อนุมัติวงเงิน 555 ล้าน หนุนเบี้ยประกันภัย ข้าวนาปี 2555
โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2555
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2555 และอนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวน 555,760,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย
2. ให้ ธ.ก.ส. ทดรองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนรัฐบาลตามข้อ 1 และเบิกเงินชดเชยตามจำนวนที่จ่ายจริงพร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR) + 1.3% ในปีงบประมาณถัดไป
3. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับ ธ.ก.ส. ประกอบด้วย ข้อมูลการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว และข้อมูลการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยของรัฐรายบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) แล้ว เพื่อความรวดเร็วในการจ่ายสินไหมทดแทน
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง โดย สศค. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย พิจารณาแล้วเห็นควรให้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ.2555 ทำหน้าที่รับประกันภัยต่อแทนบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยให้มีความเหมาะสมกว่าอัตราตลาด การที่บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศเสนออัตราเบี้ยประกันภัยที่ 210 บาทต่อไร่ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศคำนวณอัตราเบี้ยประกันภัยบนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงของประเทศไทยที่สูงเกินไป นอกจากนี้ ยังสามารถผ่อนคลายเงื่อนไขเพิ่มเติมที่บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศกำหนด เช่น จำนวนไร่ที่ เอาประกันภัยขั้นต่ำ เป็นต้น หลักการและรายละเอียดที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
หลักการ
(1) กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย 120 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) อัตราเบี้ยประกันภัยสุทธิเท่ากับ 129.47 บาทต่อไร่ เท่ากับการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา วงเงินความคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ ตลอดช่วงการเพาะปลูก สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ อุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บ และอัคคีภัย และขยายเพิ่มเติมความคุ้มครองรวมถึงภัยศัตรูพืชและโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่
(2) เกษตรกรผู้เอาประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเมื่อพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหาย (ใช้เกณฑ์การประเมินความเสียหายที่รัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน) เพิ่มเติมจากเดิมที่จะได้รับเฉพาะเงินช่วยเหลือจากรัฐตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเฉพาะเงินช่วยเหลือจากรัฐเท่านั้น
(3) กำหนดจำนวนไร่ที่เอาประกันภัยสูงสุดไม่เกิน 8 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั้งหมดของประเทศโดยเฉลี่ยในช่วงปี พ.ศ. 2547-2554 จำนวน 57.47 ล้านไร่ เป็นระดับที่เหมาะสม และอยู่ในวิสัยที่จะปฏิบัติได้ เนื่องจากการตัดสินใจทำประกันภัยหรือไม่เป็นความสมัครใจของเกษตรกร และกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติสามารถรองรับความเสียหายในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด (Worst case scenario) ได้
(4) ธ.ก.ส. เป็นผู้บริหารโครงการ โดยเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยและบริษัทผู้รับประกันภัย เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปีที่ผ่านมา
แรงจูงใจสำหรับเกษตรกรให้เข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี
รัฐยังมีความจำเป็นต้องอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย โดยเห็นควรให้เกษตรกรรับภาระค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ เช่นเดียวกับการดำเนินโครงการฯ ในปี 2554 และรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เกินกว่า 60 บาทต่อไร่