ก.ต่างประเทศ แจงการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา
เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายธานี ทองภักดี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวเรื่องการขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งแบ่งได้เป็น ๒ ประเด็น สรุปได้สาระสำคัญได้ ดังนี้
๑. การจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติระดับภูมิภาค (Humanitarian Assistance and Disaster Relief – HADR) ในประเทศไทย เป็นข้อริเริ่มของฝ่ายไทยในรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งได้เสนอในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน - สหประชาชาติ ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๕๓ ด้วยเห็นว่าภูมิภาคประสบภัยพิบัติในหลายรูปแบบ และที่ผ่านมา หลายประเทศได้ใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กระจายความช่วยเหลือเนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดี จึงเห็นว่าการจัดตั้ง HADR ที่สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาค อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการหารือ ซึ่งยังต้องมีการพิจารณาในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดต่อไป ซึ่งแนวโน้มในเบื้องต้น อาจจะเริ่มด้วยการฝึกร่วมการให้ความช่วยเหลือภายใต้กรอบคอบร้าโกลด์ก่อน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของไทยในการรับมือกับภัยพิบัติ
๒. องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration - NASA) ซึ่งเป็นองค์กรของพลเรือนได้ขอดำเนินโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Composition, Cloud, Climate Coupling Regional Study - SEAC4RS) ในประเทศไทย ซึ่งโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ได้เคยดำเนินการแล้วในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เช่น เขตบริหารพิเศษฮ่องกง ญี่ปุ่น และคอสตาริกา โดยจะใช้ท่าอากาศยานในประเทศเหล่านั้นทำการบินเพื่อเก็บตัวอย่างของอากาศในพื้นที่และสำรวจสภาพอากาศในพื้นที่ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ โดยโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ ประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์ การพยากรณ์อากาศ ตลอดจนการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ
ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้จัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งหน่วยงานด้านความมั่นคง และด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อเสนอโครงการแล้ว ซึ่งโดยสรุปเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ของไทย และช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการพยากรณ์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งนี้ หน่วยงานปฏิบัติหลักของไทยคือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) อย่างไรก็ดี โครงการนี้ มีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน กระทรวงการต่างประเทศจึงได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบจะทำหนังสือสัญญาในรูปแบบการแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา ๑๙๐ วรรค ๒ เพราะไม่ส่งผลกระทบกับอธิปไตย โดยหากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โครงการนี้จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ ๒ เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุม และจะมีการเตรียมอุปกรณ์เป็นการล่วงหน้าสำหรับโครงการ
สำหรับฝ่ายไทยจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ อาทิ การตรวจอุปกรณ์ การทำการบิน ซึ่งจะมีทั้งนักวิชาการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักฝนหลวง และการบินเกษตร เป็นต้น อีกทั้ง การใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภาจะต้องขออนุญาตทำการบินผ่านในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการบินสำรวจเหนือน่านน้ำสากลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ภายใต้การควบคุมการบินของไทย สิงคโปร์ และกัมพูชา ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ ได้รับความยินยอมจากสิงคโปร์และกัมพูชา และได้แจ้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแล้ว ซึ่งไม่มีประเทศใดคัดค้าน ด้วยเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ในเชิงวิชาการ และก่อประโยชน์ให้แก่ภูมิภาคโดยรวม