สรุปงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น
สรุปงานสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น
“การปฏิรูปนโยบายและกฎหมาย เพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย”
1. เป้าหมายหลักคือ เพื่อให้เกิดการแก้ไข และปฏิรูป พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 โดยมีมติสมัชชา ดังต่อไปนี้
• แปลงสภาพสำนักงานการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระ
• คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าควรได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการสรรหา ซึ่งมีตัวแทนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆเป็นองค์ประกอบ
• คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ จำนวน 5-7 คน เช่น นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น และไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น ต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหารในสมาคมวิชาชีพ สมาคมการค้า หรือบริษัทใดๆ ที่มีขนาดใหญ่มากกว่าเกณฑ์ หรือบริษัทมหาชน เป็นต้น
• ยกเลิกข้อยกเว้นจากข้อบังคับใช้กฎหมายที่ให้แก่รัฐวิสาหกิจตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542
• ปรับปรุงบทลงโทษให้เน้นมาตรการทางปกครองและทางแพ่งมากกว่าการลงโทษทางอาญา
• มีความเป็นอิสระในด้านการเงิน โดยงบประมาณประจำปีส่วนหนึ่งของสำนักงานอาจมาจากค่าปรับและค่าธรรมเนียม ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา
• กำหนดกรอบระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องเรียนอย่างชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินการ
• ให้คณะกรรมการฯ กำหนดจำนวนการประชุมและวาระการประชุมอย่างชัดเจน
• ให้คณะกรรมการฯทำงานเชิงรุก โดยประเมินสถานการณ์การผูกขาดทางการค้าและการเปลี่ยนแปลงการแข่งขันทางการค้า
2. สาเหตุของการปรับแก้กฎหมาย
- ความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจไทย
โดยบริษัทใหญ่ที่สุด 10 % แรกของบริษัททั้งประเทศ มีสัดส่วนรายได้สูงสุด 60 % ของรายได้บริษัททั้งหมดในประเทศ และถ้าดูบริษัทใหญ่ที่สุด 20 % แรกของบริษัททั้งประเทศ จะมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 90 % ของรายได้ของบริษัททั้งหมดในประเทศ
รายได้ของภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ ถ้าดูแนวโน้มพบว่าการกระจุกตัวเพิ่มมาตลอดตั้งแต่ปี 2545 ถึง 2551 เห็นได้จากดัชนีวัดการกระจายรายได้จากปี 2545 อยู่ที่ 0.76 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 0.78 ยิ่งสะท้อนการกระจุกตัวของรายได้อยู่ที่บริษัทขนาดใหญ่ ถ้าดูบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่าบริษัทขนาดใหญ่ 20 อันดับแรกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ มีสัดส่วนรายได้ 81 % ในปี 2547 และเพิ่มขึ้นเป็น 86.28 % ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นถึง 5 %
บริษัทขนาดใหญ่ 20 อันดับแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมด โดยรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีสัดส่วนรายได้ถึง 52.1 % ของรายได้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ ที่น่าสังเกตคือ บริษัท ปตท. แห่งเดียวซึ่งมีบริษัทลูก และบริษัทในเครือจำนวนมาก มีสัดส่วนรายได้ถึง 46.5 % ของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีประมาณ 500 บริษัท ทั้งนี้ในปี 2551 กลุ่มปตท. มีกำไร 1.8 ล้านล้านบาท
- ความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมาย
จากข้อมูลในเว็บไซด์ของสำนักแข่งขันทางการค้าไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน และผลการพิจารณาปัญหาที่มีการร้องเรียนโดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าแต่อย่างใด มีเพียงตารางที่แสดงจำนวนเรื่องร้องเรียนที่แสดงในเว็บไซด์ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมาทั้งหมด 77 เรื่อง แต่ช่วงปี 2552-2554 เรื่องร้องเรียนมีเพียงเรื่องเดียวต่อปี แสดงว่าประชาชนและธุรกิจได้หมดความเชื่อถือในองค์กรและกฎหมายฉบับไม่ฉบับนี้แล้วจึงไม่ต้องการเสียเวลาที่มาร้องเรียนเนื่องจากในอดีตที่ผ่านไม่เคยมีการดำเนินการใดๆ ที่จะแก้ปัญหาหารือเยียวยากรณีที่มีการร้องเรียนใดๆ
- จุดอ่อนของกฎหมายแข่งขัน
1. ปัญหาโครงสร้างองค์กร คือการขาดความเป็นอิสระ และการถูกครอบงำทางการเมืองและผลประโยชน์ของธุรกิจ
2. ปัญหาในการดำเนินการ คือการขาดกฎ ระเบียบที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน และการขาดงบประมาณ และบุคคลากร โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยได้งบประมาณเพียง 2-3 ล้านบาท ต่อปี เทียบกับองค์กรเดียวกันนี้ (KPPU) ของอินโดนีเซียที่มีงบประมาณ 284 ล้านบาท ขณะที่บุคคลากรของไทยมีเพียง 28 คน แต่ของอินโดนีเซียมีจำนวน 234 คน
3. ปัญหากรอบภารกิจ คือไม่ครอบคลุมลักษณะพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และไม่ครอบคลุมภาระกิจในการให้ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายแก่รัฐบาล โดยกฎหมายไม่ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายความว่า ปัญหาการผูกขาดที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐวิสาหกิจหรือเกิดจากกระทำของหน่วยงานราชการจะไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาแต่อย่างใด
4. ปัญหาบทลงโทษไม่เหมาะสมกับความเสียหาย ตามกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของไทยเป็นโทษทางอาญา โดยกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่กระทำความผิดซ้ำต้องระวางโทษเป็นทวีคูณ แต่กรณีมีโทษปรับหรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับแทนได้ ขณะที่บทลงโทษในต่างประเทศมีทั้งโทษทางแพ่งและทางอาญา