ไทย-กัมพูชา จัดตั้งเขตศก.พิเศษด้านสินค้าเกษตร -เซ็น MOU กับเมียนมาร์พัฒนาเขตศก.ทวาย
ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 3
คณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 3 เพื่อให้มีการทำงานอย่างบูรณาการและเกิดผลเป็นรูปธรรมตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC) ระหว่างไทยและกัมพูชา ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 โดยมีคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และ ดร.จอม ประสิทธิ์ รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กัมพูชาเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนกัมพูชาซึ่งผลการประชุม มีประเด็นสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญและติดตามการดำเนินงานต่อไปอย่างใกล้ชิด คือ ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกทาง
การค้าและการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
1. ความคิดริเริ่มใหม่ในการพิจาณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านสินค้าเกษตร (Special Agriculture Inland Port) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นสถานีให้บริการการขนส่งสินค้า โดยครอบคลุมการรวบรวมและการกระจายสินค้า การเก็บรักษาสินค้าและการดำเนินพิธีทางศุลกากร นำเข้า/ส่งออก ซึ่งสามารถใช้เส้นทางถนน รถไฟ ทางอากาศ หรือทางน้ำในการขนส่งสินค้ามายังสถานีดังกล่าว ปัจจุบันประเทศสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศ ได้แก่ ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้จัดตั้งและดำเนินการ Dry Port ที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศแล้ว ขณะที่ไทยอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับ Dry Port ให้เป็น International Dry Port 3 แห่ง ตั้งอยู่ที่ลาดกระบัง หนองคาย และเชียงราย
2. การพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวและผู้ค้าข้าวแห่งอาเซียนและสมาพันธ์ผู้ค้ามันสำปะหลังแห่งอาเซียน
ทั้งนี้ ความคิดริเริ่มดังกล่าวถือเป็นมิติใหม่ของความร่วมมือทวิภาคีซึ่งสามารถขยายไปสู่ความร่วมมือภูมิภาค โดยมุ่งเน้นให้เกิดผลอย่างยั่งยืนเป็นรูปธรรมและจำเป็นต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยผลจากการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและกัมพูชา ปี 2555 – 2558 จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวของการค้าในอัตราร้อยละ 30 ต่อปี และยังสนับสนุนการดำเนินงานการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนเพื่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558
เรื่อง ขออนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ
3. หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากการกำหนดกลไกการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวก่อให้เกิดผลผูกพันต่อรัฐบาลไทยให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงที่เกี่ยวข้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อน
สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ
1. คู่ภาคีจะขยายความร่วมมือในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
2. กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่ภาคี
(1) รัฐบาลเมียนมาร์จะให้ความคุ้มครอง/ความปลอดภัย และจัดหาสาธารณูปโภคอื่น ๆ พร้อมดำเนินการให้บริเวณดังกล่าวสามารถพัฒนาได้ และพิจารณาระบบความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่โครงการกับกรุงย่างกุ้งและเมืองหลักอื่น ๆ ในเมียนมาร์ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการลงทุน
(2) รัฐบาลไทยจะสนับสนุนการช่วยเหลือทางเทคนิค ถ่ายทอดเทคโนโลยี แนวการปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการจัดการ สนับสนุนการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน เร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางจากจุดผ่านแดนไทย – เมียนมาร์ ไปยังกรุงเทพฯ – แหลมฉบัง และให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามในการระดมทุนเพื่อดำเนินโครงการ
3. ทั้งสองฝ่ายจะหารือเกี่ยวกับรูปแบบการจัดตั้งกลไกการดำเนินงานกันต่อไป
4. ผู้ลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมภายใต้กฎหมาย เมียนมาร์และความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย – เมียนมาร์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยการลงทุนจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และกฎหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเมียนมาร์
5. หากภายใต้ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศที่สามประสงค์จะเข้าร่วมเป็นภาคีบันทึกความเข้าใจฯ นี้ คู่ภาคีจะพิจารณาการให้เข้าร่วมเป็นภาคี
6. บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 3 ปี และจะขยายเวลาโดยอัตโนมัติหลังจากนั้นอีกครั้งละ 3 ปี เว้นแต่ภาคีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งหกเดือนล่วงหน้า