แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ปลอดประสพห่วงการรองรับ-ระบายน้ำลุ่มน้ำยม
วันที่ 7 มิถุนายน นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กล่าวว่า ในปีนี้ฤดูฝนมาช้ากว่าปีก่อน โดยมีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีก่อนร้อยละ 20 แต่มากกว่าเกณฑ์ปกติร้อยละ 20 ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยกว่าปีก่อนเช่นกันร้อยละ 2-3 ซึ่งเขื่อนทั่วประเทศสามารถรับน้ำได้ประมาณ 35,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลช่วยตัดยอดน้ำได้ประมาณ 5,000 – 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และแก้มลิงช่วยตัดยอดน้ำได้ประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ปีนี้ประเทศจะเสี่ยงกับปริมาณน้ำเหลือ 15,000 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีก่อน 1 ใน 3 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ด้วย
พร้อมกัลยืนยันว่า จะไม่ปล่อยให้น้ำไหลเข้าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจ เพราะจะเน้นการควบคุมการระบายน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อกักเก็บน้ำใหม่ ส่วนประตูระบายน้ำทุกบานเตรียมพร้อมหมดแล้วด้วยการติดกล้องวงจรปิดในการตรวจสอบการไหลของน้ำ การเก็บกักน้ำ และปริมาณน้ำ
ทั้งนี้มีความเป็นห่วงการรองรับและการระบายน้ำของลุ่มน้ำยมมากที่สุด เพราะไม่มีการก่อสร้างอะไรในการเก็บกักน้ำ และป่าไม้ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเต็งรังไม่สามารถดูดซับปริมาณน้ำและฝนที่ตกลงมา ทำให้มีความเป็นห่วงพื้นที่จังหวัดแพร่และสุโขทัย ซึ่งนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่ติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นกรณีพิเศษ เพื่อติดตามปัญหาและการบริหารงานในลุ่มน้ำยม ส่วนพื้นที่ที่ผู้เชียวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศจีนจะลงพื้นที่สำรวจ คือ พื้นที่ 8 ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พื้นที่ประมาณ 60,000 – 70,000 ตารางกิโลเมตร
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ตนเองไปติดตามและตรวจสอบความพร้อมและการดำเนินโครงการด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนที่กรุงเทพมหานครดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกคูคลอง ความพร้อมด้านเทคนิค และการบริหารจัดการน้ำ
วันที่ 6 มิถุนายน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ หลังจากเกิดฝนตกหนักในช่วง 1 – 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่างๆ อาทิ จังหวัดระนอง ฝนที่ตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วม ในพื้นที่อ.สุขสำราญ บริเวณคลองนาคา และคลองกำพวน, อ.กะเปอร์ บริเวณคลองบางหิน น้ำท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร , อ.กระบุรี มีน้ำท่วมถนนเพชรเกษมสาย 4 บ้านทับหลี สถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัวและปิดการจราจรแล้ว ส่วนที่อ.เมืองระนอง มีน้ำท่วมบริเวณหน้าสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ประมาณ 15 เซนติเมตร
ในส่วนของจังหวัดชุมพร หลังจากเกิดฝนตกหนักทางตอนบนของลุ่มน้ำท่าตะเภา ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากลงสู่คลองท่าตะเภาจำนวนมาก โครงการชลประทานชุมพร ได้ใช้ประตูระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา เพื่อป้องกันไม่ให้ปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่านเข้าสู่ตัวเมืองชุมพร โดยการเร่งระบายน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุดผ่านคลองหัววัง-พนังตัก ปัจจุบันระดับน้ำในคลองท่าตะเภา อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง 1.20 เมตร อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ส่วนคลองอื่นอาทิ คลองรับร่อ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 50 เซนติเมตร , คลองสวี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 50 เซนติเมตร มีน้ำท่วมถนนสายเอเชียบริเวณแยกหนองพรหม น้ำท่วมสูงประมาณ 10 เซนติเมตร ระยะทางประมาณ 100 เมตร
อนึ่ง จากการติดตามสถานการณ์น้ำในเขตอำเภอหลังสวน พบว่าระดับน้ำในคลองหลังสวนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะล้นตลิ่งเข้าท่วมที่ลุ่มต่ำ และย่านชุมชนเมืองหลังสวนได้ ภายในเวลาประมาณ 18.00 น.ของวันที่ 6 มิถุนายน โครงการชลประทานชุมพรได้รายงานสถานการณ์ให้ทางจังหวัดชุมพรทราบ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งแล้ว
กรมชลประทาน จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ริมตลิ่งคลองหลังสวนในเขตอำเภอหลังสวน เตรียมพร้อมรับมือ พร้อมทั้งขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย
วันที่ 5 มิถุนายน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ ล่าสุด มีปริมาณน้ำรวมกัน จำนวน 36,911 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯขนาดใหญ่รวมกันทั้งหมด สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 33,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในภาคเหนือ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 6,182 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 7,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 4,650 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ มีปริมาณน้ำ 115 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 140 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนกิ่วลม จ.ลำปาง มีปริมาณน้ำ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 287 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 31 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 650 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ได้อีกกว่า 4,800 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี มีปริมาณน้ำ 34 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำ 293 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 220 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำ 703 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำ 144 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 170 ล้านลูกบาศก์เมตร แนวโน้มเขื่อนหลายแห่งภาคอีสาน มีน้ำมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 138 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 640 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี มีปริมาณน้ำ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก มีปริมาณน้ำ 27 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 12 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 190 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนประแสร์ จ.ระยอง มีปริมาณน้ำ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ สามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 130 ล้านลูกบาศก์เมตร
อนึ่ง กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้บริเวณประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้