กทม. ชี้แจงสัญญาจ้างบีทีเอสเดินรถมุ่งให้ประชาชนได้ประโยชน์เป็นหลัก
วันที่ 14 พ.ค. 55 ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า) : ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนางนินนาท ชลิตานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมชี้แจงกรณีกรุงเทพมหานคร มอบอำนาจให้ บริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานคร ว่าจ้างบริษัทขนส่งมวล ชนกรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 30 ปี ว่าถือเป็นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครตามมาตรา 89 (8) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ บริหารราชการกรุงเทพมหานคร ในการว่าจ้างให้เอกชนเดินรถไฟฟ้าตามโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพมหานคร เป็นผู้รับผลประโยชน์สุดท้ายเองทั้งหมด เพียงแต่ทำการจ้างเอกชนเดินรถโดยเอกชนจะรับค่าจ้างเป็นการตอบแทนเท่านั้น ซึ่งการจ้างดังกล่าว มิใช่การร่วมลงทุนกับเอกชนแต่อย่างใด
จ้างกรุงเทพธนาคมมาทำหน้าที่ในการบริหารเพื่อความคล่องตัว
กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะให้บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กรุงเทพมหานครถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 99 และสามารถจัดทำบริการสาธารณะที่เป็นสาธารณูปโภคตามที่มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติไว้เข้ามาเป็นผู้บริหารจัดการระบบ ซึ่งจะรับผิดชอบการกำกับดูแลผู้เดินรถที่กรุงเทพมหานคร จะว่าจ้างมาเดินรถ และดูแลรักษาระบบ รวมถึงการทำหน้าที่เก็บค่าโดยสารให้กรุงเทพมหานครด้วย
เนื่องจากบริษัทกรุงเทพธนาคมฯ เป็นวิสาหกิจของกรุงเทพมหานครในรูปแบบบริษัท จึงมีความเหมาะสมที่จะรับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารโครงการนี้
ทั้งนี้หากกรุงเทพมหานครจะจัดทำบริการสาธารณะโดยใช้รูปแบบของระบบราชการด้วยการมอบหมายให้หน่วยงานของ กรุงเทพมหานคร เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง รับไปดำเนินการก็จะติดขัดด้วยระบบราชการที่มีขั้นตอนการดำเนินการซึ่งจะทำให้ เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงานและไม่สอดคล้องกับลักษณะของบริการสาธารณะประเภทระบบขนส่งมวลชน หากต้องมีการซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบคอมพิวเตอร์หรือรถไฟฟ้ารวมทั้งระบบอื่นใดจะไม่สามารถทำได้โดยเร็ว ทำให้บริการต่อประชาชนติดขัด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้นในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เนื่องจากความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้บริการของประชาชนด้วย
นอกจากนั้น ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่จะต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งปัจจุบันบุคลากรของกรุงเทพมหานครยังไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความชำนาญและประสบการณ์มากพอ การจ้างเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น ก็มีข้อจำกัดเรื่องค่าตอบแทนของระบบราชการที่น่าจะไม่ได้คนที่มีความรู้มีประสบการณ์มาทำงานที่ต้องการความเที่ยงตรงและปฏิบัติงานด้วยความมีประสิทธิภาพเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ
ระบุสัญญาจ้าง 30 ปี ปิดช่องทางต่อสัมปทาน
ในส่วนของระยะเวลาการจ้างในสัญญา 30 ปีนั้น ถือว่าเป็นระยะเวลาที่กรุงเทพมหานครจะได้ประโยชน์สูงสุด และ สามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 6,000 ล้านบาท และมั่นใจว่ากรุงเทพมหานครและพี่น้องประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันว่าไม่ได้เป็นการขยายสัมปทานให้กับบีทีเอส แต่เป็นการใช้สิทธิ์ในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินภายหลังสิ้นสุดสัมปทาน ในปี 2572 ซึ่งกรุงเทพมหานครสามารถนำรายได้ในส่วนดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาเมืองได้อย่างเต็มที่
เตรียมทำหนังสือกฎหมายปกขาว ชี้แจงข้อเท็จจริง
ดร.ธีระชน กล่าวอีกว่า จากกรณีดังกล่าวมีการท้วงติงจากกระทรวงคมนาคมและพรรคเพื่อไทยกล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายหลีกเลี่ยง พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2535 โดยจงใจที่จะขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก
ในประเด็นนี้กรุงเทพมหานคร ยืนยันไม่ใช่การขยายอายุสัมปทาน แต่เป็นการบริหารความเสี่ยงโดยการว่าจ้างให้เอกชนเดินรถล่วงหน้า
นอกจากนี้กรุงเทพมหานคร จะจัดทำหนังสือปกขาวโดยเนื้อหาจะชี้แจงการบริหารงานและรายละเอียดของการว่าจ้างทั้งหมดให้กับสภาผู้แทนราษฎรและ สภากรุงเทพมหานครได้ทราบข้อมูลทั้งหมด พร้อมกับจะเข้าพบนาย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจง ให้ทราบถึงขอบเขตอำนาจที่กรุงเทพมหานครสามารถดำเนินการได้ โดยเชื่อว่านายจารุพงศ์ จะเข้าใจได้ดีเพราะเคยเป็นอดีต ข้าราชการกรุงเทพมหานครมาก่อน
ส่วนการชี้แจงทางการเมือง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะเป็นผู้ชี้แจง เรื่องดังกล่าวด้วยตนเองภายหลังการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ สำหรับการฟ้องกลับเพื่อเป็นการโต้ตอบที่ทำให้กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายหรือไม่นั้น จะหารือกับฝ่ายกฏหมายอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ได้ขยายวงกว้างไปสู่ประเด็นการเมืองเหมือนกับเรื่อง การจัดซื้อกล้อง CCTV ซึ่งปรากฏชัดแล้วว่ากรุงเทพมหานครทำถูกต้อง อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการทุกอย่างถูกต้อง ตามกระบวนการทางกฏหมายและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเพื่อให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม