แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ซ่อมแซมบานประตูระบายน้ำเขื่อนนเรศวรที่ขาดแล้ว
วันที่ 11 เมษายน ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์ลวดสลิงสำหรับใช้ในการปรับบานขึ้น-ลง บานประตูระบายน้ำช่องที่ 5 ของเขื่อนนเรศวรขาดและหลุดออกจากจุดยึด ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านบริเวณด้านท้ายเขื่อนมีระดับเพิ่มสูงขึ้น และระดับน้ำเหนือเขื่อนลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำน่านด้านเหนือเขื่อนไม่สามารถไหลเข้าคลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาดงเศรษฐี และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าบัว
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ กรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ 3 ได้เร่งดำเนินการนำบานกั้นน้ำชั่วคราว(Bulkhead Gate) จำนวน 5 ท่อนวางซ้อนทับกันปิดด้านเหนือน้ำของช่องที่ 5 เพื่อปิดกั้นน้ำจากทางด้านเหนือเขื่อนไม่ให้ไหลหลากลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อน ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน
และต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 10 เม.ย. ได้ดำเนินการยกระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนนเรศวร ให้ถึงระดับเก็บกักปกติแล้ว ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำน่านสามารถไหลเข้าสู่คลองส่งน้ำสายใหญ่ของโครงการพัฒนาเกษตรชลประทานพิษณุโลกได้ตามปกติ และยังสามารถควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนนเรศวรได้ตามปกติด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้ดำเนินการค้นพบจุดที่บานระบายจมน้ำแล้ว ซึ่งเป็นบริเวณหินเรียงด้านท้ายน้ำของเขื่อนนเรศวร และขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินการหาวิธีนำเอาบานระบายขึ้นมาจากแม่น้ำ ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กรมชลประทาน ขอยืนยันว่า เขื่อนนเรศวรมีความมั่นคงแข็งแรงดี ไม่ได้เกิดความเสียหาย เพียงแต่เกิดการชำรุดของบานระบาย 1 ช่องเท่านั้น ซึ่งกรมชลประทาน จะได้เร่งดำเนินการซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วต่อไป
กรมชลประทาน ปรับแผนการระบายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง
ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ได้รับแจ้งจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ว่าในช่วงวันที่ 8 – 20 เมษายน 2555 ทาง กฟผ. จะประสบกับปัญหาการขาดแคลนพลังงาน จึงมีความจำเป็นต้องเสริมด้วยการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ์
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้กรมชลประทานต้องพิจารณาปรับแผนการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของปริมาณน้ำต้นทุนให้มีเพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปีที่ใกล้จะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ โดยในส่วนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้ปรับแผนการใช้น้ำในช่วงวันที่ 26 มี.ค. – 30 เม.ย. 55 จากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ รวมกันทั้งสิ้น 1,965 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็น การใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล จำนวน 1,135 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนสิริกิติ์ จำนวน 830 ล้านลูกบาศก์เมตร การปรับแผนการใช้น้ำในครั้งนี้ จะส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่ทางด้านท้ายเขื่อนมากกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งกรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกโครงการฯ ที่อยู่ทางด้านท้ายเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ให้รับน้ำเข้าพื้นที่โครงการฯให้มากที่สุด เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
สำหรับลุ่มน้ำแม่กลอง กรมชลประทาน ได้ปรับแผนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งระหว่างวันที่ 26 มี.ค. – 30 มิ.ย. 55 จากเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณ์ รวมกันทั้งสิ้น 3,530 ล้านลูกบาศก์เมตร แยกเป็นการใช้น้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 1,965 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนวชิราลงกรณ์ จำนวน 1,565 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้แจ้งให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนทั้งสองแห่ง ให้รับน้ำเข้าพื้นที่โครงการฯให้มากที่สุดเช่นกัน เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมต่อไป
อนึ่ง การปรับแผนการใช้น้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางด้านท้ายเขื่อน เนื่องจากได้มีการวางแผนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว