มาตรการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs
วันที่ 24 เมษายน 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถ SMEs
2. อนุมัติให้จัดสรรงบประมาณที่ต้องใช้ในการสนับสนุนโครงการเป็นวงเงินไม่เกิน 7,325 ล้านบาท และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเบิกจ่ายตามจริง โดยให้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในรายละเอียดต่อไป
3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 3 ฉบับ ดังนี้
3.1 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3.2 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
3.3 ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
กค. เสนอว่า ได้จัดทำมาตรการทางการเงินและมาตรการภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของ SMEs ใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การยกระดับผลิตภาพการผลิต (Productivity) 2) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ 3) การลดภาระต้นทุนจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น สรุปได้ดังนี้
1. มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย
1.1 โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) โดย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วยสินเชื่อ 2 ประเภท คือ สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักรและสินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน โดยมีวงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 2 ปี นับจากวันที่มติคณะรัฐมนตรี และงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนไม่เกิน 1,805 ล้านบาท
1.2 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 4 (PGS ระยะที่ 4) ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยมีวงเงินค้ำประกันรวม 24,000 ล้านบาท โดย บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 5 ปี และรัฐบาลชดเชยส่วนต่างค่าประกันชดเชยตามจริงแต่ไม่เกิน 2,220 ล้านบาท
1.3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ของ บสย. สำหรับ SMEs ที่มีอายุกิจกรรมไม่เกิน 2 ปี มีวงเงินค้ำประกันรวม 10,000 บาท โดย บสย. จ่ายอัตราค่าประกันชดเชย (Coverage ratio) ให้กับสถาบันการเงินในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 48 ของภาระค้ำประกันเฉลี่ยตลอดระยะเวลาโครงการ 7 ปี และงบประมาณที่ใช้ในการสนับสนุนรวม 3,300 ล้านบาท
1.4 กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ SMEs กู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อปี วงเงินกู้ยืมสูงสุด 42,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 4 ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฝึกอบรม ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเงินกองทุนอยู่ 570 ล้านบาท และคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติเห็นชอบรายละเอียดการกู้ยืมดังกล่าว
1.5 โครงการสินเชื่อส่งเสริมการจ้างงาน (กองทุนประกันสังคม) ให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยอาศัยแหล่งเงินทุนจากกองทุนประกันสังคมให้แก่ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเงินทุนในการเสริมสภาพคล่องหรือเพิ่มผลิตภาพการผลิต มีวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท และคณะกรรมการประกันสังคมได้มีมติเห็นชอบรายละเอียดการกู้ยืมแล้ว
มาตรการตามข้อ 1.1 – 1.3 มีงบประมาณที่ต้องใช้ในการสนับสนุนทั้งสิ้นไม่เกิน 7,325 ล้านบาท ส่วนมาตรการตามข้อ 1.4 – 1.5 ไม่ต้องใช้งบประมาณในการสนับสนุน ทั้งนี้ มาตรการทั้ง 5 มาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสร้างสินเชื่อให้กับ SMEs เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 86,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์กว่า 28,000 ราย
2. มาตรการภาษี โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับ SMEs ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยมาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มาตรการหักค่าเสื่อมเครื่องจักร และมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นรัษฎากรและหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน รวม 3 ฉบับ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการขายทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดเงื่อนไขและอัตราการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตสินค้าหรือให้บริการรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธิ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555
3. ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายที่ได้มีการจ่ายเป็นค่าจ้างเฉพาะส่วนต่างของค่าจ้างที่ได้มีการจ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันตามที่กำหนดในแต่ละเขตจังหวัดกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่เป็นเงินวันละสามร้อยบาท ให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมิน ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกินสามสิบล้านบาทต่อปี ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555