ที่ประชุม กพช. เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2553-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
วันที่ 8 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 3/2555 (ครั้งที่ 142) ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงผลการประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล เช่น โครงการรถไฟฟ้า 10 สายหลักในกรุงเทพฯ และโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งให้สอดคล้องกับแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554-2573) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555 - 2564) ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
ด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศไทย การปรับปรุงแผน POP 2010 ฉบับใหม่จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไม่ต่ำกว่า 15% ของความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ส่วนการจัดหาไฟฟ้าในอนาคต จะพิจารณาจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นเป็นไม่ต่ำกว่า 10% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด จากเดิมในแผน POP 2010 ฉบับปรังปรุงครั้งที่ 2 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5 %
การจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะลดสัดส่วนจากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 10% ลงเหลือสัดส่วนไม่เกิน 5% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในระบบ โดยเลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จากปี 2566 เป็นปี 2569 เพื่อขยายเวลาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยจากบทเรียนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นและสร้างการยอมรับจากประชาชน
สำหรับการจัดหาไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะพิจารณาความจำเป็นด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ การยอมรับของประชาชน และเป้าหมายการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศกำหนดสัดส่วนการรับซื้อไม่เกิน 15% ของกำลังผลิตทั้งหมดในระบบ
นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจะมีการกำหนดเพิ่มเติมจากแผนเดิม มีการเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ขยายเป้าหมายปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ตลอดจนปรับลดปริมาณการปล่อย CO2 จากภาคการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งคาดว่าแผนดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้นเมื่อถึงปี 2573 ประมาณ 70,686 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าขนอมตามที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เสนอ เพื่อผลิตไฟจำนวน 900 เมกะวัตต์ ทดแทนโรงไฟฟ้า ขนอมเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2559 ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าภาคใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะพิจารณาวางกรอบรับซื้อไฟฟ้าโดยคำนึงถึงระยะเวลาการดำเนินโครงการ ราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความพร้อมด้านมวลชนสัมพันธ์และการยอมรับของประชาชนรอบพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้า โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานพิจารณากรอบปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน IPP และ SPP รอบใหม่ ตลอดจนให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดทำร่างแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้สอดคล้องกับ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 และนำเสนอ กพช. พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยรับทราบเหตุผล ความจำเป็นของการมีสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศในเบื้องต้นและเห็นชอบในหลักการให้มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคต เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาลสำหรับบริหารจัดการในภาวะวิกฤต สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนรวมถึงนักลงทุนว่าจะมีน้ำมันใช้อย่างเพียงพอไม่ขาดแคลน ตลอดจนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขยายความร่วมมือด้านพลังงานในกลุ่มอาเซียน และประเทศผู้ใช้รายใหญ่ เช่น จีน โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานดำเนินการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อจัดตั้งการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ
ที่ประชุม กพช. ยังเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเซเปียน - เซน้ำน้อย ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป. ลาวสำหรับจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งมีขนาดกำลังผลิต 390 เมกะวัตต์ โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการนี้กับผู้พัฒนาโครงการต่อไป