หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ
วันที่ 13 มีนาคม 2555 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้
1. ให้ใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่ โดยให้ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐถือปฏิบัติเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันถัดจากวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ
2. ในวันที่หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่ มีผลบังคับใช้ตามข้อ 1. ให้ดำเนินการดังนี้
2.1 ยกเลิกหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 รวมทั้งหลักเกณฑ์ รายละเอียดประกอบ แนวทางและวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตามประกาศและหนังสือเวียนอื่นใดแล้วใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้แทน
2.2 โครงการ/งานก่อสร้างใดที่ได้คำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 และอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างก็ให้ดำเนินการต่อไป
2.3 โครงการ/งานก่อสร้างใดที่ได้คำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ไว้เกิน 30 วัน และยังไม่เริ่มดำเนินการจัดจ้างก่อสร้างให้คำนวณราคากลางใหม่โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้
2.4 โครงการ/งานก่อสร้างใดที่ได้คำนวณราคากลางตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ไว้ไม่เกิน 30 วัน และยังไม่เริ่มดำเนินการจัดจ้างก่อสร้าง ให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐเจ้าของโครงการ/งานก่อสร้างนั้น ที่จะพิจารณาให้คำนวณราคากลางใหม่โดยใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้
3. ให้สำนักงบประมาณ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้ ประกอบการพิจารณาจัดสรรหรือตั้งงบประมาณสำหรับโครงการ/งานก่อสร้างของทางราชการด้วย
ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณและสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีติดตามผลการดำเนินการแล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. กรมบัญชีกลาง โดยคณะกรรมการกำกับหลักเกณฑ์และตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้าง คณะอนุกรรมการกำกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง คณะทำงานจัดทำและปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างและหน่วยงานหลักด้านการก่อสร้าง (กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน) ได้ดำเนินการทบทวน ปรับปรุง พร้อมทั้งได้รวบรวม เรียบเรียง และจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการขึ้นใหม่ทั้งระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว
2. หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่ มีโครงสร้างของหลักเกณฑ์ฯ ในภาพรวม สรุปได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
2.1 ส่วนที่ 1 แนวทางและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วย ข้อกำหนด แนวทาง และวิธีปฏิบัติ เพื่อให้มีการนำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้ ไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพรวม 21 ข้อ เช่น ขอบเขตการบังคับใช้ของหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับราคาและแหล่งวัสดุก่อสร้าง ข้อกำหนดในการประกาศเปิดเผยราคากลาง การแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเพื่อคำนวณราคากลางงานก่อสร้างให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ ความหมายและขอบเขตงานก่อสร้าง อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลภารกิจด้านการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ เป็นต้น
2.2 ส่วนที่ 2 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ซึ่งมีจำนวน 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคาร หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม และหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน โดยในทั้ง 3 หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างนี้ จะประกอบด้วย หลักเกณฑ์การคำนวณรวม 4 ส่วน ดังนี้
2.2.1 หลักเกณฑ์การคำนวณค่างานต้นทุน (Direct Cost) เป็นส่วนของหลักเกณฑ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณค่างานต้นทุนหรือราคาทุนของงานก่อสร้าง โดยกำหนดให้ใช้วิธีการถอดแบบก่อสร้างประกอบด้วยหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่าง ๆ จำแนกได้เป็น 2 ส่วน ดังนี้
1. หลักเกณฑ์การถอดแบบก่อสร้างเป็นหลักเกณฑ์ แนวทางปฏิบัติและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางต้องนำไปใช้ในการถอดแบบก่อสร้าง เช่น บัญชีแสดงรายการก่อสร้างที่งานก่อสร้างแต่ละประเภทควรจะมี มาตรฐานการวัด หลักเกณฑ์การคำนวณปริมาณงานเกณฑ์การเผื่อปริมาณงาน หลักเกณฑ์หรือสูตรการคำนวณค่างานต่อหน่วย (Unit Cost) ในหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม และหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน สูตรการคำนวณค่าวัสดุมวลรวมต่อหน่วยในหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างอาคาร เป็นต้น
2. รายละเอียดประกอบการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างเป็นข้อมูลหรือรายละเอียดที่ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางจะต้องนำมาคำนวณกับปริมาณงาน วัสดุ และหรือแรงงาน ที่ได้จากการถอดแบบก่อสร้างสำหรับแต่ละรายการงานก่อสร้าง ได้แก่ ราคาวัสดุ อัตราค่าแรงงาน ค่าขนส่ง ค่างานและค่าดำเนินการต่าง ๆ เป็นต้น
2.2.2 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost) เป็นส่วนของหลักเกณฑ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่าย รวมเป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่ หมวดค่าอำนวยการ หมวดค่าดอกเบี้ย หมวดค่ากำไร และหมวดค่าภาษี (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้อผิดพลาดในการคำนวณและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ จึงได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างทุกรายการทั้ง 4 หมวดดังกล่าว และกำหนดไว้เป็น ค่า Factor F ในตาราง Factor F จำนวน 4 ตาราง ได้แก่ ตาราง Factor F งานก่อสร้างอาคาร ตาราง Factor F งานก่อสร้างทาง ตาราง Factor F งานก่อสร้างสะพานและท่าเหลี่ยม และตาราง Factor F งานก่อสร้างชลประทาน
2.2.3 ค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องมีเป็นส่วนของหลักเกณฑ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่นที่บางโครงการ/งานก่อสร้างจำเป็นต้องมี เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์เครื่องจักรกลพิเศษในการก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการกำหนดให้ใช้นั่งร้านพิเศษเพื่อความปลอดภัยต่อคนงานก่อสร้างตามกฎหมายแรงงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันฝุ่นตามข้อบังคับ เป็นต้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มิได้มีในทุกโครงการ/งานก่อสร้าง ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะกำหนดเป็นค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนไว้ในส่วนของค่างานต้นทุนและในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้างได้จึงจำเป็นต้องแยกมากำหนดเป็นหลักเกณฑ์เพื่อคำนวณต่างหาก
2.2.4 หลักเกณฑ์การสรุปค่าก่อสร้างเป็นราคากลางและการจัดทำรายงานเป็นส่วนของหลักเกณฑ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการนำค่างานต้นทุน ค่า Factor F และค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดฯ มาคำนวณรวมกันได้เป็นราคากลางงานก่อสร้างทั้งโครงการ/งานก่อสร้าง และรวมไปถึงการจัดทำรายงานและแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางต้องใช้ในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง
2.3 ในการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างในครั้งนี้ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และจัดทำหลักเกณฑ์ในส่วนต่าง ๆ ขึ้นเพิ่มเติม จากหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ในหลายประเด็น เฉพาะประเด็นที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.3.1 แนวทาง วิธีปฏิบัติ และข้อกำหนดทั่วไป
(1) ได้สรุปรวบรวมหลักเกณฑ์ ข้อมูล รายละเอียด แนวทาง และวิธีปฏิบัติทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการ ทั้งที่ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่และที่ได้ปรับปรุงและจัดทำขึ้นใหม่ มารวบรวมและเรียบเรียงใหม่ได้เป็นเอกสารหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง รวม 4 เล่ม ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้เป็นคู่มือในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
(2) ได้ปรับปรุงและกำหนดความหมายและขอบเขตของงานก่อสร้างแต่ละประเภทไว้ เพื่อประกอบการพิจารณาเลือกใช้หลักเกณฑ์การคำนวณให้ถูกต้องกับแต่ละกลุ่มงาน
(3) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทั้ง 3 หลักเกณฑ์ ไว้อย่างชัดเจนเป็นลำดับขั้นตอน ตั้งแต่การถอดแบบก่อสร้างจนถึงการจัดทำรายงานและนำเสนอหัวหน้าส่วนราชการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งง่ายต่อการศึกษา ทำความเข้าใจ และนำไปใช้ปฏิบัติ
(4) เพิ่มเติมหลักเกณฑ์และข้อกำหนด กรณีโครงการ/งานก่อสร้างซึ่งจัดจ้างก่อสร้างเป็นสัญญาเดียวสามารถใช้หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างได้มากกว่า 1 หลักเกณฑ์ ซึ่งจะมีผลทำให้การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการในบางโครงการ/งานก่อสร้าง เช่น โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะ ศูนย์ราชการ เป็นต้น มีความสอดคล้องกับการก่อสร้างที่เป็นจริงยิ่งขึ้น
(5) กำหนดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดในการคำนวณค่าครุภัณฑ์ในงานก่อสร้างอาคาร ซึ่งมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้มีความชัดเจนและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ง่ายยิ่งขึ้น
2.3.2 หลักเกณฑ์การคำนวณค่างานต้นทุน (Direct Cost)
(1) ได้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมรายการงานก่อสร้าง ในบัญชีแสดงรายการก่อสร้างที่งานก่อสร้างทั้ง 3 ประเภทควรจะมี (บัญชีแสดงรายการก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างอาคารบัญชีแสดงรายการก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม และบัญชีแสดงรายการก่อสร้างสำหรับงานก่อสร้างชลประทาน) เพื่อใช้ประกอบการถอดแบบก่อสร้างจากแบบก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของงานก่อสร้างอาคารให้มีความชัดเจน ครอบคลุม และสอดคล้องกับเทคโนโลยีและวิธีการก่อสร้างที่เป็นปัจจุบัน
(2) ในส่วนของหลักเกณฑ์การถอดแบบคำนวณปริมาณงาน ซึ่งประกอบด้วยมาตรฐานการวัด หลักเกณฑ์การคำนวณปริมาณงาน เกณฑ์การเผื่อปริมาณงาน และรายละเอียดข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถอดแบบคำนวณปริมาณงาน ได้มีการทบทวน ปรับปรุง เพิ่มเติม และจัดกลุ่มหลักเกณฑ์การคำนวณหาปริมาณงานรายการต่าง ๆ ใหม่ ที่สอดคล้องกับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมรายการงานก่อสร้างในบัญชีแสดงรายการก่อสร้างที่งานก่อสร้างทั้ง 3 ประเภทควรจะมี รวมทั้งได้สรุป รวบรวม และเรียบเรียงใหม่ให้มีความชัดเจน สามารถศึกษา ทำความเข้าใจและนำไปใช้ปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง
(3) หลักเกณฑ์การคำนวณค่างานต่อหน่วย (Unit Cost) ได้มีการทบทวน ปรับปรุง และจัดทำขึ้นใหม่ในหลายรายการ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมรายการงานก่อสร้างในบัญชีแสดงรายการก่อสร้างที่งานก่อสร้างทั้ง 3 ประเภทควรจะมี และเพื่อให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างคล่องตัวและสอดคล้องกับงานจ้างก่อสร้างของแต่ละหน่วยงาน
(4) ในส่วนของรายละเอียดหรือข้อมูลประกอบการคำนวณฯ เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับราคาและแหล่งวัสดุก่อสร้าง บัญชีค่าแรงงาน/ดำเนินการสำหรับการถอดแบบคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง ตารางและหลักเกณฑ์การคำนวณค่าขนส่ง ตารางค่าดำเนินการและค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร (ค่า Operating Cost งานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม) ตารางข้อมูลปริมาณวัสดุ งานสะพานและท่อเหลี่ยม และรายละเอียดประกอบการคำนวณในส่วนของหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างชลประทาน ซึ่งประกอบด้วย ตารางอัตราราคางานดิน (ค่า Operating Cost งานก่อสร้างชลประทาน) ตารางอัตราราคางานปรับปรุงฐานรากและงานระเบิดหิน ตารางข้อมูลเกี่ยวกับส่วนยุบตัวและส่วนขยายตัวเมื่อบดทับของชนิดวัสดุ ตารางคำนวณอัตราราคางานคอนกรีตและหิน ตารางอัตราค่าใช้จ่ายต่อหน่วยในการปลูกหญ้า ตารางคำนวณอัตราราคางานบาน ฝาท่อ และเครื่องยก และตารางอัตราค่าดินถมบดอัดแน่นด้วยเครื่องจักรเบา เป็นต้น ได้ทบทวน ปรับปรุง และเพิ่มเติมข้อกำหนดและวิธีการนำไปใช้ให้ มีความชัดเจน สอดคล้องตามสภาวการณ์ที่เป็นปัจจุบัน และง่ายต่อการตรวจสอบยิ่งขึ้น
