แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(13 ก.ค. 55) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 629 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.97 เมตร ส่วนที่เขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.50 เมตร(รทก.) มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 2,840 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่าตลิ่ง 8.41 เมตร
ในขณะที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์ 279 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจุดนี้ยังเป็นจุดวัดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลผ่านเข้าสู่กรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย) แนวโน้มสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา(13 ก.ค.) มีดังนี้
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,121 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,300 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,139 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 209 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 700 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 95 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 690 ล้านลูกบาศก์เมตร
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หลายแห่งจะพบว่ามีปริมาณน้ำลดลง เนื่องจากมีการพร่องน้ำเพื่อให้มีพื้นที่รองรับปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างฯมากขึ้น ในช่วงที่เกิดน้ำบ่าไหลหลาก ซึ่งกรมชลประทาน ได้ให้ทุกโครงการฯทั่วประเทศ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับการเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในแต่ละพื้นที่ โดยให้เตรียมพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ รวมไปถึงการตรวจสอบอาคารบังคับน้ำ ประตูระบายน้ำต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย