แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
ก.เกษตรฯ เล็งทบทวนพร่องน้ำในเขื่อน
ถกแผนระบายน้ำในเขื่อน เสนอกยน.
วันที่ 6 มีนาคม นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในช่วงนี้จากการพยากรณ์อากาศคาดว่าฤดูฝนในปีนี้น้ำจะตกน้อยกว่าปกติ ซึ่งกรมชลประทานจะมีการทบทวนเรื่องการระบายน้ำออกจากเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพลหรือไม่ตามแผน กยน. คือร้อยละ 45 ว่า กรมชลประทานจะมีการพิจารณา และจะเชิญกรมโยธาธิการร่วมหารือในเรื่องดังกล่าว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กยน. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รายงานสถานการณ์ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบทุกเดือน ซึ่งขณะนี้ยืนยันน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำยังอยู่เกณฑ์ดี
ทุ่มงบฯ 424 ล้านปรับปรุงระบบเตือนภัย
ขณะที่คณะรัฐมนตรี วันที่ 6 มีนาคม เห็นชอบตั้งงบประมาณของแผนงานปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศ ภายใต้คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ไปไว้ที่สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีการตั้งงบประมาณของแผนงานปรับปรุงระบบการเตือนภัยของประเทศ 5 โครงการ งบประมาณ 424 ล้านบาท โดยเป็นเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนและแผนปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน (กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ของ กยน. ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากระบบโทรมาตร เครื่องวัดจากกล้องซีซีทีวี และระบบเตือนภัยล่วงหน้าของกรมทรัพยากรน้ำ การพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่ได้รับจากเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี โดยจะมีการดูเรื่องของระบบในเงื่อนไขการจัดทำข้อกำหนดโครงการ หรือ ทีโออาร์ ก่อนจะมีการเซ็นต์สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เชื่อมต่อกับระบบคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติและเครือข่ายเดิมที่มีอยู่ได้อย่างลงตัว
อนุมัติวงเงินป้องกันอุทกภัย 24,828 ล้านบาท
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติวงเงินป้องกันอุทกภัย 24,828 ล้านบาท จากวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย 350,000 ล้านบาท ใช้ดำเนินการ 246 โครงการ ของกระทรวงคมนาคม เช่น การยกระดับถนน การทำคันกั้นน้ำ การสร้างท่อระบายน้ำต่างๆ โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังจากคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.)เห็นชอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่โครงการป้องกันอุทกภัยในระยะยาว รัฐบาลจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เช่น โครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำด้านทิศเหนือคลองรังสิต การก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมเข้าท่ากาศยานดอนเมือง การก่อสร้างทางยกระดับถนนบรมราชชนนี การก่อสร้าง Street canal ยกระดับถนนพุทธมณฑลสาย 4 และ 5 รวมทั้งการขุดลอกคูคลองในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายต่างๆ
กทม.รายงานความคืบหน้าซ่อมคันกั้นน้ำ ขุดคลอง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2555 เกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานป้องกันปัญหาอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ขณะนี้กทม. อยู่ระหว่างการซ่อมแซมแนวป้องกันน้ำท่วม และเสริมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย คลองมหาสวัสดิ์ และคันกั้นน้ำพระราชดำริด้านตะวันออก รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ ขุดลอกคลอง ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบน้ำ และสร้างระบบเตือนภัยโดยติดตั้งเครื่องวัดอัตราการไหลของน้ำ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม นี้
ในส่วนของกรุงเทพมหานครความก้าวหน้าในการทำความสะอาด ลอกท่อระบายน้ำในถนนสายหลักที่เกิดอุทกภัย และถนน ที่เป็นจุดอ่อนน้ำท่วมใน 362 เส้นทาง ความยาวท่อระบายน้ำ 1,022 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กรุงเทพมหานครดำเนินการเอง โดยใช้รถดูดเลน และจ้างเหมากรมราชทัณฑ์ดำเนินการ ขณะนี้ดำเนินการลอกท่อระบายน้ำไปแล้ว 187 กิโลเมตร และทำความสะอาดถนน แล้วเสร็จ 67 เส้นทาง
นอกจากนี้กองทัพบก โดยหน่วยกองพันทหารช่าง กองทัพภาคที่1 กองทัพภาคที่2 และกองทัพภาคที่ 3 ได้เข้ามาจัดทำ โครงการขุดลอกคูคลองในพื้นที่กทม. โดยมีคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพบกทั้งสิ้น 277 คลอง ดำเนินการไปแล้ว 9 คลอง อยู่ระหว่างดำเนินการ 66 คลอง และมีชุดปฏิบัติการพูดคุยกับผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีการแบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบ ซึ่งในส่วนของการดำเนินการดังกล่าว กทม. จะได้มีการเข้าไปประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อดูแลและสนับสนุนให้การปฏิบัติงาน ดังกล่าวมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกับการปฏิบัติงานของกทม. โดยกทม. จะมีหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นทางการต่อไป