อาชีวะเร่งพัฒนาทักษะบุคลากร เน้น ภาษา-ความคิดสากล เพื่อเป็นผู้นำระดับอาเซียน
ศธ.จับมือ บริติช เคานซิล ผุดโครงการ “Skills for the Future” พัฒนาภาษา-หลักคิดด้านวิทยาศาสตร์ ในสายสามัญ-อาชีวะ เตรียมความพร้อมสู่อาเซียน สพฐ. เล็งปรับเปลี่ยนหนังสือให้เป็นสองภาษา
วันที่ 14 มีนาคม กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ บริติช เคานซิล องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศอังกฤษและนานาประเทศด้านการศึกษา วัฒนธรรม และวิทยาการ แถลงข่าวเปิดตัว โครงการ “Skills for the Future : British Council and the Ministry of Education Response to ASEAN” เปิดโลกทัศน์เสริมทักษะสู่อนาคต โดยมี ฯพณฯ อาชีฟ อาหมัด เอกอัครฑูตสหราชอาณาจักร ประจำประเทศไทย นายมาร์ติน เดวิชั่น ประธานผู้บริหารบริติช เคานซิล ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมงาน
นายมาร์ติน กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการว่า ได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความสำคัญในบทบาทใหม่ของประเทศไทยในการเป็นหนึ่งในประชาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะนำความเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งการปรับตัว ด้านการใช้ภาษา องค์ความรู้ที่จะเพิ่มมากขึ้น การทำงาน รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะด้านการศึกษา และการปรับตัวของบุคลากร เพื่อให้ทันกับบทบาทที่กำลังจะมาถึง
“ดังนั้น เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาษา ซึ่งไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะนักเรียนในระดับ มัธยมศึกษาเท่านั้น แต่จำเป็นสำหรับผู้ที่ใฝ่เรียนรู้ บริติช เคานซิล จึงสนับสนุนแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมทักษะด้านวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษให้แก่ครูและนักเรียน ทั้งการศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา” นายมาร์ติน กล่าว และว่า การเข้าสู่ AEC จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสื่อสารและทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะสามารถช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดและนำสิ่งที่โดดเด่นเผยแพร่ต่อไป
ด้านนางเบญจลักษณ์ กล่าวว่า วิชาภาษาอังกฤษที่เป็นหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอสำหรับเด็ก ฉะนั้นจึงมีความพยายามที่จะปรับเอาภาษาอังกฤษไปใช้ในวิชาอื่นๆ ซึ่งจากการนำร่องในโรงเรียนทดลอง พบว่า เด็กเกิดความตระหนักในการใช้ภาษาอังกฤษและสามารถเข้าถึงมากขึ้น โดยหลังจากนี้อาจมีการปรับเปลี่ยนหนังสือเรียนให้เป็นสองภาษาด้วย
“เนื่องจากเด็กในการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นลักษณะของการบ่มเพราะ จึงมีการเตรียมในเรื่องคุณลักษณะของเด็ก เนื่องจากเด็กไทยมีจุดแข็งอยู่ที่ความจริงใจ อ่อนน้อม ฉะนั้น จึงใช้จุดนี้พัฒนาคุณลักษณะสำคัญอื่นๆ เช่น ในเรื่องความเป็นผู้นำ มีความรับผิดชอบ รวมถึงกิจกรรมพัฒนาสังคม เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ และสังคม”
ขณะที่ นายสมบัติ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงของแรงงานไทยคือ เรื่องของภาษาและการสื่อสาร ซึ่งต้องมีการผลักดันให้คนไทยกล้าพูดและแสดงออกทางด้านภาษามากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ต้องส่งเสริมให้เรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพื่อให้เป็นผู้นำประเทศอื่นๆ ไม่ใช่เป็นผู้ตาม
“ขณะนี้กำลังทำเรื่องมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพหรือมาตรฐานฝีมือของอาชีวศึกษา เนื่องจากหากเข้าสู่ AEC เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว ไม่ได้หมายความว่าแรงงานทุกประเภทจะสามารถเข้ามาทำงานได้หมด แต่ต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือในมาตรฐานเดียวกัน ฉะนั้นจึงมีการทำมาตรฐานร่วมกับประเทศอาเซียนอื่นๆ”
นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า ด้านความคิดของบุคลากรไทยต้องมีการพัฒนาให้มีความเป็นสากลมากขึ้น เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เน้นสอนเด็กให้ตามอย่างเดียว ซึ่งความจริงแล้วต้องสอนให้เด็กรู้จักคิดและวิเคราะห์เป็น สามารถที่จะคิดเป็นเชิงระบบมากขึ้น เพื่อก้าวสู่ความเป็นสากล
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ “Skill for the Future” แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มโครงการ ได้แก่
1. Inspiring Science หรือการสร้างแรงบันดาลทางวิทยาศาสตร์ เป็นโครงการสามปีเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่ใช้เสริมการเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพสูงและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นการตอบรับกับนโยบายการพัฒนาการศึกษาของ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
2 English Programme for Office of Vocational Education หรือโครงการเสริมสร้างความเป็นนานาชาติในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนสายอาชีพได้พัฒนาความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการอาชีวศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยทางบริติช เคานซิลจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเปิดอบรมภาษาอังกฤษให้กับครูของวิทยาลัยอาชีวะทั้งนี้ ได้คัดเลือกสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการนำร่องในในรูปแบบต่างๆ 26 วิทยาลัยทั่วประเทศ โดยในปีการศึกษา 2555 ทาง สอศ. เน้นสาขาท่องเที่ยว ปิโตรเลียม เกษตร และอุตสาหกรรมยานยนต์