สรุปผลประชุมจ่ายเงินเยียวยาอุทกภัย-ป้องกันน้ำท่วม
วันที่ 12 มิถุนายน 2555 คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (video conference) ตามที่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านระบบการประชุมทางไกล (video conference) ครั้งที่ 1/2555 เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยผู้เข้าร่วมประชุม ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล ประกอบด้วย รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้เข้าร่วมประชุม ณ ศาลากลางแต่ละจังหวัด ประกอบด้วย ผู้บังคับการตำรวจภูธร และหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด การประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. การรายงานสรุปสถานการณ์และการดำเนินการในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย
1.1 การแจ้งเตือนภัย
เลขาธิการคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยรายงานว่าศูนย์ command center
ได้ประสานงานกับหน่วยงานเครือข่ายด้านน้ำ เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อกำหนดระบบการเตือนภัยให้ประชาชนทราบ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี คือ (1) ส่งผ่านเครือข่ายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัดต่าง ๆ (2) ติดตั้งระบบเตือนภัยไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันต่อเหตุการณ์
1.2 การรายงานสถานการณ์อุทกภัย
อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานว่า ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคใต้ รวม 9 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต ตรัง นครศรีธรรมราช พังงา และสตูล ซึ่งทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขัง ประชาชนได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนเสียหาย บางพื้นที่เกิดปัญหาดินสไลด์ มีน้ำป่าไหลหลาก ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดแพร่ มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายบางส่วน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งเหตุน้ำท่วมดังกล่าวทำให้รถไฟสายเหนือต้องหยุดวิ่ง เนื่องจากมีน้ำกัดเซาะรางรถไฟแต่คาดว่าจะสามารถแก้ไขให้กลับมาใช้งานเป็นปกติได้โดยเร็ว
1.3 การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีเพื่อตรวจติดตามการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย รายงานว่า นายกรัฐมนตรีจะเดินทางลงไปตรวจติดตามการดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด (ขอบเขตของงานครอบคลุมพื้นที่ 25 จังหวัด) และสำรวจความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ในคราวที่ลงพื้นที่ครั้งก่อน รวมทั้งโครงการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไปแล้ว โดยจะสำรวจพื้นที่ที่เป็นจุดวิกฤตของสถานการณ์อุทกภัย และพื้นที่ที่มีการดำเนินการที่สามารถใช้เป็นต้นแบบใหม่ ๆ ได้ เช่น การผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม การจัดทำแก้มลิง และการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญ ๆ เป็นต้น ในการนี้จะมีการจัดประชุมทางไกล (video conference) กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ ด้วย โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นฝ่ายเลขานุการรับผิดชอบในภาพรวม
2. เรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการและมอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
2.1 การดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย และการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย
2.1.1 การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและการเบิกจ่ายงบประมาณเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย
(1) ให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบแต่ละจังหวัดดูแลและเร่งรัดให้มีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากบ้านเรือนเสียหายอันเนื่องมาจากน้ำท่วมโดยเร็ว รวมทั้งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณโครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย
(2) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดติดตามดูแลในเรื่องของการเยียวยา ช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณของโครงการที่ใช้งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ วงเงิน 120,000 ล้านบาท และโครงการที่ใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 (เงินกู้ 350,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ให้ดูแลในภาพรวมของทุกโครงการที่ดำเนินการอยู่ในจังหวัดด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงการของหน่วยงานใด หากพบว่าเรื่องใดมีปัญหาอุปสรรค หรือมีสิ่งใดที่จะต้องแก้ไขหรือดำเนินการเพิ่มเติมให้แจ้งส่วนกลางเพื่อร่วมกันแก้ไขต่อไป
(3) ให้จังหวัดรายงานความก้าวหน้าในการใช้จ่ายงบประมาณในโครงการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยผ่านทางระบบ PMOC Flood Recovery โดยให้ปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้รัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลพื้นที่สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการลงพื้นที่ตรวจติดตามโดยหากมีระบบ GPS ให้รายงานข้อมูลพิกัดของพื้นที่ที่ดำเนินการด้วย เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงแผนที่ GPS ของส่วนกลาง ทั้งนี้ ให้พิจารณาปรับแผนการขอใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับความเร่งด่วนของโครงการที่จะต้องดำเนินการในการป้องกันและแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ในการติดตามการดำเนินโครงการต่าง ๆ ขณะนี้ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาเพื่อจัดทำระบบให้สามารถรายงานข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งระบบจะเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถรายงานข้อมูลมาได้ด้วย
2.1.2 การสำรวจความพร้อมของระบบเตือนภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจความสมบูรณ์และความพร้อมของระบบเตือนภัยในท้องถิ่น โดยให้มีการเชื่อมโยงไปถึงชุมชน และให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบูรณาการการติดตั้งระบบให้ครอบคลุมไปยังชุมชนให้ครบถ้วน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมขังเป็นประจำ
2.1.3 การดำเนินการเกี่ยวกับการรุกล้ำพื้นที่รับน้ำและทางระบายน้ำ ให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรุกกล้ำพื้นที่ดังกล่าวและการป้องกันมิให้มีการรุกล้ำพื้นที่เพิ่มเติมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2.1.4 การขุดลอกคูคลอง ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำรวจพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของทั้ง 25 ลุ่มน้ำ ว่ามีพื้นที่ส่วนใดที่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลอง แล้วให้รายงานข้อมูลผ่านระบบ PMOC Flood Recovery รวมทั้งให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม (กองทัพไทย) เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการบำรุงรักษาคูคลองที่ขุดลอกแล้วให้คงอยู่สภาพเดิมต่อไป
2.1.5 การดูแลรักษาแหล่งน้ำ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลเรื่องการรักษาแหล่งน้ำต่าง ๆ โดยให้คำนึงถึงพื้นที่เพื่อการเกษตรด้วย
ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปพิจารณาในการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดให้มีขึ้นซึ่งจะพิจารณาในภาพรวมของการเกษตรทั้งในเรื่องของ Zoning การใช้น้ำ รวมถึงปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง ในชั้นนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในทางเศรษฐกิจและให้ผลผลิตที่ดี เนื่องจากต่อไปนี้จะไม่ส่งเสริมให้ปลูกพืชล้มลุกตามเชิงเขา ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับไปพิจารณากำหนดให้ชัดเจนในเรื่องของการใช้น้ำในระบบชลประทานเพื่อการเกษตรของแต่ละจังหวัดอย่างเต็มประสิทธิภาพตามแนวพระราชดำริ เนื่องจากต่อไปรัฐบาลจะจัดทำแผนการส่งเสริมสินค้าเกษตรของแต่ละจังหวัดให้สอดคล้องกับสินค้าที่มีศักยภาพในการที่จะสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดอย่างแท้จริง
2.2 การดูแลและการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
2.2.1 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดประสานการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและเป็นไปในลักษณะเชิงรุก โดยร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยเพื่อให้ดูแลประชาชนในเรื่องต่าง ๆ เป็นไปอย่างทั่วถึง ให้กระทรวงมหาดไทยใช้กลไกท้องถิ่นเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของประชาชนในพื้นที่เพื่อมิให้มีเรื่องการเมืองเข้ามาแทรกแซงการดำเนินการ ในกรณีที่ประชาชนได้รับความเดือนร้อนและมีการชุมนุมเรียกร้อง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว และเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เรียกร้องตลอดจนหาทางช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้การชุมนุมลุกลาม หากผู้ชุมชุมเรียกร้องใช้วิธีการปิดถนน ให้ดำเนินการตามกฎหมาย
2.2.2 ให้รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ) และกระทรวงมหาดไทยรับไปดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อกำหนดเครือข่ายและระบบการรายงานข้อมูลเรื่องต่าง ๆ ของจังหวัดมายังส่วนกลาง โดยให้ข้อมูลดังกล่าวต้องมีการบูรณาการและเป็นเอกภาพ ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลด้านภัยพิบัติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยใช้ศาลากลางจังหวัดเป็นศูนย์บัญชาการประจำจังหวัด (single command) ทำหน้าที่เป็นส่วนหน้าในการรวบรวมและประมวลข้อมูลทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้ส่วนกลาง
2.3 การแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งดำเนินการในเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในเชิงรุก โดยให้ความสำคัญในการสร้างความตระหนักถึงภัยและอันตรายของยาเสพติด รณรงค์ให้มีการแจ้งเบาะแส การป้องกัน และให้ความสำคัญในการแยกแยะกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในสถานศึกษาและชุมชน
2.4 การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รัฐบาลจะใช้เรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการบริหารจัดการน้ำในจังหวัด การป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเครื่องชี้วัดประเมินผลการปฏิบัติงาน ดังนั้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง เพื่อที่จะสามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง