แถลงสรุปสถานการณ์การใช้โทษประหารทั่วโลก ปี 2554
แถลงการณ์
สถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่
โดย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
27 มีนาคม 2555
โทษประหารปี 2554: จำนวนการประหารชีวิตที่น่าตกใจในเพียงไม่กี่ประเทศ
ประเทศต่างๆ ที่ยังมีการประหารชีวิตในปี 2554 มีอัตราการประหารชีวิตที่น่าตกใจ แต่ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารได้ลดจำนวนลงกว่าหนึ่งในสามเมื่อเทียบกับหนึ่งทศวรรษที่แล้ว ทั้งนี้ตามข้อมูลในรายงานประจำปีเกี่ยวกับโทษประหารและการประหารชีวิตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
มีเพียง 10% ของประเทศต่างๆ ในโลกหรือ 20 จาก 198 ประเทศที่ยังมีการประหารชีวิตในปีที่ผ่านมา
มีคนที่ถูกประหารชีวิตและถูกลงโทษประหารด้วยความผิดที่แตกต่างกัน ตั้งแต่การมีเพศสัมพันธ์แบบวิตถารในอิหร่าน การหมิ่นศาสนาในปากีสถาน ไสยศาสตร์ในซาอุดิอาระเบีย การลักลอบค้ากระดูกมนุษย์ในสาธารณรัฐคองโก และความผิดด้านยาเสพติดในกว่า 10 ประเทศ
การประหารชีวิตในปี 2554 เกิดขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ กัน เช่น การตัดศีรษะ การแขวนคอ การฉีดยาและการยิงเป้า
จนถึงปลายปี 2554 มีผู้ต้องโทษประหารประมาณ 18,750 คน และมีผู้ถูกประหารชีวิตอย่างน้อย 676 คนทั่วโลก
แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าเกิดขึ้นที่ประเทศจีน ซึ่งมีการปกปิดข้อมูล
ทั้งยังไม่รวมการใช้โทษประหารของอิหร่าน ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้รับรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีการประหารชีวิตหลายครั้งซึ่งทางการไม่ยอมรับ
“ประเทศส่วนใหญ่ในโลกเริ่มหันหลังให้กับโทษประหาร” ซาลิล เช็ตตี (Salil Shetty) เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
“เรามีความประสงค์จะแจ้งอย่างชัดเจนต่อผู้นำประเทศกลุ่มน้อยที่ยังประหารชีวิตว่า พวกคุณล้าหลังกว่าประเทศอื่นๆ ในโลกในเรื่องนี้มาก ถึงเวลาแล้วที่จะต้องดำเนินการเพื่อยุติการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี
ในตะวันออกกลาง มีข้อมูลการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นสูงมาก โดยเพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาถึงเกือบ 50%
โดยเฉพาะในสี่ประเทศได้แก่ อิรัก (ประหารชีวิตอย่างน้อย 68 ครั้ง) อิหร่าน (อย่างน้อย 360 ครั้ง) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 82 ครั้ง) และเยเมน (อย่างน้อย 41 ครั้ง) ซึ่งคิดเป็นจำนวนข้อมูลการประหารชีวิต 99% ของจำนวนทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เฉพาะการเพิ่มขึ้นของการประหารชีวิตที่อิหร่านและซาอุดิอาระเบีย ทำให้ยอดการประหารชีวิตทั่วโลกเพิ่มขึ้น 149 ครั้ง เมื่อเทียบกับปี 2553
ที่จีนในปี 2554 มีผู้ถูกประหารหลายพันคน มากกว่าการประหารชีวิตของทั้งโลกรวมกัน ทางการจีนยังถือว่าตัวเลขการลงโทษประหารชีวิตเป็นข้อมูลลับของราชการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้ยุติการเก็บข้อมูลตัวเลขจากแหล่งข่าวสาธารณะของจีน เพราะมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าตัวเลขที่แท้จริงมาก
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังท้าทายอีกครั้งให้ทางการจีนตีพิมพ์ข้อมูลการประหารชีวิตและการลงโทษประหาร ทั้งนี้เพื่อยืนยันตามคำกล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายและการปฏิบัติหลายส่วน ทำให้การตัดสินลงโทษประหารในประเทศลดลงอย่างมากในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา
