แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
กรมชลฯ ลงนาม MOU กับเนเธอร์แลนด์พัฒนาแนวทางบรรเทาอุทกภัย
วันที่ 26 เมษายน 2555 รัฐบาลไทยโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามความร่วมมือ ด้านการบริหารจัดการอุทกภัย ร่วมกับ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยStichting Deltares ณ หอประชุมชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ปากเกร็ด นนทบุรี
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการประสานความร่วมมือโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกรมชลประทานสำนักบริหารน้ำและอุทกวิทยา สำนักวิจัยและพัฒนา โดยสถาบันพัฒนาการชลประทาน และสวัสดิการวิทยาลัยการชลประทาน ดำเนินการสร้างยุทธศาสตร์ นโยบาย แผนปฏิบัติการ ที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืนเพื่อจัดการความเสี่ยงภัยอันเกิดจากน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำต่อไป
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว กรมชลประทาน เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงาน จัดหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องการดำเนินการต่างๆ และอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ
ในขณะที่ Stichting Deltares ประเทศเนเธอร์แลนด์จะเป็นผู้ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล จัดหาและให้คำแนะนำวิธีการพยากรณ์ด้านอุตุ-อุทกวิทยา ระบบการเตือนภัย พร้อมทั้งจัดหาโปรแกรมและจัดฝึกอบรมการใช้งาน SOBEK และ Delft-FEWS แบบใช้งานได้หลายผู้ใช้งานและไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้คำแนะนำเกี่ยวกับมาตรการทั้งแบบใช้สิ่งก่อสร้างและไม่ใช้สิ่งก่อสร้างที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัยและภัยแล้งรวมทั้ง รวมทั้งช่วยจัดหาแหล่งเงินทุนอีกด้วย
ร่วมมือทางวิชาการเรื่องน้ำกับจีน
ขณะที่นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ Mr.JIAO Yong รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ห้องรับรองกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการในสาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทาน (Memorandum of Understanding on Technical Cooperation in the Field of Water Resources and Irrigation) โดยหน่วยงานในการประสานงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้แก่ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนของประเทศไทย ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ
สำหรับความคืบหน้าปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบสารัตถะของ MOU แล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจากผ่านความเห็นชอบแล้ว จึงจะสามารถประสานงานในการลงนามได้ต่อไป
นายธีระ กล่าวต่อไปว่า สำหรับ MOU ฉบับที่ต้องการให้มีการลงนาม มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายระยะเวลาและส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในสาขาทรัพยากรน้ำด้านการใช้ประโยชน์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีขอบเขตครอบคลุมเรื่องการป้องกันและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการและก่อสร้างเขื่อน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรน้ำและมาตรการรับมือ การป้องกันและบรรเทาอุทกภัย การอนุรักษ์ดินและน้ำ การชลประทานและการระบายน้ำ การประสานงานและร่วมมือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับน้ำในระดับนานาชาติ และความร่วมมือในด้านอื่นๆที่สนใจร่วมกัน
ส่วนรูปแบบความร่วมมือใน MOU ฉบับดังกล่าว จะเน้นความร่วมมือทางวิชาการเกี่ยวกับ การแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงานของผู้เชี่ยวชาญ การประชุมทางวิชาการ การอภิปราย สัมมนา การแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้อง การแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมในหลักสูตรสาขาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแหล่งน้ำ การวิจัยและพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการบริหารจัดการน้ำและด้านเทคนิค การสนับสนุนสถาบันพัฒนาและวิจัยของคู่ภาคีในการร่วมดำเนินการโครงการวิจัยและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย บุคลากร และ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม การร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ นิทรรศการ และแลกเปลี่ยนการศึกษาดูงาน ในสาขาที่มีความสนใจร่วมกันและความร่วมมือรูปแบบอื่นๆ ที่ได้มีการเจรจาตกลงร่วมกันของคู่ภาคี
สถานการณ์น้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำ ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดว่า ปัจจุบัน (26 เม.ย. 55) สภาพน้ำในปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้ำคงเหลือ 42,510 ล้าน ลบ.ม.(57% ของความจุอ่างฯรวมกัน) ซึ่งส่วนใหญ่จะมีน้ำเพียงพอในการสนับสนุนการใช้น้ำจนถึงต้นฤดูฝนโดยไม่ขาดแคลน
สำหรับในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำไว้ดังนี้
1. เขื่อนแควน้อย มีน้ำต้นทุน 28 % คิดเป็นปริมาณน้ำ 264 ล้าน ลบ.ม. การส่งน้ำจากอ่างฯจะสนับสนุนการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งมีเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักและมีน้ำเพียงพอ จึงไม่เป็นปัญหาที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำ
2. เขื่อนป่าสักฯ มีน้ำต้นทุน 28 % คิดเป็นปริมาณน้ำ 223 ล้าน ลบ.ม. การส่งน้ำจากอ่างฯจะสนับสนุนการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งมีเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนหลักและมีน้ำเพียงพอ จึงไม่เป็นปัญหาที่จะเกิดการขาดแคลนน้ำ
3. เขื่อนทับเสลา ปัจจุบันมีน้ำ 27 % (43 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 35 ล้าน ลบ.ม.) ส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค เดือนละ 2.0 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเพียงพอถึงฤดูฝน สำหรับการปลูกข้าวนาปีจะเริ่มได้ในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูฝนแล้ว
4. เขื่อนขุนด่านฯ ปัจจุบันมีน้ำ 16 % (40 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 36 ล้าน ลบ.ม.) ส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรังและอุปโภค - บริโภค ถึงสิ้นเดือน เม.ย. จะใช้น้ำอีกประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม.จากนั้นจะส่งน้ำเพื่ออุปโภค - บริโภค การท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศน์เดือนละ 4.0 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำเพียงพอโดยไม่ขาดแคลนจนถึงฤดูฝน การปลูกข้าวนาปีจะเริ่มในเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูฝนของพื้นที่นี้
5. เขื่อนห้วยหลวงฯ ปัจจุบันมีน้ำ 18 % (24 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 17 ล้าน ลบ.ม.) ส่งน้ำเพื่ออุปโภค - บริโภค ประมาณเดือนละ 2 ล้าน ลบ.ม. แต่มีปัญหาเมื่อน้ำในอ่างฯคงเหลือต่ำกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. จะต้องสูบน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปา ของเทศบาลเมืองอุดรธานี ซึ่งโครงการฯได้ติดตั้งเครื่องสูบน้าไว้พร้อมแล้ว มีน้ำเพียงพอจนถึงฤดูฝน การปลูกข้าวนาปีจะเริ่มปลายเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูฝนแล้ว
6. เขื่อนปราณบุรี ฯ ปัจจุบันมีน้ำ 24 % (85 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 67 ล้าน ลบ.ม.) ส่งน้ำเฉพาะเพื่ออุปโภค - บริโภค เป็นรอบเวณครั้งละ 20 ล้าน ลบ.ม. โดยส่งน้ำ 14 วัน แล้ว หยุดส่งน้ำ 20 วัน จะสามารถส่งน้ำได้อีก 3 รอบ รอบแรกเริ่มส่งน้ำวันที่ 23 เม.ย.55 เพื่อป้องกันปัญหาโครงการฯ ได้ประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัด และเพื่อเตรียมพร้อมหากฝนตกล่าช้ากว่าปกติ โดยโครงการได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ใช้น้ำทั้งหมดในวันที่ 3 พ.ค.55 มีผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานเพื่อสรุปแนวทางการจัดสรรน้าอย่างรอบครอบไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำขึ้นได้
7.เขื่อนจุฬาภรณ์ฯ ปัจจุบันมีน้ำ 29 % (48 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 14 ล้าน ลบ.ม.)การจัดการน้ำต้องบูรณาการกับการจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยกุ่ม ซึ่งปัจจุบันมีน้ำใช้การได้ 4 ล้าน ลบ.ม. จะส่งน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคสำหรับลำน้ำพรม (น้ำจากเขื่อนจุฬาภรณ์ระบายผ่านOutlet ลงอ่างห้วยกุ่มแล้วส่งน้ำลงลำน้ำพรม) และลำน้ำเชิญ(ใช้น้ำจากการระบายน้ำผ่านเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนจุฬาภรณ์ลงลำน้ำเชิญ) เดือนละประมาณ 4 ล้าน ลบ.ม.มีน้ำเพียงพอถึงฤดูฝนซึ่งปกติจะเริ่มประมาณกลางเดือน พ.ค.โดยไม่ขาดแคลน
ในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำ จำนวนทั้งสิ้น 14,581 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม.( 8%) เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,021 ล้าน ลบ.ม. (34% ) และเพื่อการเกษตร 8,460 ล้าน ลบ.ม. ( 58% ) โดยมีพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 10 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ทำนาปรัง 9.84 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผัก 0.45 ล้านไร่ ปัจจุบันได้จัดสรรน้ำไปแล้ว 14,533 ล้าน ลบ.ม.(100% ) และมีการเพาะปลูกพืชรวม 10.29 ล้านไร่(103% )
สำหรับการทำนาปีของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงต้นฤดูฝนปี 2555 นี้ ได้กำหนดให้เริ่มทำการเพาะปลูกนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ตามแผนการจัดระบบการปลูกข้าวใหม่ที่ได้วางไว้ ซึ่งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 12,098 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 5,402 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำโดยไม่เกิดการขาดแคลนน้ำ
ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำจะคงเหลือร้อยละ 51 หรือประมาณ 6,850 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์ ปริมาณน้ำจะคงเหลือร้อยละ 52 หรือประมาณ 4,945 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยฯ ปริมาณน้ำจะคงเหลือร้อยละ 31 หรือประมาณ 291 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ เขื่อนป่าสักฯ ปริมาณน้ำจะคงเหลือร้อยละ 27 หรือประมาณ 212 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับฤดูฝนปี 2555 กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ฤดูฝนจะเริ่มประมาณกลางเดือน พ.ค. 2555 ประกอบกับปรากฏการณ์ลานีญาได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ปริมาณฝนในปีนี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศส่วนใหญ่มีพื้นที่ว่างพอที่จะรองรับน้ำในฤดูฝนได้ โดยไม่เกิดปัญหาน้ำล้นลงมาท่วมพื้นที่ด้านล่างและทำให้เกิดปัญหาอุทกภัยหนักเหมือนในปีที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังก็คือ หากมีปริมาณน้ำไหลลงในอ่างเก็บน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อยจะทำให้น้ำต้นทุนที่จะใช้สนับสนุนการใช้น้ำในฤดูแล้งในปีหน้าอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจะต้องวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมต่อไป
อนึ่ง สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้วางแผนการบริหารจัดการน้ำในส่วนของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ร่วมกัน ตั้งแต่บัดนี้ไปจนสิ้นฤดูฝนปี 2555 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าปริมาณฝนในปีนี้จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เขื่อนทั้งสองแห่งจะมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,200 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯรวมกัน สำหรับเขื่อนแควน้อย คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 836 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 89 ของความจุอ่างฯ ส่วนเขื่อนป่าสักฯ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำ 591 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของความจุอ่างฯ