ผลการประชุม กรอ. ภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555
วันที่ (18 มิ.ย. 55) เวลา 15.00 น. ณ ห้องออร์คิด บอล์ลรูม รอยัล คลิฟ โฮเต็ล กรุ๊ป จังหวัดชลบุรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (กรอ.ภูมิภาค) ครั้งที่ 5/2555 เพื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นายชุมพล ศิลปอาชา) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายปราโมทย์ ร่วมสุข ประธานคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดกลุ่มภาคตะวันออก หอการค้าไทย ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบข้อเสนอข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) รวม 5 เรื่อง และการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กรอ ภูมิภาค รวม 3 เรื่อง สรุปได้ดังนี้
1. ข้อเสนอมาตรการและกลไกเพื่อบูรณาการและเสริมสร้างความเข้มแข็ง พื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง (กกร.) ประกอบด้วย 2 เรื่อง
(1) ข้อเสนอมาตรการระยะสั้น ประกอบด้วย
1) ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550
2) ข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และ
3) โครงการฟื้นฟูระบบขนส่งทางรางเพื่อขนสินค้าระหว่างพื้นที่ มาบตาพุดและแหลมฉบัง ภายใต้แนวคิด Green Logistics
มติ มอบหมายกระทรวงทรัพยากรฯ รับไปพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ตลอดจน มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมประสานกระทรวงคมนาคมพิจารณาข้อเสนอ กกร. และแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือสินค้าท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และรายงานครม. ทราบ รวมทั้ง มอบหมายกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาค่าบริการระบบรางที่เหมาะสมและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในเส้นทางสายตะวันออก เพื่อให้สามารถจูงใจให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากการขนส่งทางถนนสู่รางได้ตามเป้าหมายต่อไป
(2) ข้อเสนอกลไกเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการความปลอดภัยและกำกับภาวะฉุกเฉินในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง
มติ มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาจัดตั้งกลไกเฉพาะกิจดังกล่าว เพื่อบูรณาการแผนบริหารจัดการภัยพิบัติใน/นอกพื้นที่นิคมฯ และขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
2. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ (กกร.) ประกอบด้วย 3 เรื่อง
(1) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางอากาศภาคตะวันออก โดยการ
เร่งรัดการใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
มติ มอบหมายกระทรวงคมนาคมศึกษาความเหมาะสมในรายละเอียดของการ
เปิดใช้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ระยอง-พัทยา ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ร่วมกับ อปท. และภาคเอกชน
(2) การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางระบบราง โดยการเร่งรัดโครงการ
รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ระยอง ให้แล้วเสร็จในปี 2560
มติ มอบหมายกระทรวงคมนาคม รับข้อเสนอดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของเส้นทางการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางภาคตะวันออกตามขั้นตอนต่อไป โดยขอให้เร่งรัดการจัดทำ TOR ให้แล้วเสร็จเพื่อให้สามารถประกวดราคาโครงการภายใน ปี 2556
(3) การเร่งรัดขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 36 และ
หมายเลข 317
มติ มอบหมายกระทรวงคมนาคมการจัดทำการศึกษาความเหมาะสมของเส้นทางที่ควรขยายช่องจราจรในภาพรวมให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์และเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
3. การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (กกร.) ประกอบด้วย 5 เรื่อง
(1) การขยายเวลาเปิดด่าน (ชั่วคราว/ถาวร) ถึงเวลา 22.00 น. และระบบ
การเข้า-ออก ด่านศุลกากร จ.จันทบุรี ตราด และสระแก้ว (เพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่ง
สินค้า) ด่านชายแดนไทย-กัมพูชา
มติ มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังไปศึกษารายละเอียดและวิเคราะห์ความเหมาะสมการขยายเวลาการเปิดจุดผ่านแดนฯ และการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของทุกด่านที่มีมูลค่าการค้าสูงให้เป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
(2) การแก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง (ปรับปรุงครั้งที่ 3)
มติ มอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับเอกชนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำข้อเสนอส่งให้กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณารายละเอียดการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองรวมฯ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสภาพแวดล้อมต่อไป
(3) โครงการสร้างห้องแช่เยือกแข็งผลไม้เพื่อเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก
มติ มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพประสาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทยและภาคเอกชนร่วมกันศึกษาความเหมาะสมและจัดทำข้อเสนอแนวทางการบริหารจัดการภายใน 1 เดือน และ นำเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาต่อไป
(4) โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (จ.ระยอง-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-สมุทรปราการ)
มติ มอบหมายกระทรวงมหาดไทยร่วมกับ สศช. รับไปพิจารณารายละเอียดโครงการฯ เนื่องจากเป็นโครงการศึกษาแผนแม่บทที่ต้องใช้องค์ความรู้จากสถาบันการศึกษา ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.)
