ศธ. เดินหน้าภารกิจสร้าง “การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ให้ทันปี 58
"สุชาติ" กล่าวปฏิญญายึดภารกิจสร้างการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล พร้อมจัดสรรงบ-บุคคลากร-วิชาการอย่างทั่วถึง เน้นพัฒนาเด็กประถมวัย เชื่อเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและป้องกันปัญหาสังคมระยะยาว
วันที่ 16 มีนาคม สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และยูนิเซฟ แห่งประเทศไทย จัดงาน "การศึกษาไทยไม่ทอดทิ้งใคร สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน" เพื่อประกันโอกาสอย่างทั่วถึงเท่าเทียม สร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับเด็กทุกคน จากครรภ์มารดาถึงการพัฒนาชีวิตแห่งการเรียนรู้ สู่พลังเด็กและเยาวชนผู้สร้างอนาคตให้สังคมไทย (Ensure their opportunity, Secure our future) โดยมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ร่วมชมนิทรรศการที่ประกอบด้วย สถานการณ์เด็กและเยาวชนไทย นวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย วงจรพัฒนาชีวิตที่สมบูรณ์ (Quality Life Cycle) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
จากนั้น ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวสุนทรพจน์ภายในงานว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล (Education for All) และการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (All for Education) โดยมีความเชื่อมั่นว่า หากทุกองค์กรร่วมกันสร้างโอกาสในการศึกษา เด็กและประชาชนทุกคนในประเทศไทย จะได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง
"การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล เป็นข้อตกลงของประเทศสมาชิกองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก หรือ "ปฏิญญาจอมเทียน" ที่เห็นพ้องกันว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่พึงมีสำหรับประชากรโลก เพราะการศึกษาจะพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนโลกอย่างเข้มแข็ง ซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องถือว่า เป็นภารกิจที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จภายในปี 2558"
ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลนี้ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษา และดำเนินการตามปฏิญญาการจัดการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ทั้งนี้ รัฐบาลจะจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นทั้งทางด้านงบประมาณ บุคคลากรและวิชาการที่เพียงพอ เพื่อดำเนินตามนโยบายการศึกษาที่ครอบคลุมและประกันโอกาสอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มุ่งพัฒนาเด็กอย่างรอบด้านตามวัย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและมั่นคงในชีวิตเด็กทุกคนนับตั้งแต่ครรภ์มารดาไปจนถึงการพัฒนาชีวิตแห่งการเรียนรู้ ไปสู่พลังเด็กและเยาวชนผู้สร้างอนาคตสังคมไทย
"นโยบายของรัฐบาลจะช่วยแก้ไขปัญหาปัจจุบัน ที่เด็กไทยไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา ราว 3 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของประชากรเด็กและเยาวชนไทยทั้งระบบ ซึ่งเด็กเหล่านี้กำลังเผชิญกับปัญหาความยากจน ถูกบังคับใช้แรงงาน อยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ไร้สัญชาติ ถูกดำเนินคดีในสถานพินิจ ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร อีกทั้งพิการและมีความบกพร่องในการเรียนรู้ ซึ่งจุดเริ่มต้นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สำคัญ คือ การดูแลและพัฒนาเด็กตั้งแต่ประถมวัย อันจะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและถือเป็นการลงทุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่รากฐาน ที่ผลการศึกษาวิจัยทั้งในระดับสากลและในประเทศ ต่างพบว่าการพัฒนาตั้งแต่ช่วงประถมวัยเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด และเป็นการป้องกันปัญหาสังคมในระยะยาว"
ในช่วงท้าย รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ ได้กล่าวประกาศปฏิญญา "All for Education เพื่อบรรลุเป้าหมาย การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล (Education for All) และ เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG)" ว่า
1.เด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยจะต้องการดูแลเป็นอย่างดีทั้งอาหารและการเลี้ยงดูจากครอบครัวจนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึง 2 ปี
2.เด็กแรกเกิดจนถึง 5 ปีต้องได้รับโอกาสเข้าศูนย์เด็กเล็กและสถานศึกษาขั้นประถมวัยที่มีคุณภาพ ด้วยงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
3.เด็กทุกคนที่อยู่ในวัยขั้นประถม สามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพทุกแห่ง แลได้รับอุปกรณ์การศึกษาอย่างทันสมัย เท่าเทียมกัน ทั้งในส่วนของภาครัฐบาลและเอกชน