ผิดตั้งแต่ต้นน้ำ โดยกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
ธนาคารโลกประเมินกรณีอุทกภัยปี ๒๕๕๔ เสียหายกว่า ๑.๔๔ ล้านบาท เหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายขนาดนี้คงเถียงยาก ว่าส่วนหนึ่งไม่ได้มาจากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาด
วันนี้รัฐบาลเตรียมใช้เงิน ๓ แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรื่องทรัพยากรน้ำของประเทศอย่างยั่งยืนและถาวร โดยหวังว่าอนาคตเมื่อมีฝนมาก จะไม่เกิดน้ำท่วมถึงกับบ้านเมืองเสียหายยับเยินเหมือนที่ผ่านมา รัฐบาลกล้าหาญมาก งานใหญ่ขนาดนี้รัฐบาลยังตั้งเป้าว่าจะจัดการทุกอย่างให้แล้วเสร็จภายใน ๓-๕ ปี
ย้อนหลังกันไปซักนิด
เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีนายกรัฐมนตรีหญิงนั่งหัวโต๊ะ หลังจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มอีกสองคณะเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ที่จะคุยถึงในวันนี้เป็นงานของคณะที่ชื่อ คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีคุณปลอดประสพ เป็นประธาน
เวลาผ่านไป ๔ เดือน ไม่แน่ใจว่าคุณปลอดได้ประชุมไปกี่ครั้ง ช่วงนี้ได้ฤกษ์ดี เริ่มเดินหน้าโครงการแล้วครับ
ผมเรียกว่าเป็นการเริ่มนับหนึ่งเพราะถือว่า จากนี้ไปเป็นการเข้าสู่โหมดปฎิบัติจริง เข้าสู่โหมดการใช้เงินแบบเป็นกอบเป็นกำ งานที่ผ่านมาเกือบปี ประชุมบ้าน้ำลายกันแค่ไหน ไม่ว่ากัน เพราะอย่างเก่งก็แค่เสียเวลา เสียค่าเบี้ยประชุม ไม่ซีเรียสมากนัก แต่จากนี้ไป ต้องตามดูอย่างใกล้ชิดทีเดียว
โดยปกติ ไม่ว่าจะทำงานชิ้นเล็กหรือชิ้นใหญ่ ออกตัวครั้งแรกถือเป็นเรื่องสำคัญสุด โบราณพูดไว้เสมอว่า 'เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง' แต่แปลก รัฐบาลเริ่มต้น 'โครงการ' กลับไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยดีครับ
นับหนึ่งของโครงการคือ รัฐบาลอยากได้คนเก่ง อยากได้บริษัทฯที่มีผู้เชี่ยวชาญประจำ ที่ทำงานเต็มเวลา (นักวิทยาศาสตร์ วิศวฯ สถาปัตยฯ วนศาสตร์ ธรณีวิทยา อุตุฯ อุทกภัย ฯลฯ) รัฐบาลได้ออกประกาศเชิญชวน ธุรกิจเอกชนทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ให้ร่วมแข่งขัน นำเสนอกรอบความคิด (Conceptual Plan) เพื่อนำไปสู่การออกแบบ ก่อสร้าง 'โครงการ'
ความหมายของงานที่เรียกว่า 'กรอบความคิด - Conceptual Plan' อาจอธิบายได้อย่างนี้
รัฐบาลแบ่งแผนงานออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มแรกคือส่วนพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนนี้มี ๘ แผนงาน
สำหรับกลุ่มที่สองคือส่วนของ ๑๗ ลุ่มน้ำที่เหลือ ส่วนนี้มีอีก ๖ แผนงาน
รวมทั้งหมดเป็น ๑๔ แผนงาน
รัฐบาลต้องการหาคนเก่งๆ บริษัทดีๆ ฝีมือระดับเทพว่างั้นเถอะ มาช่วยคิดในการวางกรอบว่า ๑๔ แผนงานที่รัฐบาลวางแผนจะดำเนินการนั้น ควรใช้กรอบความคิดในการแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ทั้ง ๑๔ แผนงานทำได้จริง เกิดประโยชน์สูงสุด ในทิศทางเดียวกัน
รัฐบาลยังบอกด้วยว่าถ้าใครคิดว่าต้องมีมากกว่า ๑๔ แผน ให้เสนอมาได้ แต่ต้องแยกออกจากข้อเสนอ ๑๔ แผนเดิม และถ้าต้องใช้เงินเพิ่ม ให้เสนอแหล่งเงินที่ต้องกู้เพิ่มด้วย
ฟังดูแล้วดีไปหมดเลยครับ แต่พออ่านไปถึงกระบวนการ วิธีการที่จะสรรหาคนเก่งๆ บริษัทดีๆ ตามที่กล่าวไว้เมื่อซักครู่ ต้องขอบอกว่า 'อีกแล้วหรือนี่ เพื่อนเรา'
ขอพูดส่วนที่พอรับได้ก่อนก็แล้วกัน
รัฐบาลบอกว่า ธุรกิจใดก็ตามที่สนใจและสอบผ่านคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ รัฐบาลจะรับพิจารณาหมดทุกราย แสดงว่าจะไม่มีการทำ short list คือไม่มีการคัดเลือกรอบแรก ดำเนินการตามรูปแบบนี้ไม่แปลกนัก พอรับได้
(ส่วนตัวไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่ เห็นใจภาคเอกชนที่เสียทั้งเวลา เสียทั้งเงิน จัดเตรียมข้อเสนอมาอย่างดี แต่มาโดนเขี่ยออกเพราะขาดคุณสมบัติ ถ้ามีคัดเลือกรอบแรก โดนเขี่ยออกตั้งแต่ต้นอาจดีกว่า)
ที่ตำหนิว่าเริ่มต้นนับหนึ่งไม่สวย ไม่ควร คือคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ประมูลที่กำหนดไว้ในเอกสาร TOR ข้อที่ ๒.๓ ครับ แย่มากเลย
อ่านได้อย่างนี้ ' ....ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานด้านการออกแบบระบบ....หรืองานออกแบบหรือก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ....ในไทยหรือในต่างประเทศ มูลค่าการก่อสร้างไม่น้อยกว่าสามหมื่นล้านบาท ....'
รัฐบาลกำลังเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมารายใหญ่ได้สิทธิในการเป็นผู้เข้าประกวดแข่งขันการเสนอกรอบความคิด - Conceptual Plan เพราะ TOR ใช้คำว่า 'งานออกแบบ หรือ งานก่อสร้าง' ผมทำงานด้านบริหารโครงการมาตั้งแต่อายุ ๒๓ วันนี้จะ ๖๔ อยู่แล้ว ไม่เคยพบเคยเห็นวิธีการบริหารโครงการ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ที่จะให้ผู้รับเหมามีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่วันแรก โดยเฉพาะงานที่เป็นการวางกรอบความคิด หรือแม้กระทั่งงานด้านการออกแบบเบื้องต้น
อาจจะมีก็เฉพาะประเภทที่เชิญเขาเข้ามาลงทุน พร้อมนำเม็ดเงินมาด้วย ผมใช้คำว่าอาจจะ เพราะไม่เคยเห็นจริงๆ ว่าเจ้าของงานที่ไหน เริ่มต้นงานในรูปแบบ แบบที่คุณปลอดกำลังทำ
กำหนดสเป็กอย่างนี้ไม่ได้คนเก่งระดับเทพตามที่วาดฝันไว้อย่างแน่นอน อาจได้คนเก่งประเภทที่พร้อมร่วมมือกับผู้รับเหมา เสนอตัวมาแบบงานร่วมค้า (joint venture) คนเก่งประเภทนี้เขามองธุรกิจเป็นหลัก กรอบที่เขาจะนำเสนอ ผู้รับเหมาต้องได้ประโยชน์เท่าหรือมากกว่าเจ้าของงาน
วันนี้ผมมีข้อเสนอครับ
รัฐบาลเตรียมประชุมชี้แจง TOR ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคมนี้ ผมขอเสนอให้แจ้งในที่ประชุมว่ารัฐบาลจะเพิ่มคุณสมบัติต้องห้าม ๑ ข้อ .... " ผู้รับเหมารายใดที่ได้รับคัดเลือกให้มีส่วนในการรับผิดชอบงาน "กรอบความคิด" ไม่มีสิทธิในการเข้าประมูลเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งการเป็นผู้รับเหมาหลักหรือรับเหมาช่วง...."
ไม่ใช่จะจงเกลียดจงชังผู้รับเหมาก่อสร้างนะ อย่าเข้าใจผิด แต่ผมถือว่าอาชีพคนที่เสนอแนวคิดหรือคนที่ออกแบบเบื้องต้นกับอาชีพผู้รับเหมาก่อสร้าง อยู่คนละฝาก สองฝ่ายร่วมมือกันเมื่อไหร่ เจ้าของงานหมดตัว ผลประโยชน์ขัดกัน 'Conflict of Interest' ครับ
ไม่ยากเกินไปที่รัฐบาลจะทำตามข้อเสนอ ยกเว้นรัฐบาลอยากให้ผู้รับเหมามามีส่วนร่วมตั้งแต่วันแรกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องระวังนะครับ เพราะการประกวดแบบครั้งนี้ เข้าใจว่าไม่ใช้ราคาตัดสิน รัฐบาลชอบใคร เลือกได้ตามใจชอบเสียด้วย อันตรายมากๆ ถ้าจะถือโอกาสเลือกผู้รับเหมาแนวนี้
มีอีกประเด็นครับ อยู่ในข้อ ๔ 'วิธีการเสนอ' ของเอกสาร TOR
นี่ก็มาแบบแหวกแนวอีกเหมือนกัน รัฐบาลเปิดให้มีการประกวดแบบ แต่ไม่กำหนดว่าจะให้ยื่นซองได้เมื่อไหร่ อ่านแล้วก็ขำกลิ้ง ไม่เคยพบเคยเห็น
ส่วนนี้แก้ตัวใหม่ง่ายมาก วันที่ ๒๔ นี้ บอกทุกคนที่เข้าประชุมว่าให้ยื่นซองได้เมื่อไหร่ คุณปลอดต้องกำหนดวันยื่นซอง จะเก็บไว้ในใจคนเดียวไม่ได้ ไม่งั้นจะถูกกล่าวหาว่าแอบบอกเฉพาะพรรคพวกตัวเอง เริ่มต้นงานต้องให้สวย
น่าเสียดายที่พอตีระฆังยกหนึ่ง เริ่มดูไม่ดีเสียแล้ว วันนี้ผมยังจะไม่พูดถึงเนื้อในของงานตามแผน ๑๔ แผนงาน ไล่ตั้งแต่ สร้างอ่างกักเก็บน้ำ (แม่แจ่ม แก่งเสือเต้น แม่วงก์...) พื้นที่แก้มลิง ทางน้ำหลาก (flood way) ฯลฯ รายละเอียดแต่ละแผนงานมีมาก ยังพอมีเวลาที่จะได้คุยกันได้อีกหลายรอบ ๓-๕ ปีไม่เสร็จหรอกครับ
ขอจบด้วยคำพูดของคุณเฉลิม รองนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้วันก่อนว่า 'ถ้าไม่มีคอรัปชั่น รัฐบาลอยู่ครบเทอม'
ผมอยากให้รัฐบาลรับข้อเสนอของผมไปปฎิบัติ จะได้อยู่ครบเทอมครับ
ที่มา:https://www.facebook.com/notes/korbsak-sabhavasu/%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3/417417741632847