ตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน เร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำตะวันออก
วันนี้ (11 ก.ค.55) เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกแดง 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) และประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์และบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำตะวันออก 9 จังหวัด เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (อยอ.) ครั้งที่ 1/2555 ในคณะกรรมการ กยอ. โดยมีนางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ในวาระแจ้งที่ประชุมทราบ ประธานฯ กล่าวต่อที่ประชุมสรุปสาระสำคัญตอนหนึ่งว่า การดำเนินงานเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำตะวันออก 9 จังหวัด ถือเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนพอสมควร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะหากเป็นการเน้นหนักช่วยภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียว จะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกับภาคเกษตรกรรมที่อยู่มาแต่เดิม ดังนั้นการที่จะทำเรื่องยุทธศาสตร์การบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำจะต้องไม่เป็นการช่วยเหลือแค่ด้านใดด้านหนึ่ง แต่ในอันดับแรกจะต้องช่วยภาคอุตสาหกรรมก่อน แล้วต้องมีการวางแผนระยะยาวเพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม โดยต้องดูทั้งภาคเกษตรกรรมที่ใช้น้ำมากและใช้น้ำน้อย รวมทั้งภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลตอบแทนมากและผลตอบแทนน้อยด้วย
ซึ่งขณะนี้ในแต่ละจังหวัดยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้น้ำในภาคการเกษตรของแต่ละพื้นที่ จึงทำให้ความต้องการการใช้น้ำที่แต่ละจังหวัดวางแผนไว้นั้นมีมากเกินกว่าปริมาณน้ำปัจจุบันที่กักเก็บอยู่ในอ่างเก็บน้ำของทั้งระบบ โดยจากผลการศึกษาเรื่องการกักเก็บน้ำทั้งหมดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่า การเก็บน้ำทั้งหมดอย่างไรก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคการเกษตร แต่เพียงพอกับการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม และการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ดังนั้น ในเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภค คาดจะสามารถแก้ไขได้ไม่ยาก
แต่ในเรื่องการสนับสนุนน้ำในภาคเกษตรกรรมใน 9 จังหวัดภาคตะวันออก จะต้องมีการคัดสรรว่าจะทำในแนวทางใด เพราะยังไม่เพียงพอกับความต้องใช้น้ำ ประกอบกับมีข้อจำกัดในเรื่องภูมิประเทศของ 9 จังหวัดภาคตะวันออก ที่ทำให้ไม่สามารถสนับสนุนน้ำได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ จึงต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์การใช้น้ำระยะยาว
ทั้งนี้ ประธานฯ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการบำบัดน้ำเสียของประเทศจีนที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ด้วยการนำน้ำที่ใช้แล้วในหลายจุดกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์และมีคุณภาพสูง
ในวาระเพื่อพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาเรื่องสถานภาพและศักยภาพของลุ่มน้ำตะวันออก และร่างเบื้องต้นแนวทางดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ โดยเรื่องสถานภาพและศักยภาพของลุ่มน้ำตะวันออก สรุปว่า พื้นที่ 9 จังหวัดภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และสมุทรปราการ) ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาคเกษตรกรรมมากที่สุดรวมกว่า 16 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 64 ของพื้นที่ มีปริมาณความต้องการใช้น้ำรวมในทุกด้านกว่า 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจากข้อมูลของสำนักชลประทานที่ 9 คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมากขึ้นเป็น 8 พันล้าน ลบ.ม. ในอีก 10 ปีข้างหน้า
ขณะที่โครงการชลประทานและแหล่งเก็บน้ำผิวดินทุกประเภทมี 823 โครงการ ความจุกักเก็บน้ำได้รวม 694.14 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 2.597 ล้านไร่ โดยศักยภาพทรัพยากรน้ำตามแผนการพัฒนาในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวม 19 โครงการ จะทำให้มีพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 437,503 ล้านไร่ ความจุอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น 1361.56 ล้าน ลบ.ม.
จากนั้น ที่ประชุมพิจารณาร่างเบื้องต้นแนวทางดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวางในแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่อุตสาหกรรมบริเวณจังหวัดระยอง ทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว พร้อมกับพิจารณาแนวทางดำเนินการของคณะอนุกรรมการฯ แล้วที่ประชุมเห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน 4 คณะ พร้อมมอบหมายหน่วยงานหลักเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อเร่งดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และบริหารทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำตะวันออก 9 จังหวัด ดังนี้
1. คณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์และบริหารทรัพยากรน้ำ (น้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ การขนส่งทางน้ำ การสันทนาการและการท่องเที่ยว ฯลฯ)
2. คณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์และกำหนดกรอบด้านการใช้ที่ดิน ประชากรและผังเมือง มลภาวะและระบบนิเวศ
3. คณะทำงานกำหนดยุทธศาสตร์ และนโยบายด้านการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน รวมทั้งกฎหมายและองค์กรที่จำเป็น
4. คณะทำงานกำหนดแนวทางการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อความมั่นคงของลุ่มน้ำตะวันออก 9 จังหวัด