นครปฐมกับฟลัดเวย์: อย่าเอาพิมเสนไปแลกเกลือ
ผมรู้สึกดีใจที่ได้ทราบข่าวว่า จ.นครปฐมกำลังจะจัดเวทีใหญ่ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555เพื่อวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวทางการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ที่จะให้พื้นที่ของจังหวัดนครปฐมทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนเป็นพื้นที่รับและระบายน้ำที่เรียกว่า ฟลัดเวย์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความคิดเห็นที่จะแลกเปลี่ยนกันในเวทีดังกล่าว
เศรษฐกิจสามขา ชาวประชาเป็นสุข
สำหรับหลายๆ คน นครปฐมอาจเป็นเพียงจังหวัดหนึ่ง ซึ่งไม่แตกต่างไปจากจังหวัดอื่นอีก 76 จังหวัดของประเทศไทย แต่สำหรับนักเศรษฐศาสตร์อย่างผมแล้ว จังหวัดนครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความหมายต่อทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย
ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะนครปฐมมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนชลบุรี ระยอง หรือเพราะนครปฐมกำลังจะเป็นเส้นทางผ่านของทางหลวงพิเศษจากทะวายถึงแหลมฉะบัง และอาจพัฒนาเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าใหญ่ในอนาคต แต่เป็นเพราะเมื่อวัดด้วยค่าสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ (หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Gini coefficient) แล้ว นครปฐมเป็นจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดของประเทศไทย
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ นครปฐมแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่มักมุ่งไปในทางใดทางหนึ่งอย่างสุดโต่ง เช่น ระยองหรือสมุทรสาครก็มุ่งอุตสาหกรรม หลายจังหวัดก็ยังคงเน้นเกษตรกรรมเช่นที่ผ่านมา บางจังหวัดเช่น ภูเก็ต ก็อาจเน้นการท่องเที่ยว แต่จังหวัดนครปฐมกลับมีความเติบโตและรักษาความสามารถในการแข่งขันของทั้งสามสาขา กล่าวคือ เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ไปพร้อมๆ กัน
ในขณะที่นครปฐมมีการขยายตัวของเมืองและภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ชาวนครปฐมก็ยังสามารถรักษาฐานทรัพยากรการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ไว้ได้ ทำให้นครปฐมเป็นฐานการผลิตทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงและมีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ กล้วยไม้ พืชผัก ปศุสัตว์ หรือสัตว์น้ำก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในนครปฐมก็เป็นอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นการต่อยอดจากวัตถุดิบในพื้นที่ มากกว่าการนำวัตถุดิบหรือแรงงานเข้ามาจากพื้นที่อื่นๆ
นครปฐมจึงกลายเป็นจังหวัดที่มี "ระบบเศรษฐกิจสามขา" อย่างแท้จริง เพราะเป็นระบบที่ดำรงอยู่ด้วยกันของทั้สามสาขาหลักทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นทางเลือกที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนในพื้นที่ ทั้งยังเสริมหนุนซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งความเท่าเทียมกันของประเทศย
นครปฐมกับน้ำท่วมเชิงนโยบาย
แต่ระบบเศรษฐกิจสามขาของนครปฐมกำลังสั่นคลอนจากมหาอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทำให้พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของนครปฐม ไม่ว่าจะเป็นเรือกสวนไร่นาปลากุ้งต่างๆ จมน้ำไปเป็นจำนวนมาก พอน้ำลดยังไม่ทันฟื้นตัว ชาวนครปฐมก็ต้องตกใจกับแนวคิดใหม่ของรัฐบาลในการป้องกันอุทกภัยสำหรับกรุงเทพมหานคร ด้วยวิถีทางที่เรียกกันจนคุ้นว่า "ฟลัดเวย์" (Flood way)
จริงๆ แล้วในปีที่ผ่านมา นครปฐมก็มีสภาพเป็นฟลัดเวย์อยู่แล้ว เพราะรัฐบาลป้องกันพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน โดย โดยใช้ทางรถไฟสายใต้และประตูน้ำต่างๆ เป็นตัวกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้ากรุงเทพฯ ชั้นใน น้ำจึงต้องระบายผ่านพื้นที่รอบนอก จังหวัดนครปฐมก็ถูกน้ำท่วมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำท่าจีน และท่วมอยู่นานด้วย กว่าที่จะเจรจาให้มีการเปิดประตูระบายน้ำ กว่าจะมีการระดมเครื่องสูบน้ำ ก็เล่นเอาชาวนครปฐมอ่วมกันไปตามๆ กัน ในขณะที่ชาวกทม. (ที่ถูกน้ำท่วม)เริ่มบิ๊กคลีนนิ่งเดย์กันปลายเดือนพฤศจิกายน ชาวนครปฐมนั่นต้องรอจนถึงกลางเดือนมกราคม 2555 กว่าน้ำจะแห้งหมด
ชาวนครปฐมเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่า "น้ำท่วมเชิงนโยบาย" ซึ่งแปลว่า เป็นอุทกภัยที่ไม่ใช่ปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้น (หรือขยายตัวมากขึ้น) จากการตัดสินใจของรัฐบาล
มหันตภัยฟลัดเวย์
เอ๊ะ ถ้าเช่นนั้น หลายคนคงสงสัยว่า จะมีสิ่งใดให้ชาวนครปฐมต้องตกใจ (เพิ่มเติมขึ้นอีก) คำตอบก็คือ เพราะรัฐบาลขยายพื้นที่ปกป้องหรือพื้นที่ปิดล้อมทางเศรษฐกิจให้กว้างขวางขึ้นไปกว่าเดิม โดยครอบคลุมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกทั้งหมด นนทบุรีฝั่งตะวันตกทั้งหมด ปทุมธานีทางฝั่งตะวันตกทั้งหมด ไปจนถึงบางส่วนของอ.ลาดบัวหลวง จ.อยุธยา ขณะเดียวกันก็ครอบคลุมพื้นที่ของนครปฐมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนไว้ด้วย (อ.พุทธมณฑล บางส่วนของอ.บางเลน บางส่วนของอ.นครชัยศรี) และบางส่วนของอ.สามพราน) ไว้ด้วย
กล่าวง่ายๆ ก็คือ พื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ด้านใต้ของคลองพระยาบันลือ มาจนจรดแม่น้ำท่าจีนจะเป็นพื้นที่ปิดล้อมไม่ให้น้ำท่วม หรือหากเอาแม่น้ำท่าจีนเป็นตัวตั้ง ก็บอกว่า ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนทั้งหมด (ใต้คลองพระยาบันลือลงมา) จะกลายเป็นพื้นที่ปิดล้อมที่ไม่ให้น้ำท่วม
ดังนั้น รัฐบาลจึงวางแผนให้น้ำน้ำทั้งหมดเทมายังพื้นที่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำท่าจีน ดังนั้น น้ำมหาศาลก็จะเทยังมาฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนมากยิ่งขึ้น และนครปฐมก็จะมีสภาพเป็นเมืองที่พื้นที่ด้านหนึ่งได้รับการปกป้อง ส่วนพื้นที่อีกด้านหนึ่งต้องกลายสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำไปโดยปริยาย
คำถามที่ก้องอยู่ในใจชาวนครปฐมก็คือ แล้วผลกระทบกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำจะเป็นอย่างไร น้ำจะท่วมสูงเพียงใด นานเพียงใด และจะระบายไปอย่างไร
สิ่งที่น่าผิดหวังก็คือ ในขณะที่แผนการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติระบุแนวทางการปกป้องพื้นที่พื้นที่ปิดล้อมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจไว้โดยละเอียด ว่าจะป้องกันอย่างไร จะระบายน้ำอย่างไร แต่แผนการดังกล่าวกลับไม่กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและแนวทางการแก้ไขปัญหากับพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนที่ต้องเป็นฟลัดเวย์รับน้ำเลย
ปฏิบัติการเข็นน้ำขึ้นภูเขา
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า โดยธรรมชาติ พื้นที่ที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ไม่ว่าจะเป็นอ.กำแพงแสน หรือ อ.ดอนตูม นั้นมีระดับพื้นดินที่สูงกว่าทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนเป็นอย่างมาก (สังเกตคำว่า "ดอน"ตูม และดูภาพประกอบ) ปีพ.ศ. 2554 ที่แล้ว น้ำจึงท่วมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนมากกว่าฝั่งตะวันตก ปฏิบัติการที่จะย้ายน้ำจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนจึงเป็นปฏิบัติการฝืนธรรมชาติ ที่อ.ประเชิญ คนเทศ (จากชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน) และอ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เรียกว่า "ปฏิบัติการเข็นน้ำขึ้นภูเขา"
และเมื่อการเข็นน้ำไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าจีนมีความสูงต่ำของพื้นที่เป็นขอบเขตจำกัด เส้นทางการระบายน้ำท่วมของแม่น้ำท่าจีนจึงตีบตัน เป็นเพียงพื้นที่แคบๆ ระหว่างแม่น้ำท่าจีนกับพื้นที่ดอนทางทิศตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ทั้งนี้ ยังไม่รวมแนวของคลองประปาฝั่งตะวันตกที่พาดตามแนวตะวันตก-ตะวันออก เพื่อส่งน้ำดิบมายังโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์สำหรับชาวกรุงเทพฯ ก็อาจจะถูกเสริมและกลายเป็นคันกั้นน้ำขนาดมหึมา ทำให้น้ำยิ่งระบายได้ช้าลง ดังนั้น ชาวบ้านในพื้นที่รับน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและทุ่งตอนเหนือมีความเป็นห่วงว่า น้ำอาจจะท่วมลึกและท่วมนานจนยากที่จะฟื้นตัว
เมื่อแรกได้ยินข่าว ผมคาดหวังว่า รัฐบาลจะสามารถให้ภาพที่ชัดเจนได้ว่า ปริมาณน้ำท่าที่ไหลผ่านฟลัดเวย์จะผ่านในปริมาณเท่าไร หรือในอัตราใด จะทำให้เกิดการเอ่อล้นหรือเท้อเข้าท่วมพื้นที่ใดบ้าง ในระดับความลึกเท่าไร และในระยะเวลานานเพียงใด แต่รัฐบาลกลับไม่บอกภาพอนาคตที่ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้จะต้องเผชิญเลย นอกจากบอกชาวนครปฐมว่า บ้านคุณเป็นพื้นที่ฟลัดเวย์ ที่จะต้องเสียสละรองรับภาระน้ำท่วม
เมื่อรัฐบาลไม่บอกข้อมูลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แล้วประชาชนในพื้นที่จะเตรียมตัว และปรับตัวรับมืออย่างไร อย่าลืมว่า แม้กระทั่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ที่รับประกันภัยพืชผลสำหรับชาวนามาตั้งแต่ปีที่แล้ว พ.ศ. 2554 (ซึ่งช่วยชดเชยชาวนาข้าวได้มากทีเดียวในอุทกภัยครั้งที่ผ่านมา) ก็ยังตั้งเงื่อนไขว่า ในปีนี้ (และอาจจะหมายถึงปีต่อๆไปด้วย) จะไม่รับประกันภัยพืชผลสำหรับพื้นที่ที่เป็นพื้นที่รับน้ำ
แน่นอนว่า ในฐานะธนาคาร ผมเข้าใจดีว่า การรับประกันภัยพืชผลในพื้นที่รับน้ำเป็นความเสี่ยงสำหรับธกส. และคงยากอย่างยิ่งที่จะหาบริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อมาร่วมรองรับความเสี่ยงในพื้นที่เหล่านี้ แต่นั่นแหละ สิ่งที่น่าคิดคือ แล้วใครจะช่วยแบ่งเบาภาระความเสี่ยงของเกษตรกรในพื้นที่รับน้ำ หรือจะต้องปล่อยให้เกษตรกรเผชิญความทุกข์ยากเพียงลำพัง
พื้นที่ปกป้องปลอดภัยจริงหรือ?
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงว่า เมื่อไม่ทราบ (หรือไม่บอก) ปริมาณน้ำที่ไหลทะลักเข้าไปในฟลัดเวย์แคบๆ จะมีมากเพียงใด และจะทำให้เกินน้ำท่วมเอ่อล้นสูงเพียงใด ผมจึงสงสัยต่อไปว่า แล้วรัฐบาลจะทราบได้อย่างไรว่าแนวคันกั้นน้ำทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนจะสามารถรองรับปริมาณน้ำมหาศาล และระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นได้
หากแนวคันกั้นน้ำทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนไม่สามารถต้านทานมวลน้ำมหาศาลได้เมื่อใด น้ำมหาศาลก็จะไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และในที่สุดก็อาจทะลักเข้าสู่ทุ่งพระพิมล พุทธมณฑล หรือแม้กระทั่งจังหวัดนนทบุรีเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา
ในกรณีนั้น นอกจากฟลัดเวย์จะไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้พื้นที่ที่ได้รับแจ้งว่าพื้นที่ปกป้อง ก็คงต้องกลับมาเป็นพื้นที่เผชิญทุกข์ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ และอาจจะต้องประสบชะตากรรมมากขึ้นอีกด้วยซ้ำ หากหลงเชื่อแนวทางของรัฐบาล (ที่ระบุว่าพื้นที่ของตนปลอดภัย) จนขาดการเตรียมพร้อมที่ดีเช่นที่ผ่านมา
โจทย์ที่แท้จริงของรัฐบาล
ผมจึงได้แต่มุ่งหวังว่า รัฐบาลจะทำความชัดเจนกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการน้ำให้มากกว่านี้ และจะต้องรับผิดชอบที่จะตอบคำถามและข้อห่วงกังวลของประชาชนในพื้นที่ให้ได้ หรือมิฉะนั้นก็ควรจะต้องทบทวนแนวทางของตนเองเสียใหม่ แทนที่จะเดินหน้าไปสู่เส้นทางที่ไม่อาจเป็นคำตอบหรือหลักประกันให้กับประชาชนในพื้นที่ได้เลย มีแต่คำตอบที่จะมอบความอุ่นใจให้กับคนกรุงเทพมาหนครเท่านั้น
สำหรับชาวนครปฐมแล้ว ผมเข้าใจดีว่าพื้นที่ของชาวนครปฐมมีมูลค่าและคุณค่ามากกว่าที่จะมาปล่อยให้เผชิญความเสี่ยงกับแนวคิดการจัดการที่ไม่รอบคอบของรัฐบาล การเสียสละรองรับน้ำแทนคนกรุงเทพฯนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนนครปฐมที่ต้องรองรับน้ำท่วมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 และปี พ.ศ. 2554 แต่สิ่งที่ชาวนครปฐมและผมเองรับไม่ได้คือ การไม่ทำการบ้านของผู้ที่ได้รับประโยชน์ หรือหากพูดให้ชัดก็คือ ความไม่รับผิดชอบของรัฐบาลและคนกรุงเทพฯ เองที่ไม่มีความเข้าใจ และไม่มีหัวใจที่จะใส่ใจในความทุกข์ยากที่ชาวนครปฐมได้รับมาแล้วและจะได้รับต่อไป
ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลและชาวกรุงเทพมหานครสักกี่คนที่จะเข้าใจคำว่า เศรษฐกิจสามขา และจะเห็นคุณค่าของการดำรงอยู่ของจังหวัดที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดของประเทศ แต่สำหรับผมแล้ว ผมอยากสนับสนุนให้ชาวนครปฐมรักษาฐานทรัพยากรอันมีค่าของพวกท่านและของประเทศเอาไว้ อย่าปล่อยให้ฐานทรัพยากรและระบบเศรษฐกิจที่สมดุลและยิ่งใหญ่ของพวกท่าน ต้องมาเสี่ยงกับแผนการณ์ที่ไม่ชัดเจน ไม่รอบคอบ และที่สำคัญที่สุด คือ แผนการณ์ที่มิได้คำนึงถึงชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของผู้คนทุกคนในแผ่นดินนี้
โดย เดชรัต สุขกำเนิด
ที่มา http://decharut.blogspot.com/2012/04/blog-post_07.html?spref=fb