(5) โครงการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด "บูรพนา" ตามแนวทางการศึกษาผังอนุภาคของกรมโยธาธิการและผังเมือง
มติ มอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ สศช. พิจารณาประโยชน์และความเหมาะสมของการพัฒนาเมืองศูนย์กลางกลุ่มจังหวัด "บูรพนา" ตามข้อเสนอ กกร. และ นำเสนอ ครม. ต่อไป
4. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่
(1) เร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2558 พื้นที่ภาคตะวันออก ที่ดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ซึ่งมี 7 โครงการ)
มติ มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1) ประสานหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนสำหรับโครงข่ายน้ำระหว่างอ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ 2) ดำเนินการและนำเสนอ กบอ. สำหรับโครงการมาบหวายโสมและอ่างเก็บน้ำห้วยไข่เน่าเพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
(2) โครงการจัดสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการน้ำ (war room) ภาคตะวันออก
มติ มอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1) ประสานกับ กบอ. บูรณาการจัดทำฐานข้อมูลร่วมและสามารถเชื่อมโยงไปยังส่วนกลาง 2) พิจารณาสถานที่จัดตั้ง War Room และความเหมาะสมในรายละเอียดข้อเสนอโครงการฯ
(3) โครงการก่อสร้างระบบส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล-โรงผลิตน้ำประปา ระยอง
มติ มอบหมายกระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณารายละเอียดข้อเสนอโครงการฯ โดยหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม
5. การส่งเสริมการท่องเที่ยวและบริการ (สทท.) ประกอบด้วย 3 เรื่อง
(1) ขอเร่งรัดการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างให้แล้วเสร็จ เพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางย้อนกลับทางเดิม
มติ มอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปศึกษาร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการก่อสร้างถนนรอบเกาะช้างช่วงบ้านบางเบ้า - บ้านสลักเพชร อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด น าเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ ครม. พิจารณาตามลำดับ
(2) ขอให้เร่งดำเนินการเพิ่มศักยภาพด้านทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหามัคคุเทศก์ต่างชาติลักลอบให้บริการในภาคตะวันออก
มติ มอบหมายกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับ กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคเอกชน จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะทางด้านภาษาของแรงงานให้ตรงตามความต้องการ ตลอดจนมอบหมายกระทรวงศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษนอกเวลาราชการ และมอบหมายกระทรวงการคลังพิจารณามาตรการสร้างแรงจูงใจสำหรับภาคเอกชนผ่านระบบ CSR
(3) ขอให้นำเงินที่หักจากภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นที่โรงแรมตั้งอยู่เป็นรายได้ในการบำรุงท้องถิ่นโดยขอใช้เมืองพัทยาเป็นเมืองนำร่อง
มติ มอบหมายกระทรวงการคลัง รับไปศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมการให้นำเงินที่หักจากภาษีมูลค่าเพิ่มให้ท้องถิ่นที่โรงแรมตั้งอยู่เป็นรายได้ในการบำรุงท้องถิ่น โดยขอใช้เมืองพัทยาเป็นเมืองนำร่อง โดยให้ สทท. ร่วมดำเนินการด้วย
ประเด็นเพิ่มเติม: รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กรอ ภูมิภาค รวม 3 เรื่อง ดังนี้
1. การผลักดันการก่อสร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ คลองใหญ่ จ.ตราด
ข้อเท็จจริง
กรมเจ้าท่าจังหวัดตราด ได้รับงบประมาณในการก่อสร้างท่าเทียบเรือเอนกประสงค์คลองใหญ่ มูลค่า 1,295 ล้านบาท (ปี พ.ศ. 2553-2555) แทนสะพานท่าเทียบเรือเดิมซึ่งเกิดการชำรุด แต่เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสนอ่อน-ป่าคลองใหญ่-ป่าคลองมะขาม อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งจะกระทำมิได้เพราะขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี และได้ถูกสั่งระงับการก่อสร้างทั้งหมดเป็นการชั่วคราว
มติ ที่ประชุมรับทราบ
2. ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 (22nd Japan-Thailand Joint Trade and Economic Committee Meeting
มติ ที่ประชุมรับทราบและมอบหมายให้ กกร. จัดส่งรายละเอียดให้ กระทรวงต่างประเทศ
3. การสนับสนุนกลไกดำเนินการของสมาคมขนส่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS-FRETA)
มติ ที่ประชุมรับทราบและมอบหมายกระทรวงคมนาคมโดยกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ผลการประชุม กรอ. ภูมิภาค ครั้งที่ 5/2555 จะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการในวันที่ (19 มิ.ย. 55)
**********