2.3.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานก่อสร้าง (Indirect Cost) ได้จัดทำตาราง Factor F งานก่อสร้างชลประทานขึ้นเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้ตาราง Factor F ของ ทั้ง 4 ตาราง (ตาราง Factor F งานก่อสร้างอาคาร ตาราง Factor F งานก่อสร้างทาง ตาราง Factor F งานก่อสร้างสะพานและท่อเหลี่ยม และตาราง Factor F งานก่อสร้างชลประทาน) ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างในส่วนอื่น ๆ
2.3.4 หลักเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อกำหนดและค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของงานก่อสร้างอาคาร ได้มีการทบทวนและปรับปรุงใหม่ให้มีความชัดเจนและคล่องตัวต่อการนำไปใช้ปฏิบัติและการตรวจสอบยิ่งขึ้น โดยได้แยกไว้เป็นหลักเกณฑ์ส่วนหนึ่งต่างหาก รวมทั้งได้กำหนดแบบฟอร์มเพื่อให้ผู้มีหน้าที่คำนวณราคากลางได้นำไปใช้ประกอบการคำนวณและชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นสำหรับค่าใช้จ่ายพิเศษตามข้อ กำหนดฯ แต่ละรายการไว้ด้วย
2.3.5 หลักเกณฑ์การสรุปค่าก่อสร้างเป็นราคากลางและการจัดทำรายงาน ได้กำหนดและเรียบเรียงใหม่เป็นขั้นตอนที่สามารถทำความเข้าใจและถือปฏิบัติได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยในส่วนของหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างทาง สะพาน และท่อเหลี่ยม ได้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การรวมค่างานต้นทุน เพื่อหาค่า Factor F จากเดิมที่มีข้อกำหนดให้รวมค่างานต้นทุนโดยแยกเป็นส่วนของงานก่อสร้างทาง และส่วนของงานสะพานและท่อเหลี่ยม แล้วนำค่างานต้นทุนรวมแต่ละส่วนไปเทียบหาค่า Factor F จากตาราง Factor F งานก่อสร้างทาง และตาราง Factor F งานก่อสร้างสะพานและท่อเหลี่ยม เป็น ให้รวมค่างานต้นทุนของทุกรายการทั้งโครงการ/งานก่อสร้าง แล้วนำค่างานต้นทุนรวมทั้งโครงการ/งานก่อสร้างนั้น ไปเทียบหาค่า Factor F จากตาราง Factor F งานก่อสร้างทาง และตาราง Factor F งานก่อสร้างสะพานและท่อเหลี่ยมสำหรับในส่วนของแบบฟอร์มสำหรับการคำนวณราคากลางงานก่อสร้างของแต่ละหลักเกณฑ์ฯ ได้กำหนดและปรับปรุงเพิ่มเติมใหม่ให้มีความชัดเจนและง่ายต่อการนำไปใช้ปฏิบัติและตรวจสอบยิ่งขึ้น
3. การทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างในครั้งนี้ ได้ดำเนินการทบทวนและปรับปรุงในรายละเอียดทั้งระบบ รวมทั้งได้เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในหลายส่วนให้สอดคล้องตามสภาวการณ์ทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างที่เป็นปัจจุบัน หลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้ จึงมีความสมบูรณ์ ครบถ้วนมีความเป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการ สอดคล้องตามสภาวการณ์และเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป และง่ายต่อการศึกษา ทำความเข้าใจ และนำไปใช้ในทางปฏิบัติและตรวจสอบ หน่วยงานภาครัฐรวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องจึงสามารถนำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างที่ทบทวนและปรับปรุงใหม่นี้ไปใช้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และได้ราคากลางที่ใกล้เคียงกับค่าก่อสร้างที่เป็นจริงยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าจ้างก่อสร้างในงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐไม่สูงเกินกว่าความเป็นจริงและสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลดการรั่วไหลและประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินได้ทางหนึ่ง
4. ได้มีข้อกำหนดให้มีการประกาศและเปิดเผยราคากลาง รวมทั้งรายละเอียดของการคำนวณราคากลางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปได้ทราบ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้กระบวนการจัดจ้างก่อสร้างในงานก่อสร้างของทางราชการ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ รายละเอียดของการคำนวณราคากลางตามแบบฟอร์มรายงาน ที่ปรับปรุงใหม่จะสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาราคา การกำหนดค่างวดงาน การขอตั้งและการพิจารณาจัดสรรและบริหารจัดการด้านการงบประมาณ รวมทั้งการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานก่อสร้างของคณะกรรมการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย