กยน. จับมือไจก้า เสนอแผนบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการ
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพื่อวางระบบการบริหารทรัพยากรน้ำ (กยน.) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (JAPAN International Cooperation Agency: JICA) นำเสนอแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาแบบบูรณาการ โดยมีโครงการทั้งสิ้น 7 โครงการ วงเงินงบประมาณ 300,000 ล้านบาท ดังนี้
1.โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ดินต้นน้ำ โดยการปลูกป่า สร้างฝายแม้ว และอนุรักษ์ต้นน้ำ ฯลฯ ของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน สะแกกรัง ท่าจีน ป่าสัก วงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ
2.โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำสะแกกรัง ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำป่าสัก เช่น โครงการแก่งเสือเต้น โครงการแม่วงก์ ฯลฯ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
3.โครงการปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานเป็นแก้มลิงประมาณ 2 ล้านไร่ เพื่อใช้เก็บน้ำหลากชั่วคราวประมาณ 6,000-10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูน้ำหลากและสามารถใช้เป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรังได้ปีละ 2 ครั้ง ประกอบด้วยพื้นที่ชลประทายของโครงการชลประทานพิษณุโลก (เขื่อนนเรศวร) พื้นที่ชลประทานโครงการเจ้าพระยาใหญ่ (เขื่อนชัยนาท) และพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ งบประมาณ 60,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบ
4.โครงการจัดทำทางน้ำหลากและหรือทางผันน้ำ ขนาดไม่น้อยกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที รวมทั้งถนนและอาคารองค์ประกอบต่างๆ เพื่อรับน้ำหลากจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือทั้งสองฝั่ง งบประมาณ 120,000 ล้านบาท มีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม รับผิดชอบ
5.โครงการจัดทำผังการใช้ที่ดินและการใช้ประโยชน์ที่ดินในผัง รวมทั้งจัดทำพื้นที่ปิดล้อม (คันริมแม่น้ำและระบบการระบายน้ำ) ของพื้นที่ชุมชน พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม งบประมาณ 50,000 ล้านบาท มีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบ
6.โครงการปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลัก และคันริมแม่น้ำส่วนที่เหลือจากกลุ่มโครงการที่ 3 และ 5 งบประมาณ 7,000 ล้านบาท มีกระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ
7.โครงการจัดระบบฐานข้อมูล ระบบพยากรณ์ ระบบเตือนภัย รวมทั้งจัดตั้งองค์กร กฎระเบียบที่จำเป็นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน งบประมาณ 3,000 ล้านบาท มีสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ
ทั้งนี้ มีการกำหนดเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนมกราคม 2555 เป็นต้นไป