แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
นายกฯ มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการทำงานแก้ปัญหาภัยแล้ง
วันที่ 24เมษายน 2555 ณ ห้องประชุมงบประมาณ ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กำชับและเน้นย้ำในเรื่องของภัยแล้ง และมอบหมายให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปบูรณาการทำงานร่วมกับนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ
เนื่องจากขณะนี้มีหลายจังหวัดเริ่มที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งแล้ว เช่น มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่จะนำน้ำจากแก้มลิงหรือน้ำที่อยู่ในบึงส่งต่อไปยังประชาชนในเบื้องต้น เพื่อการบริโภคและขยายต่อยังการผลิตพืชผลทางการเกษตรได้ ทั้งนี้หากจังหวัดใดประสบภัยแล้งนั้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ย้ำว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากระบบชลประทาน ขณะเดียวกันระบบผลิตพืชผลการเกษตรก็ต้องไม่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยให้มีการรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ
ขณะที่นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรววงมหาดไทย เป็นประธานประชุม คณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2555 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง โดยเน้นย้ำให้จังหวัดเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง โดยขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้จ่ายเงินทดรองราชการในอำนาจ จำนวน 50 ล้านบาท ในการแก้ไขปัญหา โดยให้ยึดระเบียบกระทรวงการคลัง อย่างเคร่งครัด หากพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง และงบประมาณไม่เพียงพอให้ประสานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอสนับสนุนงบกลางจากคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกร พร้อมขอให้จังหวัดถือว่า การแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้กลไกการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาคม และชุมชน เพื่อให้ผู้ประสบภัยแล้งได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทั่วถึง
ขณะนี้มีจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง แล้ว 48 จังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำชับการดูแลน้ำดื่ม รวมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อไป
สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน รายงานสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 23 เมษายน 2555 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด 40,664 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 58 ของปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำที่สามารถนำมาใช้การได้ จำนวน 17,166 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณน้ำรวมกันทั้งหมด หากเปรียบเทียบ ณ เวลาเดียวกัน จะพบว่าปริมาณน้ำในปี 2555 มากกว่าปี 2554 จำนวน 3,114 ล้านลูกบาศก์เมตร
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักที่ต้องส่งน้ำไปสนับสนุนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีดังนี้
เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 6,987 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 3,187 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 5,089 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 2,239 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 265 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 28 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 222 ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำในอ่างฯ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 29 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 227 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ เฉพาะในส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้กำหนดแผนการใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ จำนวนทั้งสิ้น 13,220 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น เพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 8 ของแผน เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 3,660 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 28 ของแผน และเพื่อการเกษตร 8,460 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 64 ของแผน
ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด(ณ 12 เม.ย. 55) พบว่ามีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งไปแล้วกว่า 10.07 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนทั้งหมด(แผนกำหนดไว้ 10 ล้านไร่) แยกเป็นพื้นที่ทำนาปรัง 9.63 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 100 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 9.60 ล้านไร่) และพืชไร่-พืชผัก 0.44 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 110 ของแผน(แผนกำหนดไว้ 0.40 ล้านไร่)
สำหรับผลการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั่วประเทศ ณ 23 เม.ย. 55 มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 32,191 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 101 ของแผนจัดสรรน้ำ เฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการนำน้ำไปใช้แล้ว 14,462 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 109 ของแผนจัดสรรน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำเกินแผนที่วางไว้ 1,242 ล้านลูกบาศก์เมตร