สหรัฐอเมริกายังคงเป็นประเทศเดียวในทวีปในอเมริกา และเป็นประเทศเดียวในกลุ่มสมาชิกประเทศอุตสาหกรรม G8 ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังคงประหารชีวิตนักโทษอยู่ โดยมีการประหารชีวิต 43 ครั้งในปี 2554 ไม่มีการลงโทษประหารในยุโรปและประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเลย เว้นแต่เบลารุสที่มีการประหารชีวิตสองคน ภูมิภาคแปซิฟิกก็ไม่มีการลงโทษประหารเลย เว้นแต่การลงโทษประหารชีวิตห้าคนในปาปัวนิวกินี
ที่เบลารุสและเวียดนาม นักโทษจะไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการประหารชีวิต รวมทั้งครอบครัวหรือทนายความด้วย ทราบกันว่ามีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลต่อสาธารณะที่เกาหลีเหนือ ซาอุดิอาระเบีย โซมาเลีย และอิหร่าน
ในประเทศส่วนใหญ่ที่มีการลงโทษประหารหรือมีการประหารชีวิต การไต่สวนคดีไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานการไต่สวนคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ ในบางกรณี มีการใช้หลักฐานที่ได้มาจาก ‘คำรับสารภาพ’ อันเป็นผลมาจากการทรมาน หรือการกดดันอย่างอื่น ทั้งในประเทศจีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ และซาอุดิอาระเบีย
มีการจงใจเลือกใช้โทษประหารโดยเฉพาะกับพลเมืองต่างชาติ ในประเทศซาอุดิอาระเบีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย
แม้ในประเทศที่ยังคงมีการประหารชีวิต แต่ก็มีความก้าวหน้าในระดับที่สำคัญมากมายในปี 2554
ในจีน รัฐบาลได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดของ ‘นักธุรกิจ’ 13 ประเภท และมีการเสนอมาตรการต่อสภาประชาชนแห่งชาติเพื่อลดจำนวนการทรมานในระหว่างการควบคุมตัว ส่งเสริมบทบาทของทนายฝ่ายจำเลย และดูแลให้ผู้ต้องสงสัยในคดีที่มีโทษถึงประหารให้มีตัวแทนด้านกฎหมาย
ในสหรัฐฯ จำนวนการประหารชีวิตและการลงโทษประหารใหม่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับทศวรรษก่อน รัฐอิลลินอยส์เป็นรัฐที่ 16 ที่ยกเลิกโทษประหาร ส่วนที่รัฐโอเรกอน มีการประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราว และผู้เสียหายจากอาชญากรรมรุนแรงก็ยังออกมาพูดต่อต้านโทษประหาร
“แม้ในบรรดาประเทศกลุ่มเล็กๆ ซึ่งยังคงประหารชีวิตในปี 2554 เราก็ยังเห็นความก้าวหน้าที่เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง ถึงจะเป็นก้าวย่างเล็กๆ แต่มาตรการสะสมเช่นนี้กำลังส่งผลนำไปสู่การยุติโทษประหารในที่สุด” ซาลิล เช็ตตีกล่าว
“มันไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดได้ในชั่วข้ามคืน แต่เราเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะได้เห็นวันที่โทษประหารกลายเป็นซากอดีตของประวัติศาสตร์”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะมีสภาพการกระทำความผิดอย่างไร โดยไม่คำนึงถึงบุคลิกลักษณะของผู้กระทำผิด หรือวิธีการที่รัฐใช้เพื่อประหารชีวิตบุคคล โทษประหารละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต และเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด
สรุปตามรายภูมิภาค
- ทวีปอเมริกา
สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศเดียวที่มีการประหารชีวิตในทวีปนี้ โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตจำนวน 43 ครั้งใน 13 จาก 34 รัฐที่ยังมีโทษประหารอยู่ ซึ่งลดลงประมาณหนึ่งในสามนับแต่ปี 2544 และมีข้อมูลการตัดสินลงโทษประหาร 78 คดีในปี 2554 ลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับปี 2544
- แคริบเบียน
เป็นภูมิภาคที่ไม่มีการประหารชีวิตเลย และจำนวนประเทศที่มีการลงโทษประหารดูเหมือนจะลดลง มีเพียงสามประเทศที่ยังสั่งลงโทษประหาร 6 คดีได้แก่ที่ กายอานา เซนต์ลูเซีย และตรินิแดดและโตเบโก
- เอเชีย-แปซิฟิก
มีสัญญาณในเชิงบวกที่ท้าทายความชอบธรรมของการลงโทษประหารอย่างชัดเจนตลอดทั่วทั้งภูมิภาคในปี 2554 โดยไม่นับรวมการประหารชีวิตหลายพันครั้งซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน มีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 51 ครั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ทราบกันว่ามีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตอีกอย่างน้อย 833 คดีใน 18 ประเทศในภูมิภาคนี้ ในอนุภูมิภาคแปซิฟิกล้วนเป็นประเทศที่ปลอดจากการลงโทษประหาร ยกเว้นการลงโทษประหารใน 5 คดีของปาปัวนิวกินี ไม่มีข้อมูลการประหารชีวิตในสิงคโปร์ และญี่ปุ่นซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี ทางการในประเทศทั้งสองได้เคยแสดงความสนับสนุนอย่างเข้มแข็งต่อการลงโทษประหาร
- แอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะลทรายซาฮารา
มีความก้าวหน้าอย่างมากในปี 2554 เบนินออกกฎหมายให้สัตยาบันสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติที่มีเป้าหมายเพื่อยกเลิกโทษประหาร ในขณะที่เซียร่าลีโอนได้ประกาศ และไนจีเรียได้ยืนยันคำประกาศยุติการประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ และคณะกรรมาธิการชำระร่างรัฐธรรมนูญที่กานามีข้อเสนอแนะให้ยกเลิกโทษประหาร มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างน้อย 22 ครั้งในสามประเทศในแอฟริกาส่วนที่ต่ำกว่าทะลทรายซาฮารา ได้แก่ โซมาเลีย ซูดาน และซูดานใต้ โดยมีเพียง 14 จาก 49 ประเทศในภูมิภาคนี้ซึ่งจัดว่ายังเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารอยู่ต่อไป
- ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ยืนยันได้ว่ามีการประหารชีวิตอย่างน้อย 558 ครั้งในแปดประเทศ และยืนยันได้ว่ามีการลงโทษประหารอย่างน้อย 750 ครั้งในปี 2554 ใน 15 ประเทศ ความรุนแรงที่ยืดเยื้อในปี 2554 ของประเทศต่างๆ อย่างเช่น ลิเบีย ซีเรีย และเยเมน ทำให้การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทษประหารในภูมิภาคนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการตัดสินลงโทษประหารโดยศาลในลิเบียเลย และไม่มีข้อมูลว่ามีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลในปีที่ผ่านมาหรือไม่ แต่ในทางกลับกันมักมีการสังหารนอกระบวนการกฎหมาย การทรมาน และการควบคุมตัวโดยพลการ
ที่อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย และเยเมน การประหารชีวิตในสี่ประเทศนี้คิดเป็น 99% ของข้อมูลการประหารชีวิตทั้งหมดในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ทางการในแอลจีเรีย จอร์แดน คูเวต เลบานอน โมร็อกโก/ซาฮาราตะวันตก และการ์ตา ได้สั่งลงโทษประหาร แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประหารชีวิตบุคคลใด
- ยุโรปและเอเชียกลาง
เบลารุสเป็นประเทศเดียวในยุโรปและอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศเดียวในองค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE) นอกเหนือจากสหรัฐฯ ที่มีการประหารชีวิตในปี 2554 โดยเป็นการประหารชายสองคน