“วิทยากร” ชี้พัฒนา ศก.ได้ ต้องสร้างนิสัย 'คนไทยรักการอ่าน'
"วิทยากร" ระบุ การอ่านทำให้คนมีปัญญาคิดเรื่องซับซ้อน บอกสิงคโปร์ เกาหลีใต้เลิกจนได้ เพราะพัฒนาการอ่าน-การศึกษาสำเร็จ สวนทางไทย
วันที่ 11 พฤษภาคม สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) จัดการประชุมวิชาการประจำปี 2555 “TK Conference on Reading 2012” เป็นวันที่ 2 ณ โรงแรมอโนมา กรุงเทพฯ โดยมี รศ.วิทยากร เชียงกูล คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นำเสนอรายงาน “การรณรงค์ให้คนส่วนใหญ่รักการอ่านเพิ่มขึ้น” ตอนหนึ่งว่า การอ่านนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ส่วนประกอบของการศึกษา แต่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ของมนุษย์ และจริงอยู่ที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากการฟัง แต่เมื่อโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนมากขึ้น การอ่านและอ่านแบบจับใจความเท่านั้นถึงจะเข้าใจสิ่งที่ซับซ้อน เชื่อมโยงในเรื่องต่างๆ ได้
รศ.วิทยากร กล่าวถึงความสำคัญของการอ่านอีกว่า ถ้าเราไม่สามารถปฏิรูปให้คนรักการอ่านได้ ก็จะปฏิรูปการศึกษาไม่ได้และเมื่อปฏิรูปการศึกษาไม่ได้ ก็จะปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศนั้นๆ ไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่เคยมีประเทศไหนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี โดยไม่เริ่มจากทำให้คนรักการอ่าน
“ประเทศญี่ปุ่น เยอรมัน ซึ่งแพ้สงครามโลกขนาดใหญ่สามารถฟื้นฟูได้ เพราะความรู้ที่สะสมจากตำรา สิ่งที่สิงอยู่ในตัวคนนั่นคือ นิสัยรักการอ่าน รักการเรียนรู้ หรืออย่างกรณีประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้วก็ยากจนพอๆ กับไทย แต่เมื่อพัฒนาให้คนอ่านหนังสือ พัฒนาการศึกษาได้ ทุกวันนี้จึงประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมากกว่าเมืองไทย”
รศ.วิทยากร กล่าวว่า แม้ในโลกปัจจุบันเด็กสมัยใหม่จะไม่นิยมอ่านหนังสือ เนื่องจากเทคโนโลยีกว้างไกล แต่เอาเข้าจริงหนังสือก็เป็นหนังสืออยู่ดี เพียงแต่การอ่านเปลี่ยนรูปแบบเป็นอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น เพราะสื่อโทรทัศน์ สื่อดิจิทอลต่างๆ ทำหน้าที่ได้แค่เสริมบางอย่างบางเรื่อง แต่ไม่สามารถทดแทนหนังสือได้
รศ.วิทยากร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่าสามารถผลิตหนังสือได้น้อยกว่าอังกฤษหลายเท่าตัว นั่นอาจเพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล ตลาดการผลิตหนังสือจึงมีขนาดใหญ่ แต่เอาเข้าจริงหนังสือที่ไทยผลิตได้ในจำนวน 2,000-3,000 เล่มนั้น หนังสือดีดีกลับขายได้น้อยมาก ขณะเดียวกันก็พบว่าคนอังกฤษอ่านหนังสือมากกว่าคนไทย ในเมืองเล็กที่มีประชากรหลักหมื่นคน มีร้านหนังสือขนาดใหญ่จำนวนมาก แตกต่างจากเมืองไทย บางจังหวัดทางภาคอีสานมีประชากรถึง 5 แสนคน แต่กลับมีร้านหนังสือขนาดเล็กมาก อีกทั้งยังไม่มีคนเข้า ซึ่งจุดนี้ได้เชื่อมโยงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่สามารถพัฒนาการอ่านได้ ก็ยากที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
รศ.วิทยากร กล่าวถึงปัญหาสำคัญของการอ่านในบ้านเราว่า มาจากโครงสร้างวัฒนธรรม ระบบสังคม ที่นิยมพูดกันว่าไทยเป็นสังคมมุขปาฐะ ชอบคุยกันมากกว่าการอ่าน ซึ่งอาจเป็นเพราะสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีหนังสือ ผู้คนยังอ่านไม่ออก แต่ปัจจุบันแม้จะอ่านออกก็ไม่อ่านอยู่ดี เนื่องจากระบบการเลี้ยงดูบุตร การศึกษา การจ้างงาน หรือกระทั่งความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ได้ส่งเสริมในเรื่องการอ่าน การศึกษาด้วยตนเอง เน้นแต่ประกาศนียบัตร ปริญญาบัตร การศึกษาที่สอนให้คนเรียนรู้แบบสำเร็จรูป เป็นแท่งๆ ทำให้ไม่รู้จักคิดประยุกต์ การศึกษา นิสัยรักการอ่านจึงไม่พัฒนา
