แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (22 – 28 พ.ค.55)
วันที่ 29 พฤษภาคม 2555 คณะรัฐมนตรีรับทราบ รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ (วันที่ 22 – 28 พฤษภาคม 2555) ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สถานการณ์ในภาพรวม
- สภาพภูมิอากาศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคตะวันตกและภาคกลางมีฝนตกปานกลาง
- สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำเก็บกัก ประมาณร้อยละ 53 อยู่ในเกณฑ์ดี
เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 51 – 80 อยู่ในเกณฑ์น้ำดี มีจำนวน 9 แห่ง คือ เขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง เขื่อนน้ำอูน จังหวัดสกลนคร เขื่อนลำแซะ จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนหนองปลาไหล จังหวัดระยอง เขื่อนบางพระ จังหวัดชลบุรี เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา
เขื่อนที่มีน้ำระหว่างร้อยละ 31 – 50 อยู่ในเกณฑ์น้ำพอใช้ มีจำนวน 14 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนวชิราลงกรณ จังหวัดกาญจนบุรี เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เขื่อนลำตะคอง เขื่อนลำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และเขื่อนประแสร์ จังหวัดระยอง
เขื่อนที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 31 อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย มีจำนวน 10 แห่ง คือ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก เขื่อนห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี เขื่อนน้ำพุง จังหวัดสกลนคร เขื่อนลำพระเพลิง จังหวัดนครราชสีมา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี เขื่อนทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก เขื่อนคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขื่อนปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
- สภาพน้ำในแม่น้ำสายสำคัญส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปกติต้นน้ำบางสาย มีปริมาณน้ำน้อย
2. การเตรียมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2555
2.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาวะอากาศปลายสัปดาห์นี้จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันตกของประเทศ ด้านตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ต้องระวังอันตรายจากฝนตกหนัก อาจมีน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
2.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 46 จังหวัด 464อำเภอ 3,166 ตำบล 34,008 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 945,097 ไร่ โดยได้แจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคแล้ว จำนวน 55,871,080 ลิตร แจกจ่ายน้ำและเพื่อการเกษตรจำนวน 1,291,993 ลิตร
2.3 กรมทรัพยากรน้ำ คาดการณ์จังหวัดที่เสี่ยงภัยแล้งในรอบสัปดาห์นี้ มี 24 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ลำพูน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร ปราจีนบุรี สระแก้ว ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุรินทร์ อุบลราชธานี หนองคาย เลย นครพนม ยโสธร ชัยภูมิ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น ศรีสะเกษ และสระบุรี
2.4 กรมชลประทาน รายงานโดยส่วนใหญ่ปริมาณน้ำท่า ซึ่งไหลเข้าเขื่อนต่างๆ ตั้งแต่ต้นปีมามีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ปกติ
2.5 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เตรียมแผนการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์) ในช่วงพฤษภาคม - สิงหาคม 2555 ทั้งสิ้น 3,700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยได้ระบายไปแล้ว (วันที่ 1 - 23 พฤษภาคม 2555) 1,457 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้มีปริมาณน้ำใช้งานได้รวมกัน 4,219 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาณน้ำพอเพียงที่ต้องระบายอีก 2,243 ล้านลูกบาศก์เมตร
2.6 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล จำนวน 22,017 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 84.3 ของแผน ซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำ 11,832 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 83.3 ของแผน ซ่อมแซมระบบประปาบาดาลหมู่บ้าน 2,902 ระบบ คิดเป็นร้อยละ 46.2 ของแผน อุดกลบบ่อน้ำบาดาล 540 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 33.6 ของแผน เจาะบ่อน้ำบาดาล 718 บ่อ คิดเป็นร้อยละ 44.6 ของแผน
2.7 การประปาส่วนภูมิภาค รายงานว่ามีพื้นที่ประสบปัญหาปริมาณน้ำดิบลดลง 5 แห่ง ได้แก่ สาขาเชียงใหม่ สาขาแก้งคร้อ สาขาหนองบัวแดง สาขาอุดรธานี สาขาศีขรภูมิ และต้องจ่ายน้ำเป็นช่วงเวลา มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ สาขาสะพานหิน สาขาคลองใหญ่ สาขาประจวบคีรีขันธ์
2.8 สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปรับปรุงแผนการปฏิบัติการฝนหลวง ตามสภาพภูมิอากาศของเดือนมิถุนายน 2555 โดยมีหน่วยปฏิบัติการในจังหวัดพิษณุโลก ตาก อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น กาญจนบุรี ลพบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ และที่หัวหิน
2.9 คณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ มีข้อสั่งการ ดังนี้
ประธานได้แจ้งให้ที่ประชุมร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำที่ถูกต้องและชัดเจนให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่มีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้นจะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำทันที เพื่อสรุปสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขและนำเรียนคณะรัฐมนตรีต่อไป