ความเห็น "อุกฤษ มงคลนาวิน" ต่อกรณีศาล รธน รับคำร้อง ม.68 ไว้พิจารณา
หมายเหตุ-ความเห็น ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวินประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)ต่อกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๘ ไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ตามที่มีบุคคลเสนอคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เนื่องจากเห็นว่าคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธร และคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุลและคณะ ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่ผู้ที่ทราบถึงการกระทำอันเป็นการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้โดยให้มีสิทธิ 2 ประการคือ 1) เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ 2) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว จึงมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้มีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 6 นั้น
พิจารณาแล้ว มีความเห็นต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว และคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ดังนี้
1. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ให้สิทธิแก่บุคคลผู้ทราบการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อลบล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจใจการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว
ดังนั้น เหตุแห่งการเสนอคำร้องตามมาตรา 68 ต้องเป็นการกระทำของบุคคลหรือพรรคการเมือง แต่ข้อเท็จจริงในกรณีนี้เป็นการใช้อำนาจของรัฐสภาในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กรณีนี้จึงไม่ใช่การกระทำของ "บุคคล"หรือ "พรรคการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 68
ประกอบกับ รัฐสภาได้ใช้อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการและขั้นตอนตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 15 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จึงเป็นกรณีที่รัฐสภาใช้อำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ให้แก่บุคคลและพรรคการเมือง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..)พุทธศักราช .... มาตรา 291/11 วรรคห้า ซึ่งอยู่ระหว่างการรอลงมติของรัฐสภาในวาระที่ 3 ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์จะกระทำมิได้” ยิ่งทำให้เห็นได้ชัดว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภาดังกล่าวไม่มีผลเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุให้มีการเสนอคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ประการใด
2. หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว
รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว
จากบทบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นได้ชัดว่าหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะยื่นคำร้องด้วยตนเองโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นก่อน และหากอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวต่อไป
การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมใช้สิทธิให้มีการตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ โดยมีสิทธิ 2 ประการคือ 1) เสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ และ 2) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวโดยไม่ต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนั้น ย่อมเป็นการตีความที่เกินเลยไปจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ เมื่อได้ศึกษารายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่18 มิถุนายน 2550 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 68 พบว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเท่านั้นและหลักการตามมาตรา 68 ดังกล่าว เป็นการคงไว้ตามหลักการเดิมซึ่งมีบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 และเมื่อได้ศึกษารายงานการประชุมคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 13 วันพุธที่11 มิถุนายน 2540 เกี่ยวกับบทบัญญัติมาตรา 63 พบว่า กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญก็เข้าใจตรงกันว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 63 วรรคสอง คือ อัยการสูงสุดเช่นเดียวกัน เนื่องจากในการพิจารณา มาตรา 63 ดังกล่าว มีประเด็นที่ถกเถียงกันก็แต่เฉพาะในประเด็นว่า ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวจะต้องเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดด้วยตนเอง หรือสามารถเสนอต่อพนักงานอัยการอื่นได้ด้วย และประเด็นว่าเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องแล้วจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียวเท่านั้น โดยไม่สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นหรือไม่ยื่นได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าวที่ประชุมก็ได้พิจารณาและมีความเห็นเป็นยุติว่า
วิธีการเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดนั้น ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวสามารถเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้ด้วยตนเอง หรือจะเสนอผ่านพนักงานอัยการอื่นเพื่อให้พนักงานอัยการอื่นนั้นเสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดต่อไปก็ได้ และเมื่ออัยการสูงสุดได้รับเรื่องแล้วก็สามารถใช้ดุลพินิจว่าจะยื่นคำร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ กล่าวคือ หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีมูล อัยการสูงสุดจึงยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวต่อไป แต่ถ้าหากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไม่มีมูล อัยการสูงสุดก็ไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ ยังพบว่าในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าว ได้มีผู้ขอแปรญัติแก้ไขความในมาตรา 63 วรรคสอง ว่า “ในกรณีที่พรรคการเมืองใดกระทำตามวรรคหนึ่ง ผู้พบเห็นทราบถึงการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่อตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงสิทธิการดำเนินคดีอาญาต่อผู้บริหารพรรคการเมืองหรือบุคคลผู้กระทำการดังกล่าว” แต่คณะกรรมาธิการฯ ก็มิได้เห็นด้วยกับผู้ขอแปรญัตติ และก็ไม่มีผู้ใดติดใจในประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด
3. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 6 นั้น
มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 213 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดว่า “ในการปฏิบัติหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวนหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาได้” นั้นเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในการเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ ตลอดจนขอให้พนักงานสอบสวนหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ยังไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาที่ต้องปฏิบัติตาม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้า แต่อย่างใด เพราะกรณีที่จะถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคห้านั้น ก็แต่เฉพาะ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ที่มีลักษณะตาม มาตรา 216 วรรคสี่ เท่านั้น กล่าวคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะถือว่าเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภาจะต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงหรืออาจกล่าวได้ว่า ต้องเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีหลังจากได้ผ่านกระบวนการพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว มิใช่เป็นเพียงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญในระหว่างการพิจารณาเท่านั้น
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นว่า
1. ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องในกรณีนี้ไว้พิจารณาได้ เนื่องจากการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68
2. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้รัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อน ไม่ถือว่าเป็นเด็ดขาดและไม่มีผลผูกพันรัฐสภาให้ต้องรอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไว้ก่อนแต่อย่างใด
3. การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้รับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภารอการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจนั้น จึงเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อันเป็นเหตุที่อาจถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้
กระบวนการถอดถอนจากตำแหน่ง
1. เหตุแห่งการถอดถอน (มาตรา 270)
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ใดมีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้
2. ผู้มีสิทธิเสนอให้ถอดถอน (มาตรา 271)
1) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
2) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกจากตำแหน่งได้
3. กระบวนการและขั้นตอนการถอดถอน (มาตรา 272)
1) เมื่อได้รับคำร้องขอให้ถอดถอนแล้ว ให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2) ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ว่าข้อกล่าวหาใด “มีมูล” นับแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ และให้ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว และอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
3) ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาข้อนั้นเป็นอันตกไป
4. การลงมติของวุฒิสภา (มาตรา 274)
1) สมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
2) มติของวุฒิสภาให้เป็นที่สุด และจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ แต่ไม่กระทบกระเทือนการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
5. ผลของการถูกถอดถอน (มาตรา 274)
ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยมีรูปแบบเป็นองค์กรศาล ทำหน้าที่ในการพิทักษ์ รักษา ปกป้ องความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ โดยเปลี่ยนรูปแบบมาจากระบบ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์กรที่ผสมผสานในลักษณะขององค์กรทางการเมืองกับองค์กรตุลาการเข้าไว้ด้วยกัน มาสู่ระบบศาลอย่างเต็มรูปแบบ
องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรวม 15 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
1) ผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับจำนวน 5 คน
2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีการลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 5 คน
4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา โดยการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 3 คน
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549
ภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และมีคำสั่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี
ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 35บัญญัติให้ตั้ง “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน, ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นรองประธาน, ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา โดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 5 คน เป็นตุลาการ และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน เป็นตุลาการ โดยให้ทำหน้าที่ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ”
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แล้ว ได้มีการจัดตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ขึ้นอีกครั้ง และในบทเฉพาะกาล มาตรา 300 ได้บัญญัติให้ “คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ” ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๔๙ เป็น “ศาลรัฐธรรมนูญ” ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการชั่วคราว จนกว่าตุลาการคณะใหม่จะเข้ารับหน้าที่
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่ง และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลต่อไปนี้
1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 3 คน
2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดโดยวิธีลงคะแนนลับ จำนวน 2 คน
3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์อื่น ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงและได้รับเลือกตามมาตรา 206ของรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน
องค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในอดีต
ก่อนที่จะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 นั้นประเทศไทยได้เคยมีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมาแล้ว โดยจัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และได้กำหนดต่อมาในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ โดยในแต่ละฉบับนั้น มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 (มาตรา 89)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย บุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งขึ้นเป็นประธานตุลาการคนหนึ่ง และตุลาการอีก 14 คน ทั้งนี้ ให้มีการแต่งตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้งเมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน เพราะเหตุที่สภาผู้แทนหมดอายุ หรือถูกยุบ
2. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2492 (มาตรา 168 )
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนประธานศาลฎีกา อธิบดีศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ทั้งนี้ โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิ ดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก
3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช2495 (มาตรา 106)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 3 คน ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ โดยให้ประธานศาลฎีกาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุมสภาครั้งแรก
4. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 (มาตรา 164 )
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนประธานศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในทางกฎหมาย ทั้งนี้ โดยให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานตุลา10การรัฐธรรมนูญ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก
5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 (มาตรา 218)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน โดยรัฐสภาคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการตุลาการ เป็นผู้เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิมีจำนวนฝ่ายละ 3 คนทั้งนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ข้าราชการพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้
6. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 (มาตรา 184)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา) ประธานศาลฎีกา อธิบดีกรมอัยการ และบุคคลอื่นอีก 4 คน ซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งรัฐสภาแต่งตั้งจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้ และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้รัฐสภาแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญจากผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาครั้งแรก
7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 (มาตรา 200)
คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานรัฐสภา (ประธานวุฒิสภา)ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์หรือสาขารัฐศาสตร์อีก 6 คน ซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งสภาละ 3 คน โดยให้ประธานรัฐสภาเป็นประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่นมิได้ และให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี