หลักเกณฑ์-มาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอกคูคลอง
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอกคูคลองตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง [คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.)] พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงาน เพื่อให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) นำหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอกคูคลองนี้ไปใช้บังคับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ในการประชุม กบภ. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2554 นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการติดตามโครงการขุดลอกคูคลองในขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานการตรวจรับงาน โดยให้มีมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งเป็นไปอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ ดังนั้น ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศบภ.) จึงขอให้กรมบัญชีกลาง (กวพ.) พิจารณากำหนดหรือแจ้งหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานในกรณีดังกล่าว เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามหลัก ธรรมาภิบาล และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ราชการและประชาชนต่อไป
2. กค. โดย กวพ. พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยหลักการการตรวจรับการจ้างขุดลอกคูคลอง ส่วนราชการจะต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 72 (1) ซึ่งสรุปได้ว่า ให้คณะกรรมการตรวจการจ้างมีหน้าที่ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมที่ผู้ควบคุมงานรายงาน โดยตรวจสอบกับแบบรูปรายการละเอียด และข้อกำหนดของสัญญาแต่เนื่องจากในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยมีส่วนราชการได้รับการจัดสรรงบประมาณตามโครงการขุดลอกคูคลองเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบโครงการขุดลอกคูคลองดำเนินการตรวจรับงานให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ กวพ. จึงเห็นควรซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานของโครงการขุดลอกคูคลองดังกล่าว โดยให้ส่วนราชการอย่างน้อยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
2.1 ก่อนการขุดลอก ขอให้ดำเนินการสำรวจ ตรวจสอบสถานที่ดำเนินการ เช่น สภาพภูมิประเทศและความลึกของท้องน้ำ ค่าระดับท้องคลอง เป็นต้น
2.2 ประมาณการปริมาณดินก่อนขุดลอก รวมถึงแบบรูปรายการละเอียดของงานในแต่ละงาน โครงการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตรงตามมาตรฐานของงานแต่ละส่วนราชการ เพื่อประกอบการจัดจ้าง
2.3 ตรวจสอบปริมาณดินหลังขุดลอก โดยตรวจสอบปริมาณงานดินที่ขุดได้ และเปรียบเทียบกับปริมาณงานที่กำหนดไว้ในรายการ หรือสัญญา ตามวิธีการที่เป็นมาตรฐานที่ส่วนราชการกำหนด โดยมีผู้รับผิดชอบลงนาม ตรวจสอบ ก่อนการดำเนินงานระหว่างการดำเนินงาน และเมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ในการตรวจรับงานและการเบิกจ่ายเงิน
2.4 ขอให้มีการถ่ายรูปสถานที่ก่อนการดำเนินงาน ระหว่างการดำเนินงาน และเมื่อดำเนินงานแล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบและจัดทำรายงานการตรวจรับงานเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ
2.5 จัดทำรายงานการตรวจรับงานเสนอต่อหัวหน้าส่วนราชการ
ทั้งนี้ หากส่วนราชการใดไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวได้ อาจขอความร่วมมือจากส่วนราชการอื่นที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญในเรื่องดังกล่าวได้
3. เนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือในต่างประเทศ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานอื่นซึ่งมีกฎหมายบัญญัติให้มีฐานะเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการในการขุดลอกคูคลองเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน อีกทั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงมอบหมายให้ มท. นำหลักเกณฑ์และมาตรฐานการตรวจรับงานโครงการขุดลอกคูคลองนี้ไปใช้บังคับกับ อปท. เพื่อให้ถือปฏิบัติให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันด้วย