แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
กรมชลฯ เพิ่มประสิทธิภาพ สถานีสูบน้ำ-ประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์
วันที่ 3 มีนาคม พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คิรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามโครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน พร้อมด้วยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน และคณะ ได้เดินทางมาติดตามความก้าวหน้าของการปรับปรุงประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ และการปรับปรุงคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริ (KING DIKE) จ.ปทุมธานี
พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คิรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน อยู่ในระหว่างดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำจุฬาลงกรณ์ ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยในการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำลงสู่ทะเลต่อไป
ในระยะเร่งด่วนจะดำเนินการใน 2 ส่วนคือ
1) การติดตั้งเครื่องสูบน้ำกึ่งถาวร ขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 36 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
และ 2) การปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ที่มีอยู่เดิม 2 สถานี โดยเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำจากขนาด 3 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นเครื่องสูบน้ำขนาด 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สถานีละ 6 เครื่อง รวม 12 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 72 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
การดำเนินการในระยะเร่งด่วนนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2555 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ถึง 108 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำที่ระบายน้ำสูงสุดต่อวันถึง 9.33 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
ขณะที่กรมชลประทานมีแผนดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นระบบสูบน้ำสองทาง ในปีงบประมาณ 2555-2556 โดยจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 6 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จำนวน 6 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ 36 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ปัจจุบันอยู่ในระหว่างดำเนินการออกแบบสถานีสูบน้ำซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2555 นี้ หลังจากนั้นจะเริ่มลงมือก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2556 เมื่อโครงการแล้วเสร็จ สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์จะสามารถระบายน้ำรวมกันได้ 144 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คิดเป็นปริมาณน้ำ 12.44 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ทำให้สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น ในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทาน ยังสามารถใช้สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ในการสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้ติดตามการดำเนินการปรับปรุงคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริฝั่งตะวันออกเดิม และในส่วนของแนวคันกั้นน้ำตามแนวพระราชดำริฝั่งตะวันออกที่ปรับปรุงใหม่ โดยกรมชลประทานจะรับผิดชอบตั้งแต่สถานีสูบน้ำจุฬาลงกรณ์ถึงคลอง 7 ฝั่งทิศใต้ของคลองรังสิตฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งซ่อมประตูระบายน้ำ 14 บานทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยานั้น โดยฝากให้ช่วยดูแลเพิ่มเติม ในการให้น้ำผ่านประตูแนวคลองระพีพัฒน์เพื่อลงสู่พื้นที่ปากอ่าวตามระบบคูคลอง โดยไม่ขวางทางน้ำอย่างในปีที่ผ่านมา และขอให้ลงไปดูแก้มลิงด้านตะวันตกในพื้นที่กรุงเทพฯและสมุทรสาคร ตลอดจนการเร่งระบายน้ำลงปากอ่าวทั้งสองฝั่งผ่านระบบคลองและท่อระบายน้ำในจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี และปทุมธานีด้วย