กำหนดขยายเวลาคุ้มครองเงินฝาก
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. .... (การกำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก)
วันที่ 26 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. .... (การกำหนดวงเงินความคุ้มครองเงินฝาก) ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง กค. เสนอว่า
1. ตามที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 ได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2551 และได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552 โดยเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ได้มีการปรับลดวงเงินความคุ้มครองเงินฝากเหลือไม่เกินจำนวนเงิน 50 ล้านบาท และจะปรับลดระดับวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 นั้น
2. โดยที่วงเงินความคุ้มครองเงินฝากที่กำหนดในปัจจุบัน ณ ระดับ 50 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงิน ครอบคลุมผู้ฝากเงินจำนวน 60.21 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.98 ของผู้ฝากเงินทั้งหมด และครอบคลุมฐานเงินฝากจำนวน 5.21 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 68.86 ของฐานเงินฝากทั้งหมด แต่เมื่อการปรับลดวงเงินความคุ้มครองเป็นจำนวนไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 สิงหาคม 2555 จะครอบคลุมผู้ฝากลดลงเป็น 59.53 ล้านราย หรือร้อยละ 98.42 ของผู้ฝากทั้งหมด แต่ครอบคลุมฐานเงินฝากเพียง 1.8 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 23.57 ของฐานเงินฝากทั้งหมด ซึ่งในกรณีวงเงินความคุ้มครอง 50 ล้านบาท จะครอบคลุมคือผู้ฝาก รายย่อยหรือผู้ฝากบุคคลได้เกือบทั้งหมด
3. การเพิ่มวงเงินความคุ้มครองถือเป็นวิธีที่มีความสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ ในด้านนโยบายการคุ้มครองเงินฝาก ภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2551 การปรับปรุงวงเงินความคุ้มครองดังกล่าว เป็นไปตามหลักการสำคัญของระบบประกันเงินฝากที่มีประสิทธิผล (Core Principles for Effective Deposit Insurance Systems) ซึ่งกำหนดให้การคุ้มครองเงินฝากเป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้ฝากรายย่อยอย่างน้อยร้อยละ 90 ของจำนวนผู้ฝากเงินทั้งหมด ตลอดจนมีการทบทวนปรับเปลี่ยนจำนวนเงินคุ้มครองเป็นระยะเมื่อมีปัจจัยสำคัญเปลี่ยนแปลงไป และการปรับเปลี่ยนวงเงินความคุ้มครองให้สูงขึ้นในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินและระบบสถาบันการเงิน
4. จากความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องและการพิจารณาตามข้อเท็จจริง ตลอดจนสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับนานาชาติที่ยังคงมีความอ่อนไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเคลื่อนย้ายเงินฝากในกรีซ และการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินในประเทศสเปน ตลอดจนสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสภาวการณ์ภัยธรรมชาติ อีกทั้งการปรับลดวงเงินความคุ้มครองจาก 50 ล้านบาท เป็น 1 ล้านบาท จะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการสินทรัพย์และการเคลื่อนย้ายเงินฝากของผู้ฝากเงินที่เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงวงเงินความคุ้มครองอย่างรวดเร็วและมีนัยสำคัญ ดังนั้น การแก้ไขปัญหาโดยการคงระดับวงเงินความคุ้มครอง 50 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 จะส่งผลให้ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจต่อระบบการเงินและสถาบัน และลดปัญหาการเคลื่อนย้ายเงินฝากระหว่างสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ยังมีความสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติของหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากในต่างประเทศ ทั้งนี้ หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรมีการทบทวนระดับวงเงินความคุ้มครองเงินฝากให้มีความเหมาะสม
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. กำหนดให้พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป
2. ให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น พ.ศ. 2552
3. กำหนดจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองไม่เกินจำนวนเงินห้าสิบล้านบาท