ส่วนการที่บ้านเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่สำเร็จนั้น รศ.วิทยากร กล่าวว่า เพราะการมองปัญหาแบบแยกส่วน ตามแก้ที่ปลายเหตุ อีกทั้งยังเน้นจัดทำโครงการย่อยๆ จำนวนมาก เช่น โครงการกรุงเทพฯ เมืองแห่งการอ่านของโลก เอาเข้าจริงไม่รู้ว่าคนกรุงเทพจะอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด กลายเป็นจัดฉาก สร้างงาน สร้างนิทรรศการขึ้นมา แต่ไม่ได้สร้างนิสัย ขณะเดียวกันหลายเรื่องก็ชอบยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ แต่สุดท้ายโฆษณาไม่กี่ครั้งก็หลายไป ไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ของสังคม
“ฉะนั้น แนวทางการแก้ไขคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูเด็ก พ่อแม่ต้องส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น รักการอ่านตั้งแต่เด็กเล็ก โดยให้ความรู้ว่าเพลงกล่อม นิทานต่างๆ ช่วยพัฒนาสมองและเป็นการปูทางให้รักการอ่าน ขณะเดียวกันต้องพัฒนาพี่เลี้ยง ครูอนุบาล การศึกษาปฐมวัย ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภาษาแม่ของตนให้ดี เพื่อเป็นรากฐานในการเรียนวิชาอื่น ปฏิรูปการสอนภาษาไทย โดยเน้นความเข้าใจ ความชื่นชนต่อวรรณกรรม แทนการท่องจำ นอกจากนี้ต้องปฏิรูปในเรื่องห้องสมุดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แพร่หลายถึงประชาชนในทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน สถานศึกษา ฯ พร้อมทั้งรณรงค์ให้คนทั้งประเทศ ตระหนักว่าการรักการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดในการปฏิรูปคุณภาพพลเมืองและประเทศ”
จากนั้นมีการอภิปรายเรื่อง “สู่ความเป็นพลเมืองอาเซียนด้วยหนังสือและการอ่าน” โดย ดร.ถั่น ทอ คอง ผู้อำนวยการมูลนิธิอนุรักษ์หนังสือพม่า นายคาล คานน์ ผู้อำนวยการโครงการ ‘Room to Read Cambodia’ จากประเทศกัมพูชา ดร.เอ็น วรประสาท อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติสิงคโปร์ และนางเนลลี่ ดาโต๊ะ พาดกะ ฮาจจี ซันนี่ ประธานสมาคมห้องสมุดบรูไน ร่วมเสวนา
ดร.ถั่น ทอ คอง กล่าวว่า ภายหลังที่พม่าได้เปิดประเทศ รัฐบาลได้ให้ความสนใจและเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงมากขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้เพิ่มงบประมาณด้านการศึกษาอีกด้วย ขณะที่การเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นพลเมืองอาเซียนนั้น ในพม่าเราพยายามหาหนังสือเกี่ยวกับอาเซียนเข้ามาใช้ในโรงเรียน แต่ปัจจุบันยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับหนังสือประวัติศาสตร์ของประเทศขนาดใหญ่ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา จึงเห็นว่า ในภูมิภาคนี้ควรมีการจัดพิมพ์หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราว สภาพสังคม เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มอาเซียนด้วยกันเองขึ้นมา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกัน
ส่วนการใช้เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการอ่าน ความเป็นพลเมืองเซียนนั้น ดร.ถั่น ทอ คอง กล่าวว่า ทุกเมืองในพม่ามีอินเตอร์เน็ต เด็ก ผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ แต่เนื่องจากไม่สามารถควบคุมได้ว่า ผู้คนจะอ่านเนื้อหาอะไร อาจเพียงแค่สนทนาออนไลน์ หรือเล่นเกมเท่านั้น ขณะที่ประชากรของพม่า 70% อาศัยอยู่ตามชนบท จึงยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตได้ ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์ยังมีความจำเป็นต่อการอ่าน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในเรื่องนี้พม่าคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นายคาล คานน์ กล่าวว่า กัมพูชามีปัญหาเรื่องการส่งเสริมการอ่าน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ ซึ่งการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ต้องอาศัยความจริงใจจากภาครัฐ รวมทั้งเจตจำนงทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เอ็นจีโอ และนานาชาติก็ได้ประสานความช่วยเหลือร่วมกันในการส่งเสริมการอ่าน โดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบในกัมพูชา
นายคาล คานน์ กล่าวถึงความเป็นพลเมืองอาเซียนว่า ในอดีตหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนเคยมีปัญหาขัดแย้งกัน ซึ่งประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำรอย ขณะเดียวกันเมื่อแต่ละประเทศมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน การคิดหาวิธีถมช่องว่างดังกล่าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า เมื่อเรายังไม่สามารถจัดทำหนังสือของกลุ่มอาเซียนขึ้นมาได้ การแลกหนังสือของแต่ละประเทศ ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษให้แก่กันนั้น น่าจะเป็นวิธีที่เกิดประโยชน์และทำให้เกิดการปฏิบัติขึ้นจริง โดยไม่ต้องรีรอ
ด้านนางเนลลี่ ดาโต๊ะ พาดกะ ฮาจจี ซันนี่ กล่าวว่า ประเทศบรูไนมีแนวโน้มการอ่านที่ดีมากขึ้น เนื่องจากทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะภาครัฐ มูลนิธิ เอ็นจีโอ ร่วมมือกันในการส่งเสริมการอ่าน ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในบรูไน ทำให้ช่องทางการอ่านแคบลง ผู้คนใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะส่งเสริมการอ่านต่อไปต้องเจาะเข้าไปถึงช่องทางดังกล่าวด้วย
ส่วนความเข้าใจในเรื่องอาเซียนนั้น ปธ.สมาคมห้องสมุดบรูไน กล่าวว่า ควรต้องกำหนดเป็นหลักสูตรในการเรียนการสอน นำเรื่องฮีโร่ของประเทศอาเซียนมาให้เด็กๆ ได้อ่านได้ศึกษา เพื่อสร้างความเข้าใจอาเซียนภายใต้หลังคาเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดสันติภาพ ความสามัคคี ตลอดจนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายร่วมกัน
ขณะที่ ดร.เอ็น วรประสาท กล่าวว่า การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนนั้น เราอย่าไปเพ็งเล็งถึงความแตกต่างมากนัก ควรให้ความสำคัญกับคุณค่าและความเหมือนที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีร่วมกัน เช่น ความเคารพในพ่อแม่ การให้ รูปแบบการศึกษา ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับอาเซียนนั้น เห็นว่า ในปัจจุบันยังมีน้อย อีกทั้งเป็นข้อมูลที่แยกกันอย่างชัดเจน แต่ละประเทศมีประชากรเท่าไหร่ ภูมิประเทศเป็นอย่างไร แต่ข้อมูลในลักษณะองค์รวมของอาเซียนทั้งหมด ยังไม่มี หรือมีก็อาจน้อย ฉะนั้น การจัดพิมพ์หนังสืออาเซียนขึ้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการเรียนรู้ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้เพื่อสร้างความตื่นตัวเรื่องอาเซียนและส่งเสริมการอ่าน น่าจะเปิดเวทีการแข่งขันการอ่านระหว่างประเทศขึ้น
ที่มาภาพ: www.arayanewspaper.com