ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล
วันที่ 24 เมษายน 255 คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่า ระบบการรักษาพยาบาลของประเทศไทยในปัจจุบันมี 3 ระบบ ซึ่งดูแลโดย 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม และ กค. โดยกรมบัญชีกลางดูแลระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งทั้ง 3 ระบบดังกล่าวได้ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้อยู่ในระบบโดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่โดยที่มีการบริหารจัดการที่แตกต่างกันจึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล สมควรหาแนวทางการสร้างความเป็นเอกภาพของระบบการให้บริการเจ็บป่วย โดยเริ่มจากระบบการบริการฉุกเฉินสำหรับประชาชนทุกสิทธิ ประกอบกับนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีนโยบายพัฒนาระบบประกันสุขภาพภาครัฐให้เป็นเอกภาพ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศได้รับสิทธิประโยชน์หลักเท่าเทียมกัน และรัฐสามารถบริหารจัดการระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพในระยะยาวภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณที่เหมาะสม จึงเห็นควรปรับปรุงสิทธิในการเบิกค่ารักษาพยาบาล สำหรับการเข้ารับการรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลของเอกชน กรณีที่ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน ตามนิยามในพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ทั้งนี้ การจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษายาบาลเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กค. กำหนดเพื่อให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้ผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนตามกฎหมายว่าด้วยการแพทย์ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของเอกชนทั้งประเภทผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป