ครม.เห็นชอบและอนุมัติแนวทางการดำเนินงานตามพรก.กู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำฯ
เรื่อง แนวทางการดำเนินงานตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555
คณะรัฐมนตรีวันที่ 6 มีนาคม 2555 เห็นชอบและอนุมัติ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 โดยให้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารจัดการกรอบเงินลงทุน
2. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. .... และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
3. อนุมัติให้ใช้เงินกู้ SAL วงเงิน 39 ล้านบาท ที่คงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากเงินกู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระทรวงการคลัง เพื่อสนับสนุนการจัดเตรียมระบบฐานข้อมูลและระบบงานเพื่อรองรับการบริหารโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้อนุมัติรายละเอียดและวงเงินโครงการและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ
4. อนุมัติให้ใช้เงินกู้ SAL วงเงิน 35 ล้านบาท ที่คงเหลือจากการดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐที่ยังไม่มีแผนงานรองรับของสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อสนับสนุนระบบการติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (Project Financial Monitoring System- Flood Recovery Project : PFMS-FRP) ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สาระสำคัญของเรื่อง
1. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารจัดการกรอบเงินลงทุนตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย
โดยที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ บริหารจัดการกรอบเงินลงทุนในการกลั่นกรองรายละเอียดโครงการและจัดทำระเบียบการใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ฯ อย่างไรก็ดี มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 ได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555 โดยได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้ง เสนอแนะคณะรัฐมนตรีในการปรับปรุงกฎหมาย การจ่ายเงินชดเชย การวางระเบียบที่เกี่ยวข้อง และการตั้งงบประมาณ การบริหาร การใช้จ่ายงบประมาณหรือเงินกู้ให้สอดคล้องกับการบริหารจัดการน้ำ และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยตามนโยบายของ กนอช. อนุมัติแผนงานหรือโครงการของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานหน่วยงานของรัฐ
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากคณะกรรมการบริหารจัดการกรอบเงินลงทุนมีอำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกับการดำเนินงานของ กนอช. และ กบอ. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาแผนงานหรือโครงการด้านบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานภาครัฐ การตั้งวงเงินงบประมาณหรือเงินกู้ ดังนั้น จึงเห็นควรขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 ดังกล่าว โดยยกเลิกคณะกรรมการบริหารจัดการกรอบเงินลงทุน อย่างไรก็ดี ยังเห็นควรยกร่างระเบียบการใช้เงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก.ฯ เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารโครงการ การจัดหาพัสดุ การจัดหาเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ และการบริหารเงินกู้ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการตาม พ.ร.ก.ฯ
1.1 ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. ....
เพื่อให้จัดสรรวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสร้างอนาคตประเทศ จึงเห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. .... โดยร่างระเบียบดังกล่าวจะเริ่มต้นตั้งแต่การบริหารโครงการ การจัดหาพัสดุ การจัดหาเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ และการบริหารเงินกู้ รวมทั้งการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตาม พ.ร.ก.ฯ ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1.1 ขั้นตอนการดำเนินโครงการ
1) การเสนอ การพิจารณากลั่นกรอง และการอนุมัติโครงการ ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) โครงการตามแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ การป้องกันและแก้ไข
ปัญหาอุทกภัยแห่งชาติให้เป็นอำนาจของ กบอ. ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2555
(2) โครงการตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและการสร้างอนาคตประเทศ ให้เป็นอำนาจของ กยอ. ทั้งนี้ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2554
2) เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการได้รับการอนุมัติโครงการแล้ว ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) โครงการใดที่หน่วยงานเจ้าของโครงการรับภาระการลงทุนเอง ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินโครงการและจัดหาแหล่งเงินลงทุนตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายและระเบียบให้อำนาจไว้ และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินลงทุนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโครงการตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด
(2) โครงการใดที่หน่วยงานเจ้าของโครงการไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย หรือได้รับจัดสรรเพียงบางส่วน ให้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหาร
หนี้สาธารณะพิจารณาจัดหาเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการส่งข้อมูลแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรวงเงินกู้ และในการใช้จ่ายเงินกู้โครงการดังกล่าว ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
(3) โครงการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการประสงค์จะให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนหรือคณะรัฐมนตรีมีมติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินลงทุนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโครงการตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด (ข้อ 12)
ในกรณีที่มีการกู้เงินจากต่างประเทศและเป็นการกู้เงินเพื่อใช้ในโครงการใดโครงการหนึ่งโดยเฉพาะ และแหล่งเงินกู้กำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์และระเบียบในการดำเนินงานและการจัดซื้อจัดจ้างของแหล่งเงินกู้นั้น ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และระเบียบของแหล่งเงินกู้นั้นได้
3) สำหรับการจัดหาพัสดุในการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือระเบียบ หรือข้อบังคับของหน่วยงานเจ้าของโครงการ ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการแล้วให้หน่วยงานดำเนินกระบวนการจัดหาพัสดุได้ทันที แต่จะลงนามในสัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการจัดสรรวงเงินกู้แล้ว (ข้อ 13)
4) กรณีการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอดังกล่าวพร้อมเหตุผลความจำเป็นต่อสำนักงบประมาณเพื่อนำเสนอต่อ กบอ. หรือ กยอ. เพื่อพิจารณาอนุมัติ แล้วแต่กรณี ในกรณีการขอโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญของโครงการและไม่กระทบต่อกรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติ ให้สำนักงบประมาณพิจารณาอนุมัติ และรายงานต่อ กบอ. หรือ กยอ. เพื่อทราบ แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ รวมทั้ง รายละเอียดซึ่งเป็นสาระสำคัญของโครงการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงบประมาณกำหนด (ข้อ 14)
1.1.2 ขั้นตอนการจัดหาเงินกู้ การเบิกจ่ายเงินกู้ และการบริหารจัดการเงินกู้
1) กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะดำเนินการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 และนำเงินกู้ฝากไว้ในบัญชีเงินนอกงบประมาณที่กรมบัญชีกลาง โดยใช้ชื่อบัญชีว่า "บัญชีเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ" (ข้อ 16)
2) หน่วยงานเจ้าของโครงการปฏิบัติตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินของทางราชการและหลักเกณฑ์หรือวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนดในการเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการตามข้อ 12 (2) เว้นแต่กรณีการใช้เงินกู้จากต่างประเทศ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะอาจกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้โดยตรงก็ได้โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการของแหล่งเงินกู้นั้น (ข้อ 17-18)
3) สำหรับการบริหารจัดการเงินกู้ให้มีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังอาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะดำเนินการได้ (ข้อ 19)
1.1.3 การติดตามประเมินผลและการรายงานผลการดำเนินงาน
สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโครงการเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ การเบิกจ่ายเงิน และการประเมินผลโครงการ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการและการเบิกจ่ายเงินตามหลักเกณฑ์และระยะเวลาที่กระทรวงการคลังกำหนด ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ทำหน้าที่ประสานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการ รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน การเบิกจ่ายเงิน และเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานต่อ กบอ. หรือ กยอ. แล้วแต่กรณี โดยมี สบอช. และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ติดตามและประเมินผลโครงการเสนอต่อ กบอ. หรือ กยอ. แล้วแต่กรณี (ข้อ 20)
1.1.4 การใช้เงินเหลือจ่าย
1) หาก กบอ. หรือ กยอ. แล้วแต่กรณี เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเหลือจ่ายดังกล่าวและหน่วยงานเจ้าของโครงการใดประสงค์จะเสนอโครงการเพิ่มเติม ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการนำหมวดการดำเนินโครงการ มาใช้บังคับโดยอนุโลม (ข้อ 21)
2) กรณีหน่วยงานเจ้าของโครงการได้รับการจัดสรรเงินกู้และทำสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) และประสงค์จะขอใช้วงเงินเหลือจ่ายเพื่อชดเชยค่างานก่อสร้างตามสัญญาแบบปรับราคาได้ (ค่า K) ให้เสนอขออนุมัติการใช้วงเงินดังกล่าวจากสำนักงบประมาณ (ข้อ 22)
ในกรณีที่มีวงเงินเหลือจ่ายจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่งหรือเหลือจ่ายจากการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจาก กบอ. หรือ กยน. แล้วแต่กรณี ไม่ว่าในกรณีใด หาก กบอ. หรือ กยอ. แล้วแต่กรณี ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้วงเงินเหลือจ่ายดังกล่าว ให้นำหมวดการดำเนินโครงการมาใช้บังคับโดยอนุโลม
3) เมื่อโครงการตามข้อ 12 (2) ได้ดำเนินโครงการและเบิกจ่ายเงินเสร็จสิ้นครบทุกโครงการแล้ว ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะปิดบัญชีเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และนำเงินที่เหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
1.1.5 บทเฉพาะกาล
การดำเนินการใดที่เกี่ยวกับโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศที่ได้ดำเนินการก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือเป็นการดำเนินการตามที่ได้กำหนดไว้ในระเบียบนี้ และการดำเนินการต่อไปสำหรับโครงการนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบนี้
2. การจัดเตรียมระบบฐานข้อมูลและระบบงานเพื่อรองรับการบริหารโครงการเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศ
กระทรวงการคลังรายงานว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสร้างอนาคตของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังจึงได้ดำเนินการจัดเตรียมโครงการเพื่อรองรับและสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้
2.1 โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลโครงการ (MIS and Database System)
เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยให้การจัดเตรียมโครงการ การบริหารโครงการ และการติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประกอบด้วยระบบที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ระบบ ดังนี้
2.1.1 ระบบฐานข้อมูลโครงการและระบบ e-budget ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงบประมาณ เพื่อรองรับการบันทึกข้อมูลของหน่วยงานเจ้าของโครงการในการรายงานข้อมูลและรายละเอียดโครงการย่อยในระดับพื้นที่และวงเงินลงทุนผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ และรองรับการเชื่อมต่อและบริหารจัดการข้อมูลโครงการระหว่างสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะและสำนักงบประมาณสำหรับการ Mapping ฐานข้อมูลโครงการและรหัสงบประมาณ เพื่อใช้สนับสนุนการวิเคราะห์และอนุมัติการจัดสรรวงเงินโครงการของสำนักงบประมาณ
2.1.2 ระบบบัญชีและบริหารเงินสด ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อพัฒนาระบบ
บัญชีและระบบบริหารเงินสดสำหรับรองรับการบริหารเงินกู้ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยจะเป็นการออกรายงานทางบัญชี การประมาณการกระแสเงินสดของโครงการ และการจัดเตรียมเงินกู้ในบัญชีของกระทรวงการคลังเพื่อรองรับธุรกรรมการเบิกจ่ายเงิน
2.2 โครงการว่าจ้างที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำเพื่อช่วยในการวิเคราะห์การบริหาร และการ
ติดตามประเมินผลโครงการ (Technical Advisory)
เพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์รายละเอียดของโครงการและแผนงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การตรวจสอบความเหมาะสมในทางวิศวกรรม และความเหมาะสมทางด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมทั้ง การบริหารโครงการในส่วนของการประสานงานกับหน่วยงานเจ้าของโครงการเพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการและการติดตามประเมินผลโครงการ โดยจะประเมินความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์โครงการ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบและความยั่งยืนของโครงการ ตลอดจนติดตามปัญหา อุปสรรค และความโปร่งใสในการดำเนินงานระดับพื้นที่ด้วย
สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาสนับสนุนการดำเนินงาน กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นควรใช้เงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan: SAL) ที่คงเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากเงินกู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระทรวงการคลังจำนวน 39 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในระยะแรกก่อน โดยการขออนุมัติใช้เงินกู้ SAL ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาอนุมัติภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบงานเพื่อรองรับการบริหารโครงการและการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตของประเทศมีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การใช้เงินกู้ SAL ดังกล่าว
2.3 ระบบการติดตามและรายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฟื้นฟู เยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (Project Financial Monitoring System- Flood Recovery Project : PFMS-FRP) ของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง วงเงิน 35 ล้านบาท
เพื่อจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศในการกำกับ ดูแล เร่งรัด ติดตามความก้าวหน้า และประเมินผลโครงการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภายใต้ พ.ร.ก.ฯ และระบบติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ วงเงิน 120,000 ล้านบาท โดยเป็นการปรับปรุงและเชื่อมโยงระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ของกรมบัญชีกลาง กับระบบ e-budget ของสำนักงบประมาณ โดยมีรูปแบบเป็นทั้งระบบการบริหารจัดการโครงการ (Project Management) ระบบ Business Intelligence และระบบ Web Application โดยระบบจะออกรายงานแสดงผลความก้าวหน้าของโครงการและการเบิกจ่ายเงิน รวมทั้ง สามารถแสดงผลข้อมูลในลักษณะพิกัดทางภูมิศาสตร์ (GPS) เพื่อยืนยันความซ้ำซ้อนของโครงการ และเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการและติดตามโครงการของรัฐบาลและสาธารณะได้
สำหรับแหล่งเงินที่สามารถนำมาสนับสนุนโครงการระบบข้อมูลสารสนเทศสำหรับการกำกับติดตามโครงการเห็นควรใช้เงินกู้ SAL ที่กระทรวงการคลังได้จัดสรรให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำหรับดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ เนื่องจากกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดสรรและดูแลบัญชีเงินกู้ SAL ให้กับหน่วยงานต่างๆ พิจารณาแล้วเห็นว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ยังมีวงเงินส่วนที่เหลือจากการดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐที่ยังไม่มีแผนงานรองรับคงเหลืออยู่วงเงิน 229.218 ล้านบาท
อนึ่ง ในการนำวงเงินกู้ SAL มาใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกเหนือจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้ในแผนงานเดิมเช่นในกรณีดังกล่าวนี้ จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการใช้เงินกู้ SAL