ข้อเสนอการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีนอย่างยั่งยืน
แถลงการณ์จากคนลุ่มน้ำท่าจีนนครปฐม
'ลุ่มน้ำท่าจีนคลังอาหารของประเทศไทย'
ความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลให้ผืนดินในลุ่มน้ำท่าจีนเต็มไปด้วย เรือกสวน ไร่นา สร้างผลผลิตทางการเกษตรหล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศมาเป็นเวลาหลายร้อยปี การพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา สร้างความสะดวกสบายให้คนทั้งประเทศ ทั้งการคมนาคม และการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม แต่กลับหลงลืมคนเล็ก คนน้อย ที่ยังคงทำหน้าเป็นผู้สร้างอาหารอย่างมั่นคง ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความสำคัญที่ถูกละเลย สะท้อนได้จากนโยบายสาธารณะที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อการทำการเกษตร เช่น ทั้งการเลือกทำถนนให้รถวิ่งมากกว่าดูแลคู คลองระบายน้ำทางการเกษตร ผู้มีเงิน มีอิทธิพล มีสิทธิรุกล้ำลำน้ำได้ จนน้ำไม่มีทางจะไป ยามเกิดอุทกภัยรัฐก็เลือกปกป้องความสูญเสียในภาคอุตสาหกรรม มากกว่าพื้นที่การเกษตร หรือถูกเลือกช่วยเหลือเป็นลำดับสุดท้ายเพราะเป็นชนกลุ่มใหญ่ ที่ต้องระดมความช่วยเหลือจำนวนมาก ต้องรอเวลา เพราะทรัพยากรมีจำกัด แต่กลับใช้เป็นประเด็นแรกสร้างกระแสนิยมและความเห็นใจทางการเมือง ด้วยการฟื้นฟูเยียวยาด้วยตัวเลขสูง
ปี 2554 มหาอุทกภัยร้ายแรงในรอบ 70 ปี ส่งผลกระทบต่อผู้คนในลุ่มน้ำท่าจีนมากมายมหาศาลเกินกว่าจะประเมินได้ และอาจจะต้องใช้เวลาหลาย 10 ปีกว่าจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติ อีกทั้งผู้คนยังหวาดผวาว่าปีหน้าจะเป็นอย่างไร ปัญหาอุกทกภัยจะตามมากระหน่ำซ้ำเติม สร้างความสูญเสียอีกรอบหรือไม่ ต่างสับสนไม่รู้จะวางแผนชีวิตของตนเองอย่างไร ทุกคนตกอยู่ในความวิตกกังวล ไม่มั่นคงในชีวิตมากที่สุดเท่าที่เคยประสบมา สุดท้ายประชาชนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อมั่นในรัฐ ที่ไม่ได้แสดงท่าทีในการปกป้องและให้ความสำคัญคลังอาหารผืนนี้เท่าที่ควร พรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรหากปัจจัยที่เอื้อต่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตของคนในลุ่มน้ำท่าจีน ลดน้อยลงทุกวัน คำตอบนั้นคือ “ความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยอาจจะต้องลดลงพร้อมกัน”
ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีนอย่างยั่งยืน
'คืนแม่น้ำคูคลอง ให้น้ำ'
1. พัฒนาศักยภาพแม่น้ำท่าจีนให้ทำงานได้เต็มศักยภาพ การจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ในลำแม่น้ำท่าจีนตลอดสาย ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม จนถึงสมุทรสาคร
- จัดการหน้าน้ำ เช่นจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้าง เรือขนสินค้าขนาดใหญ่ แพผักบุ้งที่ปลูกยื่นมาก กำจัดผักตบชวาต่อเนื่อง หรือตอหม้อสะพานขนาดใหญ่โดยการจำกัดการสร้างหรือเลือกรูปแบบกีดขวางน้อยที่สุด บังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเข้มงวดมากขึ้น
- จัดการใต้น้ำ เช่นขุดลอกแม่น้ำตลอดสาย และทำอย่างต่อเนื่องทุกปี สร้างพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น
- ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตามจุดสะพานสำคัญ และประจำอยู่จุดที่ตั้งในท่าจีนถาวร
- เพิ่มอำนาจ อปท.ในพื้นที่ในการจัดทำข้อมูลเพื่อร้องเรียน หรือแจ้งการละเมิดลำน้ำต่อหน่วยงานระดับสูง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเร่งด่วนและเพิ่มมาตรการลงโทษ จับ ปรับ มากขึ้น
2. เพิ่มศักยภาพคูคลองให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ โดยการสำรวจ ศึกษา และจัดทำข้อมูลความเชื่อมโยง คู คลองในพื้นที่ทั้งหมด ร่วมกับภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนงานพัฒนาที่เป็นรูปธรรม ทั้งทางด้านวิศวกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกตัวอย่างเช่น
- การติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำไฟฟ้าขนาดกลาง เล็ก ในคลองหลักที่มีความสำคัญ เช่นคลองลัด เพื่อเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ได้รวดเร็ว โดยมีการคำนวณขนาดของคลอง กับขนาดของเครื่องให้พอเหมาะ รวมถึงระยะการวางเครื่องแต่ละจุด ทั้งนี้ให้เป็นการดูแลร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและ อปท. เรื่องพื้นที่เก็บ รักษา ซ่อมบำรุง สามารถนำมาติดตั้งตามจุดได้ตลอดเวลา ทันต่อสถานการณ์น้ำมาก
- ขุดเชื่อมคลองแนวตั้ง เพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มการระบายน้ำของแม่น้ำท่าจีนออกสู่ทะเลให้รวดเร็วขึ้น ทั้งท่าจีนฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก เพิ่มช่วยลดการท่วมขังในพื้นที่ลุ่มมากตอนกลาง โดยสำรวจเส้นทาง คู คลองด้านล่างช่วงจังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรสาคร หรือขยายขนาดคลองเดิมให้กว้างมากขึ้น
- สำรวจประตูน้ำที่ชำรุด ใช้งานได้ไม่เต็มที่ หรือบานมีขนาดแคบกว่าคลองมาก เพิ่มเครื่องระบายน้ำประจำบริเวณปากประตู ให้อำนาจ อปท. แกนนำชุมชน เปิด/ปิด ประตูน้ำเพราะเข้าใจเรื่องน้ำขึ้นและน้ำลงในพื้นที่มากกว่า อีกทั้งโอนงบประมาณซ่อมบำรุงให้เป็นอำนาจของ อปท. จะได้เร่งซ่อมแซม ได้ทันเวลามากขึ้น
3. การจัดตั้งศูนย์ภัยพิบัติระดับตำบล ที่มีบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือพร้อม เช่นเรือ อุปกรณ์เตือนภัย อุปกรณ์ขนย้าย โดยมีการเชื่อมประสานกับศูนย์ระดับอำเภอ โดยทำหน้าที่หลักในชุมชนตั้งแต่การสื่อสารเตือนภัย ป้องกันภัย และดูแลช่วงเกิดภัย เป็นหน่วยงานอิสระในชุมชน มีเจ้าหน้าที่ประจำ
4. สนับสนุนให้ทุก อปท.มีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงอุทกภัยของตนเอง เพื่อเตรียมป้องกัน เช่น ทางน้ำ พื้นที่ปลอดภัย เส้นทางขนย้าย ระบุบ้านที่มีความเสี่ยงสูงสุด เร่งขนย้าย บ้านที่มีผู้ป่วย คนเจ็บต้องดูแล มีการซักซ้อมเป็นประจำ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนเกิดภัยพิบัติ
ด้านสังคม 'บูรณาการลุ่มน้ำให้เป็นเอกภาพ จัดการแบบมีส่วนร่วม'
1.ลดความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการลุ่มน้ำ โดยให้ทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ระดมองค์ความรู้ทั้งกายภาพ และชีวภาพ เกี่ยวกับลุ่มน้ำท่าจีน มาร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ ของลุ่มน้ำท่าจีน แบบบูรณาการ เป็นแผนเดียวแบบยั่งยืนต่อเนื่อง ปราศจากแทรกแซงทางการเมือง โดยรัฐอุดหนุนงบการจัดทำแผน และการบริหารจัดการชัดเจน ตั้งคณะทำงานอิสระมาจากตัวแทนของทุกภาคส่วน ทำงานอย่างมีเอกภาพ และมีอำนาจในการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จในหน่วยงานเดียว
2. เปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชน เอกชน และเครือข่ายนักวิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำท่าจีน โดยเฉพาะรับรู้ปัญหาอุทกภัย รวมถึงการนำเสนอแนวทางแก้ไขร่วมกับภาครัฐและลุ่มน้ำอื่นๆ ตั้งแต่ช่วงแรกของการเกิดอุทกภัย โดยรัฐจัดให้เป็นวาระสำคัญในการประชุมของทุกจังหวัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ
3. สนับสนุนให้ภาคประชาชน เอกชน สถานศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย ระดมความรู้เพื่อร่วมคิดค้นนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติ เน้นการศึกษาเรียนรู้โดยใช้ลุ่มแม่น้ำท่าจีนเป็นศูนย์กลาง สามารถนำผลจากการศึกษา มาเทียบชั้นคุณวุฒิด้านการศึกษา เพื่อผู้รู้เชี่ยวชาญ และสร้างชุดความรู้ในพื้นที่
4. พัฒนารูปแบบกองทุนความเสี่ยงภัยพิบัติ และธนาคารพันธุ์พืช ในรูปแบบที่ชาวบ้านสามารถใช้กองทุนหมู่บ้านมาจัดตั้งกองทุนได้เอง หรือรัฐเป็นผู้อุดหนุนทุนตั้งต้นในการดำเนินการร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชนเดิม หากแต่เพิ่มเบี้ยชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมของสมาชิกในชุมชน ในลักษณะการประกันภัย มีการส่งเบี้ย และชดเชยทั้งทุนและพันธุ์ไม้ในยามเกิดภัย เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดการตนเองครบวงจร