความต่อเนื่อง-งบฯ ล่าช้า
เปลี่ยนรัฐบาล-เจ้ากระทรวงเสมาบ่อย ทำนโยบาย “อิสลามศึกษา” ขาดความต่อเนื่อง จี้ตั้งหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบด้านวิทยากรอิสลามศึกษา โอดค่าตอบแทนต่ำ 200 บาท/ชม. ไม่พอเลี้ยงชีพ
วันที่ 9 กรกฎาคม คณะอนุกรรมาธิการติดตามอิสลามศึกษาและการศึกษาในวิถีอิสลาม ในคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา จัดการเสวนาวิพากษ์และเติมเต็ม “ร่างรายงานการศึกษาติดตามการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาและการศึกษาในวิถีอิสลาม” ณ อาคารรัฐสภา 2
นางฟาฏินา วงศ์เลขา หนึ่งในคณะผู้ศึกษา อนุกรรมาธิการติดตามอิสลามศึกษาและการศึกษาในวิถีอิสลาม กล่าวถึงที่มาของรายงานฉบับดังกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้อิสลามให้กับผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลามตามหลักสูตรแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ยังเสียงสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ ซึ่งจากการพื้นที่ศึกษาดูงานในทุกภูมิภาค รวม 10 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา นครนายก เชียงราย กระบี่ พังงา ภูเก็ต สงขลา สตูล และนราธิวาส โดยเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด อิมามหรือผู้นำศาสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกัน ผลการศึกษาพบว่าสภาพปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา 5 ด้าน ดังนี้
1.การบริหารจัดการ พบว่า นโยบายบริหารจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาขาดความต่อเนื่อง สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการบ่อย ทำให้กระทบต่อนโยบายของกระทรวงศึกษาฯ อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ไม่มีหน่วยงานหรือผู้รับผิดชอบอิสลามศึกษาอย่างเป็นระบบ ขาดการวางแผน ผู้บริหารสถานศึกษาบางแห่งไม่เห็นความสำคัญในการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษา และขาดการส่งเสริมเท่าที่ควร เช่น ห้ามนักเรียนหญิงคลุมฮิญาบ ไม่จัดเวลาให้นักเรียนมุสลิมได้ละหมาด
2.การจัดการงบประมาณ พบว่า งบประมาณการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาไม่เพียงพอและล่าช้าต่อการจัดห้องเรียน ทำให้สถานศึกษาหลายแห่งต้องยุบรวมห้องเรียน นักเรียนต่างระดับชั้นต้องมาเรียนรวมกัน ส่งผลให้ต่อคุณภาพผู้เรียนไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ของหลักสูตร
3.วิทยากรอิสลามศึกษาและการพัฒนา พบว่า วิทยากรอิสลามศึกษา ได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งไม่ได้รับการพัฒนา ขาดการส่งเสริมหรือการฝึกอบรมใดๆ ให้มีคุณวุฒิเพิ่มขึ้นและมีใบประกาศนียบัตรวิชาชีพครู ทำให้มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างรายชั่วโมงของสถานศึกษา โดยไม่มีสัญญาจ้าง ซึ่งขาดความมั่นคงและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน นอกจากนี้วิทยากรอิสลามศึกษายังต้องรับผิดชอบงานด้านอื่นๆ ของสถานศึกษา นอกเหนือจากการสอน โดยที่ไม่ได้รับค่าตอบแทน
4.กระบวนการจัดการเรียนรู้และการจัดการห้องเรียน พบว่า โครงสร้างเวลาเรียนหลักสูตรอิสลามศึกษาในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ เพราะมีการเรียนการสอนเพียง 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางแห่งจัดสอนเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น ส่งผลให้คุณภาพผู้เรียนไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์ ขณะเดียวกันยังพบว่า การจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษายังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับพื้นที่ในจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะการจัดสอนวิชาสามัญควบคู่กับศาสนา
5.อื่นๆ อาทิ นักเรียนบางพื้นที่ไม่ได้รับโอกาสในการเรียนอิสลามศึกษา รายได้ของวิทยากรอิสลามศึกษายังไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลยุคปัจจุบัน
สำหรับมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นนั้น นางฟาฏินา กล่าวเสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการต้องกำหนดนโยบายการจัดการศึกษา ที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนนับถือและศาสนสัมพันธ์ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษาทุกแห่งจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ขณะที่ สพฐ. ต้องกำหนดให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอิสลามศึกษาในระดับเขตพื้นที่การศึกษาที่ชัดเจน มีนโยบายและวางแผนพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาที่เป็นระบบ ปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรให้เอื้อต่อการเรียน มีมาตรฐานที่เท่าเทียม นอกจากนี้ควรหาแนวทางยกระดับวิทยากรอิสลามศึกษาที่มีคุณสมบัติครบถ้วนให้เป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้างประจำ
ขณะที่มาตรการระยะยาว นางฟาฏินา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯ ควรกำหนดให้มีการจัดตั้งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ ส่งเสริมสนับสนุน กำกับ ดูแล ติดตามประเมินผลการจัดการเรียนรู้อิสลามศึกษาทุกสังกัด ทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ กำนหดนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการผู้เรียน ผู้ปกครองและชุมชน รวมทั้งพัฒนาศักยภาพวิทยากรอิสลามศึกษาอย่างต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อย 3 ปีต่อครั้ง
จากนั้นมีการเปิดเวที เพื่อวิพากษ์และเติมเต็มร่างรายงานฉบับดังกล่าว โดยวิทยากรอิสลามศึกษา ผู้แทนโรงเรียนอิสลาม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยการศึกษาจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งผู้วิพากษ์ส่วนใหญ่สนับสนุนรายงานฉบับดังกล่าว และมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ยังขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจน เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินการ ถึงแม้ว่าทุกรัฐบาลพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พร้อมให้การสนับสนุน แต่อยากให้มีการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรม เช่น จัดสรรงบประมาณลงมาด้วย เพราะปัจจุบันสถานศึกษาบางแห่งมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับวิทยากรอิสลามศึกษาล่าช้า สอนหนังสือไปแล้ว 3-6 เดือนยังไม่ได้รับเงินเดือนก็มี
ขณะเดียวกันพบว่า ค่าปัญหาตอบแทนของวิทยากรอิสลามศึกษายังมีอัตราอยู่ที่ 200 บาทต่อชั่วโมง ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ปรับขึ้นให้ 100% อยู่ที่อัตรา 400 บาทต่อชั่วโมง จึงอยากให้รัฐดำเนินการขึ้นค่าตอบแทนในอัตราดังกล่าวให้กับวิทยากรอิสลามศึกษาทุกพื้นที่
ส่วนประเด็นสำคัญที่มีการพูดถึงในวงเสวนาอีกหนึ่งเรื่องคือ ความเข้าใจของวิทยากรอิสลามศึกษา ซึ่งแม้ว่าจะเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามก็ตาม แต่หลายกรณียังพบว่ามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับแนวการปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป
ที่มาภาพ: http://sriala.wordpress.com