คกก. ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ
วันที่ 11 พ.ค.55 ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ ครั้งที่ 1/2555 โดยมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
สรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่นตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552-2555 รวม 7 มาตรการ ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ ซึ่งประกอบด้วย
1. มาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมไทยและร่วมใจต้านภัยการทุจริต
2. มาตรการสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น
3. มาตรการสร้างกลไกรองรับเรื่องร้องเรียน และกำหนดมาตรการตรวจสอบ ติดตามการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
4. มาตรการศึกษารูปแบบการกระทำผิดเพื่อนำสู่การปฏิรูปกระบวนงานของหน่วยงานภาครัฐ
5. มาตรการยกระดับมาตรฐานหน่วยงานเพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส (ISO)
6. มาตรการสร้างกลไกคุ้มครองนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
7. มาตรการบูรณาการป้องกันการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการหน่วยงานภาครัฐ
โดยมาตรการเพื่อเอาชนะการทุจริตคอร์รัปชั่นตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2552-2555 มีเป้าหมายการปฏิบัติการ คือ
เป้าหมายที่ 1 รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยร่วมกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้คำขวัญ "คนโกงต้องไม่มีที่ยืนในสังคมไทย" โดยจำแนกประชากรเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มประชาชนทั่วไป 2) กลุ่มเยาวชน 3) กลุ่มข้าราชการ
เป้าหมายที่ 2 การสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น ภายใต้คำขวัญ "อย่าทำทุจริต มีคนจ้องมองท่านอยู่" โดยกำหนดให้มี 4 เครือข่าย คือ 1) เครือข่ายเฝ้าระวังภาคประชาชน ในทุกสังคม ชุมชน ตำบล และหมู่บ้าน 2) เครือข่ายเฝ้าระวังภาคราชการทุกหน่วยงาน 3) เครือข่ายเฝ้าระวังภาคสื่อมวลชน 4) เครือข่ายเฝ้าระวังภาคผู้ประกอบการนักลงทุน
เป้าหมายที่ 3 จัดให้มีกลไกรองรับการกล่าวหาร้องเรียนและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมที่สามารถตอบสนองต่อข้อร้องเรียนเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เป้าหมายที่ 4 มีรูปแบบการกระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นกลไกการดำเนินงานเพื่อศึกษา เรียนรู้ทำให้เกิดความเข้าใจ และเข้าถึงสภาพปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ
เป้าหมายที่ 5 มีการจัดลำดับความโปร่งใส และยกระดับมาตรฐานหน่วยงานของรัฐ เพื่อก้าวสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส (ISO) โดยจะดำเนินการนำร่องในระดับ กระทรวง/กรม และจังหวัด
เป้าหมายที่ 6 มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือผู้ประกอบการ นักลงทุนจากต่างประเทศให้ปลอดภัยจากการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
เป้าหมายที่ 7 กลไกการบูรณาการป้องกันการทุจริตการใช้เงินงบประมาณในโครงการของหน่วยงานภาครัฐ โดยการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังป้องกันการทุจริตในโครงการของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ขั้นการวางแผนก่อนดำเนินงาน ขั้นดำเนินงาน และขั้นสรุปหลังการดำเนินโครงการ
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจำนวน 7 คณะ เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนมาตรการทั้ง 7 มาตรการ ประกอบด้วย
คณะที่ 1 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้กับสังคมไทยและร่วมใจต้านภัยการทุจริต
คณะที่ 2 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการสร้างเครือข่ายเพื่อเฝ้าระวังให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น
คณะที่ 3 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการสร้างกลไกรองรับเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบติดตามการปฏิบัติต่อข้อร้องเรียนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
คณะที่ 4 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการศึกษารูปแบบการกระทำผิดเพื่อนำสู่การปฏิรูปกระบวนงานของหน่วยงานภาครัฐ
คณะที่ 5 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการยกระดับมาตรฐานหน่วยงานเพื่อก้าวไปสู่องค์กรแห่งความโปร่งใส (ISO)
คณะที่ 6 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการสร้างกลไกคุ้มครองนักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติจากการทุจริตคอร์รัปชั่น
คณะที่ 7 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบูรณาการป้องกันการทุจริตเงินงบประมาณในโครงการหน่วยงานภาครัฐ
ทั้งนี้ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2555 จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ "ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น" ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานในการประกาศยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น และกล่าวมอบนโยบายแก่หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนภาคสื่อมวลชน คณะผู้แทนทางการทูตในประเทศไทย และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาองค์การเพื่อสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติราชการ พร้อมกับจะมีพิธีลงนามในสัตยาบันและติดเครื่องหมายสัญลักษณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์การไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น (Anti-Corruption War Room) นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการนำเสนอตัวอย่างต่างประเทศที่เป็นเลิศ (Best Practices) ในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น: กรณีสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดย ผู้อำนวยการ Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB), Singapore การบรรยายพิเศษเรื่อง "แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทย"การนำเสนอตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของหน่วยงานไทยในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น และการบรรยายพิเศษเรื่อง "การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ"