ผลวิจัย "โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคม"
เอกสารประกอบการเสวนาเพื่อเผยแพร่ความรู้
โครงการวิจัย เรื่อง โครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย
(หนึ่งในงานวิจัยชุดโครงการปัญหารากเหง้าของความขัดแย้งและแนวทางสู่ความปรองดอง
โดยคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ)
บทที่ 3: โครงสร้างอำนาจในสังคมไทยยุคโลกาภิวัตน์
1. การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจชนบทและภูมิภาค
การรวมอำนาจศูนย์ทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ได้เริ่มกระจายสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ในภาคกลาง และภาคตะวันออก เหตุผลที่อุตสาหกรรมย้ายจากกรุงเทพฯ และกระจุกตัวอยู่ภาคกลาง เพราะอุตสาหกรรมได้ประโยชน์จากที่ตั้งใกล้กรุงเทพฯ เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ และภาคกลางก็มีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจมีการกระจุกตัว (agglomeration economy) และมีวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพ การเติบโตอย่างรวดเร็วของโรงงานอุตสาหกรรมในภาคกลางส่งผลให้สัดส่วนของรายได้ที่เกิดจากภาคอุตสาหกรรมในภาคกลางมีสัดส่วนสูงสุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ทำให้สัดส่วนของผลผลิตที่มาจากนอกภาคเกษตรกรรมได้ก้าวล้ำหน้าผลผลิตที่มาจากภาคเกษตรกรรมเป็นอันมาก แม้ว่าภาคเกษตรกรรมจะมีความสำคัญลดลงในการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการลดลงของประชากรในชนบท แต่ทว่ามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญในภาคเกษตรกรรมและในชนบท ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการในทางการเมืองของไทย ต่อมาโดยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ การเกิดกลุ่มชนชนใหม่คือชนชั้นกลางระดับล่างจากชนบท และ ชนชั้นใหม่ๆ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในทาง เศรษฐกิจและการเมืองไทยหลังปี 2544
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจร้านค้าและบริการรายย่อยในหมู่บ้าน มี 3 ประการ คือ 1) สมาชิกครัวเรือนในหมู่บ้านได้ปรับตัวกับการขาดแคลนแรงงาน และขนาดการถือครองที่ดินที่ลดลง มีส่วนผลักดันให้สมาชิกในครัวเรือนในหมู่บ้านได้ปรับตัวเพื่อรักษาการผลิตในหมู่บ้าน เพราะกิจการร้านค้าและบริการรายย่อยเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานมาก และผู้ทำงานในภาคเศรษฐกิจดังกล่าวก็เป็นผู้ที่ทำงานได้ทุกเพศทุกวัย จึงเป็นการปรับตัวเพื่อสนองตอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจหมู่บ้าน
2) การปฏิวัติเขียวนับแต่ปลายทศวรรษ 2510 ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร และการเพิ่มขึ้นของการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร การปฏิวัติเขียวนับแต่ปลายทศวรรษ 2510 ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรกร และการเพิ่มขึ้นของการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร 3) การเจริญเติบโตของกิจการร้านค้าและบริการในหมู่บ้าน แสดงถึงความพยายามของสมาชิกครัวเรือนในหมู่บ้านที่ย้ายถิ่นไปทำงานในเมือง โดยการนำเอาประสบการณ์และความรู้จากภาคเศรษฐกิจเมืองทั้งในแง่ประสบการณ์ในฐานะเป็นผู้จ้างในโรงงานอุตสาหกรรม หรือประสบการณ์จากการได้รับการศึกษาในระดับวิทยาลัยอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา รวมทั้งนำรายได้จากภาคเมือง เพื่อลงทุนกับเศรษฐกิจนอกการเกษตรในหมู่บ้าน การขยายตัวของกิจการนอกภาคเกษตรกรรมในหมู่บ้านเหล่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจเมือง
2. การปรับและเปลี่ยนของทุนเก่าและการเกิดของทุนใหม่
กลุ่มทุนไทย พัฒนาการทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ ที่สำคัญคือ การเติบโตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการสร้างอำนาจการผูกขาดกับระบบเศรษฐกิจใช้ทรัพยากรของสังคม มีบทบาทในการส่งเสริมการผูกขาดในทางเศรษฐกิจให้กับบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ การกระจุกตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคธุรกิจการเงิน นำมาซึ่งการสร้างการผูกขาด เกิดจากนโยบายส่งเสริมการลงทุน ธนาคารพาณิชย์ในฐานะเป็นแหล่ง “เงินทุน” จึงได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในแง่เงินฝากและเงินกู้ กลุ่มธุรกิจสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ได้อย่างค่อนข้างเหนียวแน่น ผ่านทางสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ภาคเอกชนเหล่านี้ได้รับการยอมรับจากภาครัฐมาเป็นเวลานาน จึงสามารถเข้าถึงกลไกการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐได้ กลางทศวรรษ 2530 ได้มีการเปิดเสรีทางการเงิน มีผลให้กลุ่มทุนทางเศรษฐกิจบางกลุ่มได้พึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโดยผ่านการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ส่งผลให้กลุ่มทุนใหม่หรือเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน รัฐบาลได้ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานโดยร่วมลงทุนกับภาคเอกชน ภายหลังจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 กลุ่มทุนใหม่ (ได้แก่ กลุ่มสื่อสารและโทรคมนาคม) รวมทั้งธุรกิจบันเทิง ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยกว่ากลุ่มทุนเก่า (ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์) จึงทำให้กลุ่มทุนใหม่เหล่านี้ทรงพลังทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองควบคู่กันไปด้วย
ความเป็นธรรมในการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำ จากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คนมีรายได้เพิ่มมากขึ้นและลดปัญหาความยากจนลงได้ในระดับหนึ่ง แต่ผลประโยชน์จากการพัฒนายังกระจายไม่ทั่วถึงทั้งสังคม ส่งผลให้ช่องว่างรายได้ของประชาชนห่างกันมากขึ้น สภาพความเหลื่อมล้ำรายได้ระหว่างภาคเศรษฐกิจการผลิตก็ยังคงดำรงอยู่ นอกจากจะมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรมแล้ว ความแตกต่างระหว่างภูมิภาคก็เพิ่มสูงขึ้น หากพิจารณาถึงแบบแผนการกระจายรายได้ระหว่างกลุ่มรายได้ต่าง ๆ ในสังคมไทยกลับพบว่า มีความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังพบว่าคนมีรายได้น้อยกลับมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ แสดงให้เห็นว่าคนที่มีรายได้น้อยมีรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย และต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่ายให้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้เป็นปัญหาขั้นพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยมาโดยตลอด สาเหตุของความเหลื่อมล้ำ มีอยู่ 5 ประการที่สำคัญคือ 1) พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมไทยเป็นการพัฒนาที่ขาดความสมดุลด้วยลักษณะสังคมเศรษฐกิจและการเมืองที่รวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองขนาดใหญ่ มีผลให้กลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มลำเอียงเข้าสู่ภาคเมืองเป็นสำคัญ และความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันในลักษณะที่เมืองมีอิทธิพลเหนือชนบทในหลายด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ทำให้ทรัพยากรหรือส่วนเกินทางเศรษฐกิจได้ถูกถ่ายเทให้กับเศรษฐกิจเมืองอย่างต่อเนื่อง 2) กลยุทธ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย มีความลำเอียงเข้าข้างทุนมากกว่าสนับสนุนการเติบโตของรายได้ของแรงงาน กลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้เน้นการใช้แรงงาน “ราคาถูก” ซึ่งแรงงานราคาถูกสนับสนุนให้ “ กำไร” และ “การสะสมทุน” ในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและบริการมีสูงขึ้น 3) การเลียนแบบในการบริโภค ทั้งนี้กลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมคือ การกระตุ้นการบริโภคเพื่อเพิ่มการขายตัวของตลาดและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในเขตชนบทที่อยู่ใกล้เมืองหรือเขตชนบทที่สามารถเข้าถึงข่าวสาร การโฆษณา วิทยุ และโทรทัศน์ ย่อมมีความโน้มเอียงที่จะเลียนแบบการบริโภคกับผู้คนในสังคมเมือง ส่งผลให้มีค่านิยมทางด้านวัตถุและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ซึ่งมีผลให้รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ภาคชนบทขาดแคลนเงินออมและประสบกับปัญหาหนี้สิน 4) โครงสร้างภาษีอากรในประเทศไทย ได้สร้างภาระให้แก่กลุ่มรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มรายได้สูง เพราะลักษณะของภาษีเป็นภาษีแบบถอยหลัง มีผลต่อการซ้ำเติมปัญหาความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ 5) โครงสร้างทางการเมือง แม้ว่าโครงสร้างทางการเมืองการปกครองของไทยจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่าลักษณะสังคมการเมืองไทยก็ถูกครอบงำโดยระบอบอำมาตยาธิปไตย สังคมการเมืองภายใต้ระบอบอำมาตยาธิปไตยไม่สามารถสร้างยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบสมดุล นอกจากปัญหาความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ ปัญหาของความเหลื่อมล้ำเรื่อง ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น สุขภาพ การศึกษา รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อดำรงชีพโดยเฉพาะในชนบทก็เป็นปัญหาใหญ่ อีกทั้งปัญหาของการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติได้เชื่อมโยงกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมา
บทที่ 4: ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับโครงสร้างอำนาจทางสังคม (สรุป)
1. โครงสร้างอำนาจในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ
โครงสร้างอำนาจทางการเมืองในยุคโลกาภิวัตน์ เริ่มมีสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างและสถาบันการเมืองต่างๆ ที่สำคัญคือ การผูกขาดและกุมอำนาจการเมืองในกลุ่มอำนาจเดิม อันได้แก่กองทัพและข้าราชการชั้นสูง ค่อยๆลดระดับและปริมาณลง พร้อมกับเปิดช่องทางและหนทางให้แก่การเข้ามาสู่อำนาจการเมืองของกลุ่มใหม่มากขึ้น และกลุ่มทุนมีความสัมพันธ์และเกี่ยวโยงกับทุนนานาชาติมากขึ้น พัฒนาการต่อมาของการสร้างสถาบันทางการเมืองคือบทบาทและอิทธิพลของพรรคการเมืองในการต่อสู้เพื่อเข้าสู่การมีอำนาจรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นผลโดยตรงของอิทธิพลอำนาจทุนโลก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจสำคัญๆ ในทางเศรษฐกิจคือการส่งเสริมและขยายตัวของภาคธุรกิจเอกชนและอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “โชติช่วงชัชวาล” ในทางการเมืองคือการเปิดพื้นที่และสร้างสถาบันทางอำนาจที่เอื้อต่อการเข้ามามีบทบาทของทุนในเชิงนโยบายมากขึ้น เกิดการประนีประนอมระหว่างอำนาจกองทัพกับอำนาจทุน มีผลทำให้อำนาจกองทัพจำต้องยอมรับการจำกัดบทบาทในการแทรกแซงทางการเมือง กระแสโลกาภิวัตน์เสรีนิยมส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและระบบการเมืองประชาธิปไตยเสรีนิยมกลายเป็นด้านหลักของการเมืองระหว่างประเทศ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวมีผลต่อการเปิดพื้นที่ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้แก่การเคลื่อนไหวและเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติที่เป็นจริงมากขึ้น นั่นคือการเรียกร้องในสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของกลุ่มและองค์กรต่างๆ การเรียกร้องเสรีภาพในการผลิตและในการตลาดมากขึ้นของนักธุรกิจเอกชนและการเงิน
การส่งเสริมและขยายบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเสริมสร้างบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนา “ชนบท”
2) การสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับกลุ่มนักธุรกิจ 3) การขยายอิทธิพลของ “เครือข่ายของชนชั้นนำ” เข้ามากำกับระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษา
2. ความเปลี่ยนแปลงที่สั่นคลอนโครงสร้างอำนาจและอุดมการณ์ในทศวรรษ 2540
สังคมการเมืองไทยภายหลังรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 เกิดคนชั้นกลางใน “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ทำให้ “คนชั้นกลาง” ขยายตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างกระตือรือร้นในช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาในสังคมที่อยู่นอกโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมการเมืองลักษณะเดิม โดยคนกลุ่มใหม่นี้เริ่มมีปฏิบัติการทางสังคมการเมืองที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับความเหลื่อมล้ำที่เดิมเคยดำรงอยู่กับชีวิตของพวกเขามาเนิ่นนา
3. การเคลื่อนไหวของประชาชนภายใต้โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ
คนในชนบทโดยเฉพาะในภาคเหนือและอีสาน มีการก่อตัวของ “ความเป็นคนงาน” ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ใหม่ของแรงงานรับจ้างในชนบทขึ้นมาอย่างชัดเจน โดยที่โครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงในภาคอีสาน พบว่า การเติบโตของการค้าและบริการ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม ทำให้สังคมอีสานมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น รายได้มากกว่าครึ่งของครัวเรือนมาจากรายได้นอกภาคเกษตร ซึ่งที่มาจากรายได้นอกภาคเกษตรนี้ก็มีหลากหลายหนทาง ทั้งการค้าขายและบริการ การประกอบกิจการรายย่อย การประกอบหัตถกรรม การขายทรัพย์สิน แต่ที่สำคัญอย่างขาดไม่ได้และมีสัดส่วนในปริมาณมากก็คือ รายได้จากเงินเดือน และเงินส่งกลับจากการไปรับจ้างต่างถิ่นของสมาชิกในครัวเรือน ทั้งนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ 1) การคมนาคมและขนส่งที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นสะพานเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจกับอินโดจีนและพม่า จึงกล่าวได้ว่าอีสานได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐชาติทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างแทบจะไม่มีช่องว่างอีกต่อไป 2) ระบบเศรษฐกิจหลักของภาคอีสานเป็นแบบเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ โครงสร้างที่มีการค้าและการบริการนำ ตามมาด้วยภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจย่อยๆกระจายตัว ที่ปรากฏเป็นเมืองขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก 3) ภาคชนบทของอีสาน พบว่าชาวบ้านเข้าสัมพันธ์กับเศรษฐกิจภายนอก การเกษตรก็ไม่ใช่อาชีพหลักอีกต่อไป รายได้ผสมผสานกันหลายแนวทาง รายได้ส่วนใหญ่มาจากอาชีพนอกการเกษตร ได้แก่การค้าและบริการรายย่อยนานาชนิด การทำงานราชการ การเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน การได้รับเงินส่งกลับจากสมาชิกที่ไปทำงานต่างถิ่นในประเทศและนอกประเทศ
บทที่ 5: พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจทางสังคม (สรุป)
พัฒนาการในระบบอำนาจทางการเมือง เริ่มตั้งแต่ภายหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมการเมืองไทย 3 ประการ คือ
1. การเติบโตของพรรคขนาดใหญ่
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อมีผลต่อการขัดขวางการเจริญเติบโตของพรรคขนาดเล็ก เพราะการกำหนดให้เขตประเทศไทยเป็นเขตการเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อพรรค (มาตรา 99) จะทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กเสียเปรียบ เพราะไม่มีคะแนนการจัดตั้งฐานนโยบาย ระบบหัวคะแนน ข้อเสียเปรียบด้านเงินทุนและสมาชิกของพรรคเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ หลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ครั้ง คือ ในปี 2544 และในปี 2548 พรรคการเมืองขนาดใหญ่คือ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมกันสูงถึงร้อยละ 75 และร้อยละ 95 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด พรรคการเมืองขนาดกลางและเล็กได้ยุบพรรคการเมืองลงเพื่อรวมกับพรรคไทยรักไทย ทั้งนี้ที่มาของเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้พรรคการเมืองของไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือเป็นสองพรรค (Bi–Party System) มากกว่าจะเป็นระบบหลายพรรคการเมือง น่าจะมาจากความเชื่อที่ว่า รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมในอดีตมักจะเป็นรัฐบาลที่มาจากหลายพรรคการเมือง และมีผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล เนื่องจากยามใดที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจมีความขัดแย้งก็จะส่งผลต่ออายุของรัฐบาล โดยที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ต้องการให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพในการบริหาร และมีระยะเวลาที่ยาวนานและต่อเนื่องมากขึ้นจึงสนับสนุนให้มีรัฐบาลที่มาจากพรรคขนาดใหญ่
2. การเติบโตของธนกิจการเมือง
พัฒนาการทางการเมืองของไทยโดยเฉพาะภายหลังปี 2544 ได้ก่อให้เกิดระบบธนกิจการเมือง (Money Politics) หมายถึง “กระบวนการที่นักการเมืองใช้เงินเพื่อผันตัวเองเป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรีเพื่อจะได้ใช้อภิสิทธิ์จากตำแหน่งดำเนินการและกำหนดนโยบายเอื้อให้ตนเองและพรรคพวกแสวงหารายได้และกำไรให้คุ้มกับการลงทุนที่เกิดขึ้น แหล่งรายได้ที่สำคัญที่ทำธนกิจการเมืองคือ เข้าเกาะกุมและจัดสรรค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (economic rent) ซึ่งค่าเช่านี้ออกมาในรูปแบบใบอนุญาตสัมปทาน เงินอุดหนุน และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ซึ่งอำนาจรัฐจะให้ได้สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้นักการเมืองและพรรคการเมือง และพรรคพวกแสวงหากำไรในอัตราที่มากกว่าระดับปกติที่เกิดขึ้นในตลาดแข่งขันทั่ว ๆ ไป”
หลังจากปี วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ในปี 2544 รูปแบบธนกิจการเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป คือ มีการพัฒนาไปสู่ระบอบไทคูนคือ รัฐ หมายถึงภาวะที่การเมืองและนักการเมืองและนักธุรกิจเป็นคนกลุ่มเดียวกัน นักธุรกิจขนาดใหญ่ที่สามารถรอดวิกฤติปี 2540 หรือได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมืองและสามารถชนะการเลือกตั้งโดยนโยบายประชานิยม ประกอบกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้สนับสนุนพรรคใหญ่ที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและบุคลากรสามารถเจริญเติบโตและได้เปรียบพรรคเล็ก จึงสามารถขยายพรรคได้อย่างรวดเร็ว โดยการควบรวมกิจการกับพรรคการเมืองพรรคขนาดกลางและขนาดย่อมในที่สุด ผลของระบบไทคูนคือรัฐนั้นได้มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในทางการเมืองอยู่หลายประการที่สำคัญคือ องค์ประกอบของผู้บริหารพรรคไทยรักไทย และภูมิหลังของคณะรัฐมนตรีที่ร่วมในคณะรัฐบาล เป็นนักธุรกิจมีบทบาทสำคัญทั้งเป็นคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลและเป็นผู้บริหารพรรค ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มธุรกิจกับกลุ่มการเมืองและรัฐบาลเป็นที่สร้างความกังหาให้แก่สาธารณชนเป็นอันมากไม่ว่าจะเป็นการมีผลประโยชน์ซ้ำซ้อนทางธุรกิจ (conflict of interests) การคอรัปชั่นทางนโยบาย และความไม่โปร่งใสในการดำเนินนโยบายทางการเมืองและธุรกิจ
นอกจากจะใช้อำนาจทางการเมืองและกฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือแสวงหาความมั่งคั่งให้กลุ่มธุรกิจและพวกพ้องของตนเอง แล้ว รัฐบาลได้ใช้นโยบายมาตรการอื่น ๆ เพื่อต้องการแสวงหาความมั่งคั่งหรือ“การแสวงหาค่าเช่า” หรือ “กำไรส่วนเกิน” ในวิธีการอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ 1) รัฐบาลได้เพิ่มการแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมุ่งหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมีการเพิ่มมาตรการการใช้จ่ายประเภท โครงการขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า เมกะโปรเจค การขยายการเพิ่มงบประมาณประเภทกึ่งการคลัง การควบรวมสถาบันการเงินโดยที่สถาบันการเงินของรัฐใหญ่ขึ้นจนมีบทบาทใกล้เคียงกับสถาบันการเงินภาคเอกชน โดยการใช้สถาบันการเงินของรัฐอัดฉีดเงินกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และประชาชนระดับล่าง ทุ่มเทงบการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร จากการดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจข้างต้นผลคือ ธุรกิจของครอบครัวนักการเมืองจะขยายตัวรวดเร็วด้วยและเข้าไปครอบคลุมในกิจการใหม่ ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล บันเทิง มีผลให้รัฐบาลสามารถที่จะควบคุมอำนาจของข้าราชการในการบริหารจัดการอำนาจในการตรากฎหมายใหม่ จนมีลักษณะ “รวมศูนย์” กับนายกรัฐมนตรีอย่างแท้จริง และส่งผลให้รัฐบาลได้แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับพฤติกรรมของนักการเมือง
พัฒนาการทางเมืองภายใต้ระบอบทักษิณาธิปไตย ในช่วงระยะเวลาเพียง 5 ปี พัฒนาการทางการเมืองของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนหน้านี้เป็นอันมาก การเมืองระบอบทักษิณาธิปไตย นักวิชาการเรียกว่าคือ “ระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” (Democratic Authoritarianism)
3. การเติบโตของระบอบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง
ปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง 5 ประการ ได้แก่ 1) การรัฐประหาร แก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ในระยะหนึ่ง (มักจะเป็นระยะสั้น) แต่ในระยะยาวได้สร้างปัญหาแก่สังคมเป็นอันมาก มีผลต่อความต่อเนื่องพัฒนาการของประชาธิปไตย 2) ความขัดแย้งขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะ (1) รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ถูกกล่าวหาว่ากลุ่มทหารสนับสนุนเพื่อล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย ซึ่งเป็นรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และมีเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ในการเลือกตั้งปี 2548 (2) ทรัพยากรและเงินทุนที่สนับสนุนมวลชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์มีจาก พ.ต.ท. ทักษิณ และผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทำให้การต่อสู้ได้ยืดเยื้อยาวนาน (3) ประเด็นในการกล่าวหารัฐบาลอภิสิทธิ์และทหารสนับสนุนว่าไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งการสนับสนุนการถ่ายเทอำนาจจากประชาชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบอบอำมาตยาธิปไตยโดยเฉพาะกองทัพและข้าราชการสายตุลาการ จึงเป็นประเด็นที่เปิดแนวร่วมให้มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านเข้ากับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ทำให้แนวร่วมของกลุ่ม นปช.จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว 3) กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง มีเงินทุนและทรัพยากรมากมายเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อข้อเรียกร้องของตนเอง เงินทุนถูกใช้ในการสร้างเครือข่าย 4) พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่ให้อำนาจให้คณะกรรมการเลือกตั้งเสนอให้ศาลสามารถยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ให้เล่นการเมืองเป็นระยะเวลา 5 ปี มีผลต่อการขยายตัวของการขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ เพราะว่านักการเมืองซึ่งถูกตัดสิทธิ์ มักจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลของพรรคและมีมวลชนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก และสามารถชี้นำและยั่วยุมวลชนไปทิศทางที่ตนเองต้องการ 5) การต่อสู้ในแนวทางนอกระบบรัฐสภามีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับการขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ นำมาซึ่งความรุนแรง
พัฒนาการทางการเมืองของภาคประชาชน โดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวของประชาชนภายใต้โครงสร้างของความเหลื่อมล้ำ มีข้อเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองปัจจุบันเน้นอยู่ที่ สิทธิที่เสมอภาคกันของพลเมืองแห่งรัฐ การกล่าวถึง “ไพร่-อำมาตย์” หรือการประณามสภาวะ “สองมาตรฐาน” ล้วนแล้วแต่แสดงออกถึงความต้องการความเท่าเทียมกันในฐานะพลเมือง และการเคลื่อนไหวภายใต้มโนทัศน์ “วัฒนธรรมชุมชน” เป็นการเรียกร้องในนามของ “พลเมือง” การเกิดขึ้นของความคิดเรื่อง “การเมืองภาคประชาชน” การเคลื่อนไหวของกลุ่ม “วัฒนธรรมชุมชน” ได้ทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ถึงบทบาทของตนเองในการต่อสู้เพื่อสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน ผ่านการเรียนรู้และต่อรองกับกลุ่มและองค์กรภาครัฐและจากผู้นำปัญญาชน ส่วนการแปรเปลี่ยนสำนึกทางสังคมและการเมืองของพลเมือง โดยเฉพาะการขยายตัวของภาคการผลิตไม่เป็นทางการ การดำรงชีวิตอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชย์ ส่งผลอย่างน้อย ๕ ด้าน คือ ความสำนึกในศักยภาพหรือทักษะเฉพาะด้านของตนเองในการดำเนินชีวิตทางเศรษฐกิจ การจินตนาการเชื่อมต่อระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเองเข้ากับส่วนรวมหรือสังคมมากขึ้น การแบกรับความเสี่ยงของการดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง การจัดตั้งองค์กรหรือเครือข่ายที่มีลักษณะความสัมพันธ์ที่เสมอภาคมากขึ้น ความสามารถในการสร้างความเท่าเทียมกันในการบริโภค รวมถึงแกนนำท้องถิ่น และ การเมืองจากฐานล่าง แกนนำท้องถิ่นประกอบด้วยบุคคลหลากหลายส่วน มวลชนที่เกิดขึ้นในบริบทชนบทใหม่ ที่มีอาชีพความรู้สึกนึกคิดและความตื่นตัวทางการเมืองคล้ายคนชั้นกลางชาวเมือง ในขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่มีบทบาทเป็นมวลชนที่เข้าร่วมในฐานะผู้ตามของการเคลื่อนไหว และกระแสการเคลื่อนไหวของมวลชนยุคใหม่ที่แพร่หลายอย่างเป็นธรรมชาติอย่างกว้างขวาง อันได้แก่ ขบวนการประชาชนสายปฏิรูปประเทศ แกนนำท้องถิ่นสายปฏิรูประเทศ-พลเมืองผู้ตื่นตัว
บทที่ 6: อุดมการณ์และวัฒนธรรมในโครงสร้างอำนาจทางสังคม (สรุป)
อุดมการณ์ของรัฐที่ระบอบปฏิวัติภายใต้จอมพลสฤษดิ์สร้างขึ้นมาและทำให้มีอำนาจครอบงำได้แก่อุดมการณ์รัฐไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและเป็นที่มาของความชอบธรรมทางการเมือง ความคิดว่าด้วยชาติไทยได้แก่การเป็นชาติที่มีความเป็นเอกภาพสูง ไม่มีความแตกต่างในเชื้อชาติและศาสนา เพราะทุกคนล้วนเท่าเทียมกันต่อหน้าพระมหากษัตริย์ นั่นคือการมีความจงรักภักดีอันเดียวกัน ประชาชนเชื่อฟังและปฏิบัติตามผู้ปกครองและผู้นำ เพื่อการมีความมั่นคงปึกแผ่นของชาติ ชาติดำรงอยู่เพื่อและรักษาศาสน์กษัตริย์ ไม่ได้ดำรงอยู่เพื่อประชาชน นำไปสู่การสร้างวาทกรรมการปกครองแบบพ่อกับลูกที่แทนที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยม ประเด็นที่สำคัญได้แก่ การสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้นำกองทัพในการใช้กำลังนอกระบบรัฐธรรมนูญมาเป็นเครื่องมือหลักของการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและผู้นำทางการเมือง มีผลต่อกระบวนการสร้างรัฐและสถาบันทางการเมืองและการปกครอง ซึ่งกำกับและผลักดันทิศทางของระบบเศรษฐกิจรวมถึงระบบวัฒนธรรมและความคิดทางสังคมทั้งหลาย เช่นความคิดเรื่องความยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำ จุดหมายของการพัฒนา คุณค่าในทางสังคมและปัจเจกบุคคล อันรวมถึงความดีความถูกต้องการใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญของกองทัพว่าเมื่อการยึดอำนาจกระทำได้สำเร็จและจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นมาทำการปกครองได้แล้ว ก็ให้ถือว่าเทียบเท่ากับรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจอันถูกต้องตามกฎหมายในการกระทำของตนดังเช่นรัฐทั่วไป นั่นเป็นการให้ความชอบธรรมในทางกฎหมายสมัยใหม่ที่ยากต่อการโต้แย้งและขัดขืนของสังคม ในทางอุดมการณ์ พฤติกรรมและการให้ความถูกต้องทางกฎหมายมีผลต่อการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งต่อความคิดเรื่องอำนาจว่าในที่สุดแล้วอำนาจที่ถูกที่สุดจักต้องมีกำลังรองรับ หากปราศจากกำลัง อำนาจใดๆ ก็ไม่อาจมีความถูกต้องและคงทนอยู่ได้ ทำให้ความชอบธรรมอื่นๆทีมีที่มาจากหลักการและความคิดสมัยใหม่อื่นๆ อันวางอยู่บนมติมหาชนและคนส่วนใหญ่ของประเทศและสังคมไม่มีน้ำหนักและความเป็นจริงในการปฏิบัติ ทำให้การปกครองของไทยขาดมิติและหนทางของการใช้ความคิดและวัฒนธรรมอันหลากหลายของประชาชนและสังคมในการช่วยสร้างความมั่นคงและประสิทธิภาพ
1. อุดมการณ์คนชั้นกลางกับประชาธิปไตยที่ไร้น้ำยา
กลุ่มคนและชนชั้นที่ก่อรูปและมีฐานะบทบาทในกระบวนการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบประชาธิปไตยของประเทศตะวันตกอย่างมีนัยได้แก่คนชั้นกลาง ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือการขยายและเปิดกว้างระบบการศึกษาให้แก่เยาวชนจำนวนมากขึ้น ระบบการศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการเลื่อนชั้นของชนชั้นกลางไทย การที่การศึกษารับใช้ชนชั้นและให้ความได้เปรียบและประโยชน์แก่กลุ่มคนต่างๆอย่างไม่เท่าเทียมกันทำให้ชนชั้นกลางไทยมีความห่างจากชนชั้นล่างมากไปเรื่อยๆ แทนที่จะใกล้และร่วมมือกันได้ในการเคลื่อนไหวและต่อสู้ทางการเมืองต่อไป เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจการเมืองเปลี่ยนไปในทิศทางที่ส่งเสริมและสร้างความก้าวหน้าให้แก่กิจการของคนชั้นกลางอย่างต่อเนื่องและมีพลัง อันเป็นผลจากอำนาจแบบกว้างและครอบคลุมของเศรษฐกิจระบบทุนโลกาภิวัตน์ มีผลทำให้ทรรศนะและท่าทีทางการเมืองของคนชั้นกลางเริ่มเปลี่ยนไป จากการที่ยอมรับการแทรกแซงทางการเมืองของกองทัพในการทำรัฐประหาร มาสู่การจำกัดบทบาทในการทำหน้าที่รัฐบาลของผู้นำกองทัพ
ท่ามกลางการต่อสู้และเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านี้ทำให้คนชั้นกลางไทยเริ่มผลิตและเสนอวาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยในความคิดของพวกเขาขึ้นมา เช่นการให้ความสำคัญแก่รัฐธรรมนูญและเนื้อหาในอันที่จะตรวจสอบอำนาจรัฐได้ และประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้นให้ครอบคลุมทั้งทางชาติพันธุ์และเพศสภาพไปถึงสิทธิชุมชนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วย ในปัจจุบันแนวความคิดที่นักเคลื่อนไหวคนชั้นกลางรับมาเป็นปรัชญาได้แก่ความคิดในการปฏิรูปของนักคิดและปัญญาชนจากมหาวิทยาลัย เช่น “ทฤษฎีสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา”และ “สังคมสมานุภาพ” กับ “สังคมดีไม่มีขาย อยากได้ต้องร่วมสร้าง” เป็นต้น ทั้งหมดมีแนวความคิดอันเดียวกันคือเรียกร้องให้ทุกคนเข้ามาทำหน้าที่ของคนดีของสังคม มาร่วมกันสร้างเป็นพลังทางสังคม จึงจะไปแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้
2. อุดมการณ์ ความขัดแย้งของชนชั้นนำ การช่วงชิงมวลชนในชนบท
การแข่งขันช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มผนึกอำนาจ 2 ฝ่าย คือ กลุ่มอำนาจเก่า หรือ “กลุ่มอนุรักษ์นิยม” ซึ่งเป็นกลุ่มประวัติศาสตร์ มีแกนกลางคือ “เครือข่ายกษัตริย์” อุดมการณ์หลักที่กลุ่มนี้ผลักดันก็คือ “ราชาชาตินิยม” กลุ่มอำนาจใหม่ เข้าสู่อำนาจในฐานะกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนไทยอื่นๆที่ฝากความหวังในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะเข้ามากอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจ ยังได้รับคะแนนนิยมจากนโยบายประชานิยม การเคลื่อนไหวทางการเมืองคนเสื้อแดงก็อาศัยวาทกรรมประชาธิปไตยเป็นฐานของการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญ
การช่วงชิงมวลชนของกลุ่มอำนาจเก่าและกลุ่มอำนาจใหม่ โดยที่การเป็นหมู่บ้านฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นผลของปัจจัยหลายประการ ประการแรก คือ เป็นผลของการสร้างความยินยอมพร้อมใจโดยสมัครใจ ภายใต้อุดมการณ์ราชาชาตินิยม ที่มีมาต่อเนื่องยาวนานและหนาแน่นจริงจัง ซึ่งกระทำผ่านกลไกสำคัญ เช่น สื่อสารมวลชน การศึกษา และระบบราชการ อีกประการหนึ่งคือบทบาทของปัญญาชนคนสำคัญของหมู่บ้านในการพัฒนา แสดงให้เห็น อานุภาพของความสำเร็จของการสร้าง “พลเมืองผู้จงรักภักดี” (Citizen King) และอานุภาพของการสร้างพระราชอำนาจนำผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งในที่นี้คือ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง อุดมการณ์ชุมชน-ชาตินิยมได้ยึดโยงแนบแน่นกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของสถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาทของสถาบัน “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ได้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการโต้ตอบกับวิกฤต และสถาบันพระมหากษัตริย์ได้กลายมาเป็นเสาหลักทางอุดกมการณ์ในพื้นที่ประชาสังคม สำหรับหมู่บ้านชาวสวนยางแห่งหนึ่งมีความนิยมต่อพรรคไทยรักไทย การขยายตัวของความต้องการยางพาราในตลาดโลก ที่ทำให้ตั้งแต่ปี 2540 ยางพารามีราคาดีขึ้น นอกจากนั้นมีกองทุนหมู่บ้าน เป็นประโยชน์อย่างมากต่อบรรดาชาวสวนยางฐานะปานกลางและยากจน เพราะสามารถนำเงินไปหมุนเวียนใช้ในครัวเรือน ในระหว่างที่กำลังสะสมทุนทางจากการผลิต ชาวบ้านแห่งนี้ การจัดการกองทุนเงินล้าน โดยคณะกรรมการชาวบ้านที่เลือกตั้งขึ้นมา ให้ชาวบ้านกำหนดนโยบายและรับผิดชอบกันเอง ได้กลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านรู้สึกว่า สิ่งนี้คือผลพวงรูปธรรมประการหนึ่งจากการลงคะแนนเลือกตั้งของพวกเขา และพวกเขาก็ได้รับการยอมรับให้มีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐเพื่อสนองความต้องการของตนเองได้ ปรากฏการณ์นี้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสำนึกทางการเมืองของชาวบ้านอย่างน่าสนใจ หมายความว่าสิ่งที่ชาวบ้านต้องการหรือหวงแหนไม่ใช่เพียงแค่นโยบายที่เป็นประโยชน์ หรือไม่ใช่แค่ประเด็นทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการ/หวงแหนก็คือ “อำนาจทางการเมือง” เพราะทักษิณเป็นตัวแทนทางการเมือง (representation) คือตัวแทนที่เข้าสู่การบริหารประเทศอย่างชอบธรรมในวิถีทางประชาธิปไตย และทักษิณได้กลายเป็นศูนย์รวมของ “ชุมชนทางการเมือง” ของพวกเขา และสิ่งนี้คือความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในชนบทที่สังคมไทยควรจะเข้าใจ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชน คือความสำนึกของประชาชนที่เกิดขึ้นจาก ประเด็นวิพากษ์ทางการเมืองที่แหลมคม ที่รู้จักกันดีในเรื่อง
“ไพร่ – อำมาตย์” และ “สองมาตรฐาน” การวิจารณ์ระบอบอำมาตย์ นับเป็นท้าทายอำนาจกลุ่มอนุรักษ์นิยมโดยตรง และนับเป็นการประกาศอย่างต่อสาธารณะในการเป็นอีกขั้วอำนาจหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม การวิจารณ์นี้มุ่งตรงไปที่ระบอบอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง ความไม่เท่าเทียมกันทางการเมือง และความไม่เท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ อีกทั้งการหยิบยกเรื่องการถูกปฏิบัติจากรัฐแบบสองมาตรฐานขึ้นมาตีแผ่ การชุมนุมที่ยาวนาน ความเร่งเร้าของการชุมนุม และวาทศิลป์ในการปราศรัยของแกนนำหลายคน ได้ทำให้มวลชนได้ยกระดับการเรียนรู้ทางการเมือง ไปมากกว่าความรู้สึกว่าฝ่ายประชาธิปไตยอยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม ไปสู่การตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อความตื่นตัวของมวลชนเสื้อแดง ก็คือระบบสื่อสารมวลชนที่ก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สื่อมวลชนหลักในหมู่บ้านแห่งนี้คือ โทรทัศน์ในระบบสัญญาณดาวเทียม เพื่อรับชมรายการโทรทัศน์ในเครือข่ายของ นปช. ซึ่งรายการโทรทัศน์ ให้ข้อมูลข่าวสารและตอกย้ำอุดมการณ์ นอกจากนั้นยังมีอินเทอร์เน็ต ซึ่งใช้บริการได้ผ่านระบบโทรศัพท์พื้นฐาน
3. การก่อรูปของความคิดทางการเมืองในท้องถิ่น
การเปลี่ยนแปลงความคิดในเรื่องความหมายของ "ความยุติธรรม/ความอยุติธรรม" เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมไทยทวีความแหลมคมขึ้น คนแต่ละกลุ่มแต่ละชนชั้นต่างก็ตีความหรือให้ความหมายแก่ "ความยุติธรรม-อยุติธรรม" แตกต่างกันออกไป ได้สร้างปฏิบัติการทางสังคมการเมืองเพื่อบรรลุถึงความยุติธรรมตามทัศนะของตนในวิถีทางที่แตกต่างกันไปด้วย คำว่า "ความยุติธรรม" ที่ฝังไว้ด้วยความหมายของความไม่เท่าเทียมกันจึงทำให้การพิทักษ์ความยุติธรรมนั้นมีความลักลั่นตลอดมา คนกลุ่มใหม่ในสังคมซึ่งการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากย่อมไม่สามารถยอมรับความยุติธรรมในความหมายเดิม และเริ่มคิดว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ
บทที่ 7: ทางออก ข้อเสนอเชิงนโยบาย
ระบบการเมืองประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วม คือการสนับสนุนให้ระบบประชาธิปไตยมีความมั่นคง ปลอดจากการใช้กำลังอำนาจนอกรัฐธรรมนูญมาแทรกแซงอีก จากนั้นเปิดพื้นที่และให้โอกาสทางการเมืองแก่คนจำนวนมากในทุกท้องถิ่น ได้เข้ามามีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างเต็มที่
อุดมการณ์ชุมชนเชิงบวก คือการสนับสนุนความคิดและการปฏิบัติที่มีชุมชนทั้งในเมืองและชนบทเป็นจุดหมาย ระยะยาวคือการลดบทบาทในการกำกับและดำเนินนโยบายของรัฐบาลแบบรวมศูนย์